svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เครือเนชั่น เตรียมฟ้อง 3 กรรมการ กสท.

23 มีนาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แถลงการณ์ เนชั่น กรุ๊ปเครือเนชั่น เตรียมฟ้องศาลปกครอง 3 กรรมการ กสท. เหตุไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฏหมายและหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อทีวี กลับไปสู่การครอบงำกิจการ และผูกขาด เช่นเดิม ขัดต่อเจตนารมณ์การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

ด้วยการลงมติให้บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ 1998 จำกัด(มหาชน)หรือ SLC สามารถซื้อหุ้นบริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ NMG ได้มากกว่า 10%และไม่ต้องยึดหลักเกณฑ์ประมูลใช้ต่อเนื่อง ส่งผลทำให้บริษัทจะมีความเสี่ยงสูงสุดทางธุรกิจจะถูกครอบครองกิจการและจะทำให้เกิดการครอบงำกิจการสื่อทีวีดิจิทัลทั้งระบบได้สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.)เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 พิจารณากรณีบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ 1998 จำกัด(มหาชน)หรือ SLC ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ NMG จำนวน 12.27 %และยังมีผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับ SLC เข้าถือหุ้นใน NMG รวมกันอีกประมาณ 25% โดยกรรมการแต่ละท่านมีความเห็นดังนี้
1. พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท.และพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่ามีความเห็นว่าไม่ต้องบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลต่อเนื่องภายหลังการประมูล
2. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์ และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์มีความเห็นว่าจำเป็นต้องบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลต่อเนื่องภายหลังการประมูลและมีความเห็นว่า SLC ถือหุ้นเกินกว่า 10% ใน NMG เป็นการขัดต่อประกาศหลักเกณฑ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 10% ถือครองใบอนุญาตกิจการทีวีดิจิทัลในประเภทเดียวกัน เพราะ NMG ถือหุ้นมากกว่า 70% ในบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด( NNV ) ที่ถือใบอนุญาตช่องข่าวทีวีดิจิทัล Nation TVเพราะ SLC ถือหุ้น 100%ในบริษัท สปริงนิวส์ จำกัด(มหาชน)ที่ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่องข่าวสปริงนิวส์ โดยให้ออกคำสั่งทางปกครองให้ SLC ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภายใน 90 วัน
3. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ มีความเห็นว่า SLC สามารถถือหุ้นเกินกว่า 10% ใน NMG ได้เพราะ NMG ที่ถือหุ้น 70% ในบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ที่ถือหุ้น 100%ในบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัดที่ถือใบอนุญาตช่องข่าวทีวีดิจิทัล Nation TV และ SLC ไม่ได้ถือหุ้นโดยตรงในบริษัท NNV ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด(มหาชน)ตัดสินใจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเร็วๆนี้ เฉพาะกรรมการกสท. 3 ท่านคือพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ในฐานะประธานกสท.,พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่าและพลโทดร.พีระพงษ์ มานะกิจที่มีความเห็นดังกล่าวในการประชุมกสท.เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในมาตรา 31 และมาตรา 32 และหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกการใช้คลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัลในส่วนของคุณสมบัติ"ผู้ถือหุ้นใหญ่"และ"ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน"ของผู้เข้าประมูลและภายหลังการประมูล ทั้งทางตรงและทางอ้อม
บริษัทฯได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะทำงานของกสท.เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 อย่างละเอียดถึงการเข้ามาถือหุ้นของ SLC และพวกหรือเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันใน NMG ที่มีสัดส่วนหุ้นรวมกันมากกว่า 35 % อันประกอบด้วย SLC 12.27% ,บริษัท วธน แคมปิตัล จำกัด(มหาชน)หรือ WAT ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด(มหาชน) 7.54 % และผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นรายบุคคลอีกหลายคนรวมกัน 16.31% รวมกันทั้งสิ้นอย่างน้อย 36%ใน NMG ที่ถือได้ว่ามีเป็น"ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน"ที่ถือได้ว่าจะมีอำนาจควบคุมกิจการของ NMG ในอนาคตได้
อันจะส่งผลเสียหายทางธุรกิจอย่างร้ายแรงต่อเครือเนชั่นที่มีบริษัทลูกคือ NBC และบริษัทหลานคือ NNV ที่ถือใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล Nation TV เมื่อกลุ่ม SLC และพวกได้มีอำนาจควบคุมกิจการหรือใช้สิทธิ์เข้ามาเป็น"กรรมการ"ในบริษัท NMG จะถือเป็นการสูญเสียความลับทางธุรกิจในกิจการช่องข่าวทีวีดิจิทัลให้กับคู่แข่งขันโดยตรงคือช่องข่าว Springnews ที่กลุ่ม SLC และพวกมีอำนาจควบคุม 100% ในขณะที่ NMG ไม่ได้ถือหุ้นใน SLC แต่อย่างใด
บริษัทมีความเห็นว่าเมื่อกรรมการกสท.3 ท่านดังกล่าวไม่ได้ยึดมั่นในการใช้ความรู้ความสามารถในการกำกับและดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลตามกฏหมายอย่างเที่ยงธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในส่วนที่ 4 การป้องกันการผูกขาด มาตรา 31 และมาตรา 32
มาตรา 31 เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายหรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกัน หรือครองสิทธข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 32 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ให้การประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตอยู่ในบังคับของกฏหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าหรือมาตรการเฉพาะที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามลักษณะการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
การกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายความรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันหรือการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียงหรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้หลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกการใช้คลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัลปี 2556 ได้ให้นิยาม"ผู้ถือหุ้นใหญ่"ที่เกินกว่า 10% และ"การเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน"ของผู้เข้าประมูลทีวีดิจิทัลในช่วงปี2556 ที่มีการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปเจตนารมณ์การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมที่ได้มีการบัญญัติในกฏหมาย 2 ฉบับคือพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แลเะพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553
รวมทั้งมติของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฏหมายกสทช.ได้ให้ความเห็นเสียงข้างมากว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกด้วยการประมูลคลื่นความถี่สำหรับทีวีดิจิทัล 24 ช่องให้บังคับใช้ต่อเนื่อง ภายหลังการประมูลสิ้นสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2556 เพื่อให้สภาพการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมของช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องยังดำรงอยู่ตลอดอายุใบอนุญาตที่มีอายุ 15 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมีช่องทางหลากหลายในการเลือกรับชมช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องเช่นเดิม

logoline