svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

กระต่ายป่า บุกแคนเบอร์ร่า

28 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรุงแคนเบอร์ร่าของออสเตรเลียกำลังถูกฝูงกระต่ายป่าจำนวนมากบุกรุก จนมีการเตือนว่า หากไม่มีการจัดการแก้ไข ระบบนิเวศน์ของที่นี่ก็อาจจะเสียหายได้ ติดตามเรื่องนี้จากรายงานช่วงโลกเรา บ้านเรา

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ไม่เคยได้ว่างเว้นจากสัตว์ที่ก่อปัญหา และสัตว์ที่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขาก็ไม่ได้มีแต่งูพิษ แมงมุมพิษ ฉลามและจระเข้เท่านั้น ในกรุงแคนเบอร์ร่า เมืองหลวงของประเทศ ตอนนี้ก็กำลังเจอปัญหากับสัตว์ขนปุยรูปร่างหน้าตาน่ารักอย่างกระต่าย จากการที่ประชากรกระต่ายป่าในเมืองหลวงเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
ในช่วงฤดูร้อนของแต่ละปี ฝูงกระต่ายป่าจะมาหากินตามพุ่มไม้ สร้างความเสียหายต่อพันธุ์พืชในท้องถิ่นอย่างมาก แต่ตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ฝูงกระต่ายได้บุกเข้ามาในเมืองหลวงแล้ว เพราะในเมืองมีอาหารให้พวกมันกินมากมาย
ไบรอัน คุ๊ก นักวิจัยด้านกระต่าย บอกว่า ในอดีต เรามักมองเรื่องการควบคุมจำนวนประชากรกระต่ายป่าจากมุมมองของเกษตรกร แต่ที่เราปล่อยปละละเลยกันไปก็คือปัญหาเรื่องกระต่ายในเขตเมือง
ด้านโอลิเวอร์ ออร์กิล เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานฝ่ายควบคุมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลกลาง บอกว่ากระต่ายป่าจะเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญขนานใหญ่สำหรับสังคม พวกมันสามารถสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับพื้นที่สวนของเมือง สนามกีฬา กัดกินผักในสวนหลังบ้านของประชาชน ทำลายสวนของพวกเขา
เขาบอกว่า มีการผลักดันให้กระต่ายป่าเป็นสัตว์ที่ต้องควบคุมเป็นอันดับ 1 แม้ว่ารัฐบาลจะใช้งบในการควบคุมสัตว์ประเภทนี้มากถึงครึ่งหนึ่งแล้วก็ตาม
การควบคุมจำนวนกระต่ายป่าในเขตตัวเมืองกระทำได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตสวนหลังบ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่มักเข้าไปไม่ถึง หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ส่วนการวางยาเบื่อในวงกว้างก็ทำได้ยาก เมื่อประชาชนมากมายแสดงความวิตกเกี่ยวกับความโหดร้าย ซึ่งคุ๊กก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเสแสร้ง
เขาบอกว่าความคิดเรื่องการวางยาเบื่อกระต่ายเป็นร้อยตัวในสนามฟุตบอล อาจจะเป็นอะไรที่น่าสยอง แต่เราก็ไม่เห็นจะสยองอะไรกับการทำแบบเดียวกันกับหนูแถวๆถังขยะแอนเดรียส แลนซนิก จากศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยสัตว์ในกรุงแคนเบอร์ร่า บอกว่าบางทีการปล่อยไวรัสคาลิซีไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสนำเข้า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา การผสมผสานไวรัสสายพันธ์จากเกาหลี กับไวรัสที่พบในออสเตรเลีย อาจจะช่วยลดจำนวน กระต่ายลงได้
แต่เขาก็เตือนว่า เราไม่ควรคิดว่าแค่ไวรัสสายพันธุ์จากต่างประเทศตัวเดียวจะเป็นคำตอบ เพราะงานนี้ไม่มีอะไรที่เป็นปาฏิหาริย์

logoline