svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไทยปรับแผนประชากร หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

12 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทบทวนแผนประชากรไทยอีกรอบ หลังไทยขยับขึ้นชาติแรกในอาเซียนที่ก้าวเข้าสังคมผู้สูงอายุ แถมประชาชากรเกิดใหม่ติดลบลดลงจากร้อยละ 1.6 เหลือ 1.3 เท่านั้น

วันนี้(12ธ.ค.)ในเวทีการสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับอนาคตการพัฒนาประเทศ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อมูลฐานประชากรไทยมีจำนวน 64 ล้านคนในปี 2553 และจะเพิ่มเป็น 66 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งถือว่าสูงสุดของประเทศ จากนั้นประชากรจะลดลงเหลือเพียง 64 ล้านคน

เนื่องจากภาวะเกิดใหม่ลดอัตราลงจากร้อยละ 1.6 เหลือเพียง 1.3 ในปี 2558 ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2583 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุจำนวนมากถึง 20.5 ล้านคน ดูจากฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพปี 2553 ที่มีอยู่ 8.4 ล้านคนเท่านั้น หรือก้าวกระโดดเป็นร้อยละ32 ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ 64 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นอีก 12 ล้านคน

ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือเพียง 35.18 ล้านคนจากปี 2553 ที่มีจำนวน 42.7 ล้านคน โดยสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะกระทบกับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน และอาจส่งผลต่อภาระการคลังด้วย
ทั้งนี้ทาง สศช.จึงมีการทบทวนแผนประชากรใหม่ ซึ่งนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นประธานในการวางกรอบแนวคิดแผนประชากรในการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี โดยอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอกรอบแนวคิดแผนประชากร ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นหาก ครม.เห็นชอบแล้วทาง สศช.จะนำมาจัดทำรายละเอียดของแผนต่อไป

ด้าน รศ.ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ บอกว่า ประชากรอาเซียนมีรูปแบบและโครงสร้างทางประชากรที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยสิงคโปร์และไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเผชิญกับการขาดแคลนวัยแรงงานในอนาคต

ซึ่งไทยจะเป็นชาติแรกของอาเซียนที่อัตราประชากรติดลบ โดยจะเริ่มลดลงระหว่างปี 2568-2573 ส่วนฟิลลิปินส์ ลาว และกัมพูชา มากกว่าหนึ่งในสามของประชากรยังอยู่ในวัย 10-24 ปี ดังนั้นลักษณะการผสมผสานของโครงสร้างประชากรในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย

สำหรับสถิติโครงสร้างประชากรในปี 2557 พบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ร้อยละ 1.6 อัตราการเกิด(ต่อ1พัน) ร้อยละ 11.5 ส่วนอัตราการคุมกำเนิดร้อยละ 79.6 โดยมีประชากรอายุระหว่าง 11-22 ปี ร้อยละ 11.4 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวพ่อหรือแม่เดี่ยว และจำนวนนี้ร้อยละ 33 ท้องไม่พร้อม

logoline