svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ติดแท็กพะยูนได้สำเร็จครั้งแรกในไทย หวังลดอันตราการตาย

18 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตรัง -จนท.โชว์ภาพหลังติดแท็กพะยูนสำเร็จครั้งแรกของไทยเป็นอุปกรณ์ช่วยติดตามพฤติกรรมของพะยูนได้อย่างแม่นยำ มั่นใจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยและกำหนดแนวเขตป้องกันการอนุรักษ์จากเรือประมงเพื่อลดอัตราการตายของพะยูนสัตว์ทะเลหายากซึ่งใกล้สูญพันธุ์

วันที่ 18 ธันวาคม 2557 นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมจังหวัดตรัง นำภาพขณะที่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าล้อม และจับตัวพะยูนมาติดสัญญาณดาวเทียมบริเวณส่วนหาง เพื่อติดตามพฤติกรรมนำไปสู่การอนุรักษ์แนวเขตได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต้องการยืนยันว่าขั้นตอนทุกอย่างไม่ทำให้พะยูนตื่นตกใจแต่อย่างใด โดยเมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม 2557 สามารถจับพะยูนติดแท็กหรือติดสัญญาณดาวเทียมได้รวม 3 ตัว เมื่อครบ 7 วัน จึงพบว่าพะยูนอาศัยอยู่บริเวณใดบ้าง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการศึกษาวิจัยและกำหนดแนวเขตป้องกันการอนุรักษ์จากเรือประมงทุกชนิดเข้าใกล้ เพื่อลดอัตราการตายของพะยูนสัตว์ทะเลหายากซึ่งใกล้สูญพันธุ์ 
อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวทำให้มีกลุ่มคัดค้านถึงความไม่เหมาะสมหลายประการ เนื่องจากทำเป็นครั้งแรกในไทยและไม่มีนักวิจัยหรือผู้มีประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม แต่ถือความสำเร็จก้าวแรกของประเทศ ซึ่งข้อบกพร่องต่าง ๆ นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า จะนำไปปรับใช้ในการทำงานครั้งต่อไป แต่การติดแท็กพะยูนสำเร็จครั้งนี้ทำให้ติดตามพฤติกรรมของพะยูนได้อย่างแม่นยำทั้งเวลากินเวลานอนและเส้นทางการเดินทาง ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกันอีกหลายหน่วยงาน โดยใช้เทคนิคดังกล่าวจากประเทศออสเตรเลียที่มีประสบการณ์การติดพะยูนมากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อนักวิชาการของไทยเป็นอย่างมาก
นายมาโนช กล่าวอีกว่า สำหรับพะยูนที่ติดตั้งสัญญาณดาวเทียมได้สำเร็จมี 3 ตัว เป็นเพศผู้ทั้งหมด มีการตั้งชื่อให้ด้วยเพื่อเป็นอนุสรณ์ของสถานที่ ประกอบด้วย 1. "แบนะ" ตามชื่อภูเขาที่พะยูนเข้ามาหากินใกล้ๆ , 2. หยงหลำ ชื่ออ่าวที่พะยูนเข้ามาหากินและจับตัวได้ และ3. เจ้าไหม ชื่ออุทยานฯ ทั้งหมดมีความยาวตั้งแต่ 2.50 - 2.80 เมตร, รอบคอ 1.06 - 1.30 เมตร และรอบลำตัววัดได้ตั้งแต่ 1.65 - 1.85 เมตร 
ส่วนสาเหตุที่ต้องดำเนินการติดสัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูน เพราะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดหาเทคโนโลยีทีทันสมัยมาใช้ในการสำรวจ ศึกษาพฤติกรรมการหากินของพะยูน เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยและเป็นข้อมูลอันจะสามารถนำมาใช้ในการจัดการพื้นที่แบ่งเขตการเพื่อศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่ (zoning) เพื่อลดอัตราการตายของพะยูนในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาหลังจากพะยูนในทะเลตรังซึ่งเป็นฝูงใหญ่ที่สุดขณะนี้ตายลงอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หลายฝ่ายได้พยายามพูดถึงการอนุรักษ์กำหนดเขตพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมเสียที 
แต่จากนี้ไปหลังจากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมติดตั้งได้สำเร็จแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการประมง การอนุรักษ์และภาคการขนส่งทางเรือ จะต้องนำข้อมูลมาศึกษาและออกแบบการกำหนดเขตอนุรักษ์ร่วมกันต่อไป สำหรับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมจะดำเนินการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมทุกด้าน โดยจะเดินหน้าศึกษาแหล่งหญ้าพะยูน ชนิดของหญ้าพะยูน และดำน้ำศึกษาแหล่งหลับนอนของพวกมัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดจะนำมาร่วมกันกำหนดแนวเขตในการอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจังต่อไป 

logoline