svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สศอ.เสนอ 3 แนวทางผลักดันราคายาง

11 ธันวาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศอ.เสนอ 3 แนวทางผลักดันราคายาง คาดได้เห็นยืนเหนือ 65 บาท/กก.กลางปี 58 แต่ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ และราคาน้ำมันด้วย

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดว่าจะได้เห็นราคายางไม่ต่ำกว่า 65 บาท/กก. ประมาณกลางปีหน้า แต่ขึ้นกับเงื่อนไขของภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ และราคาน้ำมันด้วย

ทั้งนี้ สศอ. ได้เสนอ 3 แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตราคายางพาราตกต่ำและพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวของยางพาราไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การแก้ปัญหาวัตถุดิบล้นตลาด การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานยางพาราในตลาด ทำให้ราคาลดความผันผวนและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมาตรการต่างๆ จะทำให้สามารถเพิ่มปริมารการใช้ยางพาราในประเทศประมาณ 5 แสนล้านตันและเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือยาง ยางล้อ ยางยืดอีกด้วย

มาตรการแรก ได้แก่ การแก้ปัญหาวัตถุดิบล้นตลาด จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท จากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 เมษายน 2558 เป็นช่วงที่ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมาก จึงอาจส่งผลกระทบให้ราคายางลดต่ำลง

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลาง โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบ ในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

โดยอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้จะชำระดอกเบี้ยเท่ากับอัตรา 2% โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ซึ่งการใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ตามโครงการฯ คาดว่าจะทำให้สามารถดูดซับปริมาณยางที่จะเข้าสู่ระบบ ได้ประมาณ 200,000 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นทันที ประมาณ 2-3 บาท/กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายคือ 66 บาท/กิโลกรัม ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

มาตรการที่สอง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยมี การส่งเสริมให้มีการเพิ่มใช้ยางพาราในประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โดยการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ดูดซับยางพารางได้ 300,000 ตัน


และมาตรการสุดท้าย การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ คือ การส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง ตามที่ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยางของไทยยังขาดมาตรฐานในการทดสอบผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งในปัจจุบันประเทศที่มีอำนาจต่อรองสูง ได้ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ เป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้า เช่น กำหนดเงื่อนไขด้านมาตรฐานสินค้า มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย เป็นต้น
โดยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา พื้นที่ประมาณ 1,197 ไร่ โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการศึกษาฯ จะเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2558

logoline