svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พลังงาน เตรียมเซ็นเอ็มโอยูพม่า-กัมพูชา ในพื้นที่ทับซ้อน

03 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ณรงค์ชัย วาง 7 มาตรการสร้างความมั่นคงพลังงาน เดินหน้าจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงทั้งในและต่างประเทศ ระบุภายใน 3 เดือนได้ข้อสรุปสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตั้งเป้าเซ็นเอ็มโอยูรัฐบาลพม่าและกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนปิโตรเลียมต้นปีหน้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวว่า กระทรวงฯ มีแผนปฎิบัติการและมาตรการสำคัญ 7 เรื่องในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ประกอบด้วย การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมขนส่งและที่อยู่อาศัย โดยต้องปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน และสร้างวินัยและวัฒนธรรมการประหยัดพลังงาน

ส่วนการแสวงหาไฟฟ้าระยะยาว จะต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและปรับเปลี่ยนจากก๊าซธรรมชาติไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทนที่ต้นทุนต่ำ เช่น ถ่านหินสะอาด รวมทั้งจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงพลังงานทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น

สำหรับนโยบายสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้แน่นอน ก่อนจะเปิดให้เอกชนยื่นคำขอสัมปทานและจะเริ่มพิจารณาคำขอในช่วงเดือนเมษายน 2558 ขณะที่การเซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลพม่าและกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนปิโตรเลียม คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2558

นอกจากนั้น กระทรวงฯจะเร่งพัฒนางานวิจัยต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท. และหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งส่งเสริมพลังงานทดแทนเริ่มจากที่ต้นทุนต่ำและมีศักยภาพ เช่น พลังงานชีวมวล และพลังงานจากขยะ

ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงาน จะเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เช่น การแยกกิจการท่อก๊าซของ บริษัท ปตท.การเปิดให้บริการขนส่งทางท่อแก่ผู้ประกอบการอื่น การนำโรงกลั่น บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือเอสพีอาร์ซี เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่วนการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี จะต้องปรับปรุงเครือข่ายระบบสายส่งไฟฟ้า ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกฎหมายและข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการค้าอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค
















logoline