svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ยึดโทรศัพท์ในเรือนจำ ได้กว่า 6,700 เครื่อง

17 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยธ.แถลงผลปราบยาเสพติดในเรือนจำยึดโทรศัพท์มือถือกว่า 6,700 เครื่อง ซิมการ์ด ยาบ้า ไอซ์ กัญชา ไล่ออก-ย้ายผู้คุมเพียบ พบเครือข่ายนักโทษคิดค้นสารพัดนวัตกรรมส่งสิ่งของต้องห้ามข้ามกำแพงคุก ส่งผลราคาโทรศัพท์พุ่งถึงเครื่องละ 2.5 ล้าน โทรออก-รับสายนาทีละ 2,000 บาท ที่นอนในจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์มีราคาหลักแสน

กระทรวงยุติธรรม - 17 ธ.ค.57 นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โฆษกกระทรวงยุติธรรม แถลงผลการเร่งรัดปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา( 9 มิ.ย.- 9 ธ.ค.) ว่า สามารถตรวจค้นและสกัดกั้นสิ่งของต้องห้ามจากภายนอกเข้าไปในเรือนจำได้หลายประเภททั้งยาเสพติด โทรศัพท์มือถือ ซิมการ์ดโทรศัพท์ และอุปกรณ์ดัดแปลงต่างๆ ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ 6,703 เครื่อง ซิมการ์ด 1,280 ชิ้น ยาบ้า 24,767 เม็ด ยาไอซ์ 2,839 กรัม กัญชา 6 กรัม นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดจำนวน 19 ราย ไล่ออกแล้ว 8 ราย ตั้งกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจำนวน 10 ราย และตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง 10 ราย ในส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการนำโทรศัพท์มือถือเข้าเรือนจำมี 10 ราย มีคำสั่งไล่ออก 1 ราย ตั้งกรรมการสอบสวนและให้ออกจากราชการไว้ก่อน 3 ราย ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง 1 ราย รวมทั้งมีคำสั่งย้ายข้าราชการที่กระทำผิด 59 ราย ในจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 9 ราย เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ 6 ราย และเกี่ยวข้องกับสิ่งของต้องห้ามอื่น 44 ราย 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวนายชาญเชาวน์ ได้รับฟังรายงานพฤติการณ์เครือข่ายผู้ต้องขังที่พยายามคิดค้นวิธีการส่งยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำ อาทิ การมัดยาเสพติดและโทรศัพท์เข้าเรือนจำระยะหวังผล 150 เมตร การมัดยาเสพติดกับลูกธนูยิงเข้าเรือนจำ การเหวี่ยงยาเสพติดจากคันเบ็ดตกปลาข้ามกำแพงเรือนจำ การยิงปืนหนังสติ๊กหวังผลระยะ 250 เมตร นอกจากนี้ผู้ต้องขังซึ่งถูกขังเป็นเวลานานยังพยายามสร้างเครือข่ายแบ่งแยกหน้าที่กันทำงาน โดยมีผู้รับหน้าที่เก็บโทรศัพท์มือถือ ทำหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์เข้าออก ซึ่งตัวการรายสำคัญจะเกี่ยวข้องเพียงการรับโทรศัพท์เท่านั้น ไม่ถือโทรศัพท์เอง วิธีการจะดัดแปลงสายสมอลล์ทอล์คให้มีความยาวตั้งแต่ 30 เมตร, 50 เมตร ไปจนถึง 200 เมตร โดยผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่เก็บโทรศัพท์อาจถูกขังอยู่ที่ชั้น 1 แต่จะโยงสายสมอลล์ทอล์คลัดเลาะไปถึงเรือนนอนชั้น 4 คาดว่าสมอลล์ทอล์คที่ยึดได้จากเรือนจำกลางเขาบิน ราชบุรี อาจมีความยาวที่สุด นอกจากนี้ยังมีความพยายามค้นหาพื้นที่ที่เครื่องตัดสัญญาณไม่ครอบคลุม เพื่อขอย้ายที่นอนไปยังจุดดังกล่าวโดยราคาที่นอนอยู่ในหลัก 100,000 - 200,000 บาท 
สำหรับราคาโทรศัพท์มือถือที่ภายนอกซื้อขายกันในราคาถูก หรือซื้อ 1 แถม 1 ในเรือนจำกลางเขาบินมีราคาสูงถึง 2,000,000 - 2,500,000 บาท โดยหลังได้รับโทรศัพท์เครือข่ายผู้ต้องขังจะต้องโอนเงินจ่ายค่าโทรศัพท์เพื่อขอรหัสปลดล็อคเครื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังกลุ่มอื่นนำโทรศัพท์ไปใช้โดยไม่จ่ายเงิน ส่งผลให้ค่าโทรศัพท์ทั้งโทรออกและรับสายในเรือนจำมีราคาสูงถึงนาทีละ 2,000 บาท ส่วนโทรศัพท์ที่เป็นระบบโทรผ่านดาวเทียมที่ผู้ต้องขังสั่งซื้อเข้ามาเพื่อเลี่ยงระบบตัดสัญญาณพบว่าไม่สามารถใช้งานได้เพราะวิธีการยุ่งยาก ปัจจุบันการจู่โจมจึงไม่พบการลักลอบนำเข้าอีก แนวโน้มวิธีที่เรือนจำต้องระมัดระวังการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำแบบใหม่ คือการใช้โดรมบินสำรวจเรือนจำเพื่อกำหนดจุดส่งโทรศัพท์และยาเสพติดได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการใช้โปรแกรม กูเกิ้ลแมพ กำหนดพิกัดส่งยาเสพติดและโทรศัพท์ โดยการส่งโดรนขึ้นบิน 1 ครั้งสามารถส่งโทรศัพท์มือถือได้มากถึง 3 เครื่อง นอกจากนี้ยังมีการลักลอบนำสุราและวอดก้าส่งเข้าไปในโรงครัว(แดนสูทกรรม) โดยเหล้าแดงจะบรรจุไปในขวดน้ำปลา ส่วนวอดก้าจะบรรจุในขวดน้ำส้มสายชู

logoline