svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

3 ค่ายมือถือพร้อมเดินหน้าประมูล 4G

23 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

3 ค่ายมือถือพร้อมเดินหน้าประเทศไทย ยื่นข้อเสนอภาครัฐ ผลักดันไทยเข้าสู่ยุค 4G เพื่อเป็นแรงส่งให้ Digital Economy โดยเอไอเอส เสนอให้ภาครัฐมีการจัดตั้ง Telecom Infrastructure ส่วนดีแทค เสนอนำคลื่นที่ไม่ได้ถูกใช้งานร่วมประมูลเพื่อให้ได้ทรัพยากรที่เพียงพอ พร้อมแนะปริมาณคลื่น 30 MHz เหมาะสมสุด ขณะที่ทรูมูฟ เอช ชี้การประมูล 4G ไม่ควรกำหนดราคาสูงเกินไป เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากที่สุด

          
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2557 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายคือเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช ร่วมกันแถลง 'ร่วมเดินหน้าประเทศไทย ก้าวสู่ยุค 4Gสานต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทตอล' เพื่อยืนยันความพร้อมของภาคเอกชนที่จะประมูล 4G ในปี 2558

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวย้ำถึงช่วงเวลาในการเปิดประมูล 4G หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าจะให้มีการประมูลภายในปี 2558 นั้น ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อน Digital Economy ให้แก่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ทางเอไอเอส ยังเสนอให้มีการทำ Telecom Infrastructure ซึ่งถือเป็นรูปแบบพิเศษ เพราะทางรัฐบาล หรือ รัฐวิสาหกิจ สามารถที่จะเปิดประมูล เพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลไปพัฒนาประเทศอย่างอื่นได้ ขณะที่ในมุมของเอกชนที่นำคลื่นความถี่มาเพื่อให้เกิดบริการก็ต้องมีการลงทุน รวมๆกันกว่าแสนล้านบาท ก็จะเกิดการสร้างงานอย่างมหาศาล          นายซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวเสริมว่า ด้วยพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคไทยที่แตกต่างจากหลายๆประเทศในโลก เพราะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญคือมีการใช้งานวิดีโอสตรีมมิ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการใช้งานดาต้าสูงมาก และเชื่อว่า 4G จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การใช้งานดังกล่าว                   โดยทางดีแทค เสนอให้นำคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ไม่ได้ใช้งานจำนวน 25 MHz และคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ดีแทคถือครองอยู่ภายใต้สัมปทาน ที่จะหมดสัมปทานในปี 2561 เข้าไปร่วมจัดสรรให้เกิดการประมูลด้วย เพียงแต่ต้องขึ้นกับทั้งทางหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานกำกับดูแลเห็นชอบด้วย ซึ่งจะเป็นการประมูลในสิทธิถือครองก่อน เพื่อรอหมดสัมปทานถึงนำไปใช้งานได้

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อยากให้ทางหน่วยงานกำกับดูแลหรือภาครัฐให้ความสำคัญกับการนำทรัพยากรคลื่นไปใช้ประโยชน์มากกว่าเอาเงินมากองแข่งกัน ด้วยการบีบให้มีการประมูลคลื่นน้อยๆแต่ราคาสูง                   
โดยจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลจากเดิมที่กำหนดให้ได้ใบอนุญาตจากการประมูล เป็นการให้ใบอนุญาตตามความเหมาะสมแก่ผู้ประกอบการที่สามารถทำประโยชน์ให้ ประชาชนได้สูงสุด หรือ บิวตี้ คอนเทสต์

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 รายต่างยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล 4G และเปิดกว้างที่จะมีผู้ให้บริการรายอื่นเข้าร่วมประมูลด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเปิดให้มีการประมูลเป็นช่วง 2 x 5 หรือ 2 x 10 MHz ที่เป็นช่วงที่เหมาะสมในเชิงเทคนิค


นอกจากนี้เอไอเอสกับดีแทคยังมองว่า ช่วงคลื่นที่เหมาะสมสำหรับการนำมาให้บริการ 4G ต้องประกอบไปด้วยช่วงคลื่นความถี่ต่ำ ประมาณ 10-15 MHz และคลื่นความถี่สูงประมาณ 15 MHz รวมกันเป็น 25 - 30 MHz ถือเป็นปริมาณที่พอเหมาะในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ทรูมูฟ เอช มองว่ามากกว่า 20 MHz ก็เพียงพอกับการให้บริการแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับ การเตรียมความพร้อมร่วมประมูล 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวย้ำถึงการเปิดประมูลคลื่น 4G ว่า 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ แล้วเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทั้งนี้ จะเป็นการดำเนินงานคู่ขนานไปกับการดำเนินงานของคณะกรรมการปรับโครงสร้าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ไปสู่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจเละสังคม

logoline