svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สรรพากรค้านนิรโทษ ภาษีเอสเอ็มอี

20 กุมภาพันธ์ 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมสรรพากรค้านนิรโทษกรรมภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เหตุไม่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าระบบและมีรายได้เพิ่ม แต่รัฐต้องสูญเสียรายได้ปีละกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

อธิบดีกรมสรรพากร ประสงค์ พูนธเนศ กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้กรมฯ ปรับลดอัตราภาษีและนิรโทษกรรมภาษีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า กรมฯได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือกรอ.ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่ช่วยให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบอย่างถูกต้อง แต่ยังทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ปีละ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมากรมฯเคยนิรโทษกรรมภาษีให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็ม 5 ครั้ง ระหว่างปี 2520-2534 ด้วยเหตุผลหลัก คือ ผู้ประกอบธุรกิจประสบปัญหาด้านการเงิน ขณะเดียวกัน ก็ต้องการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยการนิรโทษกรรมภาษีดังกล่าวทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ปีละ 1-4 พันล้านบาท แต่ไม่เห็นผลด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ และยังพบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมเลี่ยงภาษี 
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการอ้างว่า เหตุที่เลี่ยงภาษีเพราะอัตราภาษีอยู่ในเกณฑ์สูงนั้น ปัจจุบันอัตราภาษีที่จัดเก็บผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็สอี หากรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาทแรกจะเสียภาษีในอัตรา 0% ส่วนที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทจะเสียในอัตรา 15% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย
กรณีนิติบุคคลรายใหญ่เสียในอัตราต่ำที่ 20% โดยเหตุที่ปรับอัตราภาษีมาอยู่ในระดับนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง การอ้างเรื่องภาษีสูงจึงไม่ใช่เหตุผล หากกรมฯนิรโทษกรรมภาษีตามข้อเสนอของภาคเอกชนจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีรายอื่น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มนุษย์เงินเดือนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องทุกคน ขณะเดียวกัน การลดภาษีในอัตราต่ำเฉพาะผู้ประกอบการในไทยยังถือเป็นการขัดต่ออนุสัญญาภาษีซ้อนอีกด้วย
ส่วนการระบุว่า การปรับลดภาษีเพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นนั้น จากฐานข้อมูลกรมฯพบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 4 แสนราย จาก 6 แสนรายที่เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนที่ยังไม่เข้าระบบ จัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มที่เตรียมเป็นบริษัทร้าง 2.กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อออกใบกำกับภาษีปลอม 3.กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกเพียงครั้งเดียวและปิดทิ้งบริษัท และ 4.กลุ่มที่ตั้งใจจดทะเบียนไว้ แต่ไม่มีรายได้ และ บางส่วนมีรายได้แต่ไม่บันทึกและยื่นงบเปล่า 
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนระบุว่าเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้นั้น กระทรวงการคลังได้สนับสนุนแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ แม้แต่เอสเอ็มอีที่ไม่มีสินทรัพย์หรือหลักประกันก็สามารถเข้ามาขอกู้เงินได้โดยมีแบงก์รัฐช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ แต่การเข้ามาขอสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ 

logoline