svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ทีดีอาร์ไอ"ชี้ไทยยังวิกฤติ แรงงานผลิตไม่ตรงตลาด

17 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้สถานการณ์แรงงานไทยยังวิกฤติ ความต้องการแรงงานสูงกว่าอัตราว่างงาน สะท้อนปัญหาการผลิตคนไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ  เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีอัตราการว่างงานต่ำ โดยดูจากดัชนีชี้วัดจำนวนการจ้างงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่าอัตราการว่างงานโดยรวมแต่ละเดือนยังสูงกว่าปี 2556  แต่ยังไม่สูงพอที่จะทำให้การมีงานทำของประเทศไทยลดจำนวนการจ้างงานลง จะเห็นว่าในเดือนมกราคม 2557 มีผู้มีงานทำ 37.79 ล้านคน เดือนสิงหาคมก็ยังมีผู้มีงานทำถึง 38.37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 0.2% ต่อเดือน 
ทั้งนี้ ปัญหาที่พบคือมีการผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาขาดแคลน โดยดูจากจำนวนผู้ว่างงานที่มีสัดส่วนมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนในทุกระดับการศึกษา เช่น ในปี 2556 ระดับ ม.ปลาย และ ปวช. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 2 เท่า ระดับ ปวส. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลน 2.1 เท่า และระดับ ป. ตรี ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 3.5 เท่า  โดยผลการศึกษาของ TDRI พบว่าผู้ที่จบ ปวช. เรียนต่อ ปวส.มากกว่าร้อยละ 70 ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีจำนวนผู้จบ ปวส.เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้น
ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ บอกว่า การที่ประเทศไทยจะหนีจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนาอันยาวนานนี้ได้ จะต้องลดสัดส่วนของการใช้ผู้จบการศึกษาในระดับ ม. ต้น ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างให้น้อยลง และพยายามปรับปรุงอุปสงค์ต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับกลาง คือ ม. ปลาย รวมถึง ปวช. ให้มากขึ้น   แต่เมื่อดูสัดส่วนผู้จบสายสามัญและสายอาชีพ ล่าสุด ในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 นี้ยังไม่ดีขึ้น คือประมาณ 71 ต่อ 29  ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายอาชีพในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤติ  

logoline