svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ไทยพีบีเอส" ถกบทเรียน "เวทีเสียง ปชช.ต้องฟังก่อนปฏิรูป"

22 พฤศจิกายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผ.อ. ไทยพีบีเอส เผยเบื้องหลัง มีทหารมาขอพบและขอหารือเรื่องเทป บอกนายกดดันและสั่งมา และขอให้เลิกเวทีวันที่ 9-10 ธ.ค แถม พันเอก ส. ระบุกำลังยืนบังกระสุนให้ไทยพีบีเอส ไม่เช่นนั้นกระสุนตกที่ไทยพีบีเอส

ด้าน "ณาตยา "  แจง รายการเสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป เป็นเวทีสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยให้คนเห็นต่างมาร่วมเวทีเพื่อรวบรวมข้อเสนอเรื่องปฏิรูปของประชาชนกลุ่มต่างๆ ลั่น ตัวเองจะเป็นพิธีกรหรือไม่ ไม่สำคัญ ย้อนถาม แต่จะตีความคำว่าคุกคามผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร 
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. เวลา 13.30 น. ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ 1 อาคารดี องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) ถ.วิภาวดีรังสิต มีการจัดงานสังเคราะห์บทเรียนจากเวทีเสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป โดยนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวว่า ที่เรามาวันนี้เพื่อให้มีการเรียนรู้ร่วมกันตามสถานการณ์ และเพื่อคิดอย่างสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนในการเปิดเวทีแบบนี้ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของไทยพีบีเอสต่อไป 
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมา 2-3 วัน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ ไทยพีบีเอสได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน เกิดเสียงโต้เถียงกันขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านมาภาพต่างๆก็เบาลง มองเห็นอะไรชัดขึ้น เห็นปฏิกิริยาในสังคมจากที่ถูกกดทับอยู่ แล้วมีพลังอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ขณะเดียวกันมีคนตั้งคำถามถึงบทบาทไทยพีบีเอสระหว่างเหตุการณ์นี้ จึงมีการตัดสินใจระดมความคิดเห็นกับเหตุการณ์นี้ว่าเป็นลักษณะเช่นใด และหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีกจะมีการตั้งรับอย่างไร 
นายสมชัย กล่าวต่อว่า หลังจากเทปเวทีภาคใต้ออกไปมี 2-3 คำ ที่คนร่วมเวทีบอกอึดอัดๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ทหาร 3 คนมาขอพบและขอหารือเรื่องเทป เพราะนายสั่งมา และไม่รู้สึกแฮปปี้ที่ตอกย้ำว่าอึดอัด แต่ตนได้บอกว่าขอดูเทปก่อน แต่ทหารก็ได้มีการขอร้องว่าเวทีต่อไปอย่าให้เกิดขึ้นอีก เพราะกำลังสร้างบ้านเมือง แต่เราต้องอธิบายว่าเราไม่ได้ปลุกระดม เพราะมีกระบวนการจัดเวทีอยู่แล้ว มีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับราชการ อาทิ สถาบันพระปกเกล้า มาร่วม เวทีนี้จึงไม่ได้มาโค่นล่มรัฏฐาธิปัตย์ แต่เพื่อกระบวนการรับรู้การปฏิรูปให้ได้ผล 
"เขาบอกว่า 9-10 ธ.ค.ขอให้เลิกเวทีได้หรือไม่ ก็ต่อรองกันอยู่นาน และขอให้ไทยพีบีเอสถอยห่างจากกระบวนการเหล่านี้ ทหารก็บอกว่าเขาโดนนายกดดัน พันเอกส.คนนั้นได้บอกว่ากำลังยืนบังกระสุนให้ไทยพีบีเอส ไม่นั้นกระสุนตกที่ไทยพีบีเอสเลย จากนั้นก็มีการคุยในที่ประชุมต่อมาว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร จากกระบวนการที่ถูกกดดันและมีเเรงเสียดทาน"
นายเชิดชาย มากบำรุง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว กล่าวว่า ตอนนั้นการเจรจา 3 ชั่วโมงสรุปมาว่าทหารจะขอดูเทปก่อนออกอากาศได้หรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงคงทำไม่ได้ แต่ทหารบอกว่ามาได้ตรวจสอบทุกอย่างมาเรียบร้อยแล้ว รู้ว่าบ้านผอ.อยู่ที่ไหน มีลูกกี่คน ตนจึงไม่รู้ว่าเป็นบริบทของการสนทนาหรือไม่ แต่ก็อาจตีความได้ว่านี่คือการคุกคามแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการขอดูเทป 
นายก่อเขต กล่าวว่า ได้คุยกับทหาร 2-3 คน ในการพูดคุยส่วนใหญ่พูดถึงการจัดงานวันที่ 9-10 ธ.ค. ไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล พิธีกร แต่ขอให้เลื่อนจัดออกไปได้หรือไม่ แต่ตนก็อธิบายเรื่องกฎหมายในการทำงาน โดยก็บอกว่าให้เป็นไปตามนั้นเพราะไม่มีเรื่องเสียหายอะไร เขาก็รับฟังดี แต่ไม่ทราบว่าเขาคิดอะไรกันอีก จนมีการมุ่งไปที่ตัวบุคคล หลังจากนั้นก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันอีก 
ด้าน น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการเสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป กล่าวว่า เวทีนี้ต้องการเป็นพื้นที่ทางเลือกในการแสดงความคิดเห็นเพื่อมีส่วนร่วม จึงมีการคุยกันว่าจะสร้างพื้นที่ทางเลือกขึ้นมา เพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยให้คนเห็นต่างมาร่วมเวที เพื่อรวบรวมข้อเสนอเรื่องปฏิรูปของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเวทีแรกจัดที่จ.อุบลราชธานี แต่มีทหารขอให้ยุติจัดงาน ทั้งที่ขออนุญาตจากแม่ทัพภาค 2 แล้ว แต่ด้วยการเจรจาทำให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยมีทหารมาร่วมงานและมาร่วมฟังด้วย จากนั้นไปที่จ.ขอนแก่น เวทีน่าสนใจมากเพราะผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ได้อำนวยความสะดวกการจัดเวทีนี้อย่างดี ทำให้งานผ่านไปด้วยอย่างราบรื่น
น.ส.ณาตยา กล่าวต่อว่า ต่อมาจัดที่โรงแรมฮอลิเดย์อิน จ.เชียงใหม่ มีเจ้าหน้าที่กองทัพภาคที่ 3 มาร่วมสังเกตการณ์บริเวณด้านนอกห้องด้วย โดยมีคนเสื้อแดง 8 จังหวัด คนเสื้อเหลือง 8 จังหวัดมาร่วมพูดคุยกัน แต่นักข่าวออกจากห้อง แต่พวกเขาก็ยินดีมาบันทึกเทปว่าพูดคุยอะไรกัน ส่วนที่ภาคตะวันออกจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และไปที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เมื่อ 14 ต.ค.2557 มีคนใต้มาจำนวนมากกว่า 500 คน ทั้งนี้ การจัดเวทีต่างๆ มีเครือข่าย 171 องค์กร มีเงินลงขันจากเครือข่ายต่างๆ โดยเงินไม่ได้ผ่านไทยพีบีเอส เราเพียงแค่ร่วมผลิตรายการเท่านั้น โดยได้ข้อเสนอการปฏิรูปภาคประชาชน อาทิ การมีส่วนรวม การกระจายอำนาจ การแก้กฎหมาย เป็นต้น
น.ส.ณาตยา กล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึงจุดพลิกผันนั้นยังมีบางอย่างที่ตนพูดไม่ได้ มีแต่กรรมการนโยบายที่รู้ แต่ถ้ามีการยกเลิกอัยการศึกแล้วถึงจะสามารถพูดได้ ตนคิดว่าเรื่องที่ตนจะเป็นพิธีกรหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะตนยังทำงานได้อยู่ เพราะเวทีที่จ.นครปฐมยังเกิดขึ้นได้ เวทีที่พิษณุโลกยังทำได้ถึงแม้ไม่มีไทยพีบีเอส จึงเป็นความสวยงานและความสำเร็จด้านหนึ่ง ตนจะเป็นพิธีกรหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เราจะตีความคำว่าคุกคามผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร การตัดสินใจจึงเป็นของผู้บริหาร หากตนเป็นเงื่อนไขต่องานก็ขอเสนอเอาตัวเองออกมา โดยจะให้ที่ประชุมพิจารณา 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงานครั้งนี้มีการเชิญนักวิชาการ ภาคประชาชน เครือข่ายร่วมจัดงาน ที่เคยไปร่วมงาน ประมาณ 30 คน โดยมีรูปแบบนั่งเป็นวงกลม เริ่มจากการเปิดเทปรายการเสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป ที่สรุปเวทีภาคประชาชนในการพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาในรอบ 2 เดือน 8 เวที 4 ภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะบรรยากาศในการจัดที่เวทีภาคใต้ ได้สะท้อนปัญหาจากการปฏิรูปจริง โดยการพูดคุยได้ถอดบทเรียนว่า เวทีภาคใต้มีการพูดตรงๆ จากคำถามว่า "พวกเราใช่หรือที่ให้ออกมาเป่านกหวีดเรียกทหารออกมา และรู้สึกอึดอัดอะไร" ทำให้วันนั้นก็มีคนตอบว่าเป้าจริงๆต้องการปฏิรูป และอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพูดคุยครั้งนั้นมองว่าเป็นการสื่อสารกับคนใต้อย่างตรงไปตรงมา จากคำถามตรงๆ ก็มีการตอบตรงๆแรงจากคนภาคใต้เช่นกัน 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันในการพูดคุยได้เสนอว่า อยากให้ทหารแยกแยะจากการข่าวที่ได้มาว่าเป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าคำตอบของผู้ร่วมงานวันนั้นไปสะกิดอะไรกับฝ่ายทหารหรือไม่ อาทิ "เราไม่ต้องการทหารนำประชาชน แต่ให้มาตามประชาชน" ขณะเดียวกันเรื่องให้น.ส.ณาตยา ยุติดำเนินรายการ ทางกรรมการนโยบายระบุว่า หากเป็นการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพื่อให้เวทีอยู่ต่อในสถานการณ์นี้ได้หรือไม่ ที่สำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ปฏิบัตงาน จึงต้องมีการปกป้องคนของไทยพีบีเอสเอาไว้ 

logoline