svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ดาวหางเลิฟจอย พลาดชมครั้งนี้ มาอีกที 8 พันปี

21 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชมดาวหางเลิฟจอย เห็นด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกในพื้นที่มืดสนิทไม่มีแสงเมืองรบกวน ชัดที่สุดช่วงเดือนมกราคมนี้เท่านั้น หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์จะเห็นชัดขึ้น เผยหากพลาดชมครั้งนี้เจอกันอีกทีใน 8 พันปีข้างหน้า

ภาพถ่ายดาวหางเลิฟจอย Comet Lovejoy (C/2014 Q2) โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)คืนวันที่ 11 มกราคม 2558 ณ บริเวณดอยอินทนนท์ โดยสามารถสังเกตเห็นส่วนของหัวดาวหางที่มีแก๊สประทุลอยออกมาห่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่า "โคมา"เห็นเป็นสีเขียวได้ชัดเจน ซึ่งส่วนนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งรายละเอียดของ "หางแก๊ส" ที่มีลักษะเป็นเส้นตรงชี้ไปทางทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ แต่กล้องถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพส่วนของหางไว้ได้
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวหางเลิฟจอย โดยจะมองได้อย่างชัดเจน เนื่องจากอยู่ใกล้โลกและมีความสว่างมาก ความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ 4 - 5 ดาวหางดวงนี้ได้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่ระยะห่าง 70 ล้านกิโลเมตร และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 30 มกราคม 2558
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสังเกตดาวหางเลิฟจอย สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวนและมีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดี หรือหากใช้กล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าหรือกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับผู้เริ่มต้นสังเกตอาจใช้ตำแหน่งกลุ่มดาวนายพรานเป็นหลัก จากนั้นในทิศทางเดียวกันจะสังเกตเห็นกลุ่มดาววัว หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อดาวธงและที่ตำแหน่งใกล้กันจะสามารถสังเกตเห็นกระจุกดาวลูกไก่ โดยตำแหน่งของดาวหางจะปรากฏอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ห่างไปประมาณ 10 องศา

logoline