svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผลประชามติ "ค้าน" สกอตแลนด์แยกเอกราช!

19 กันยายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภายหลังจากชาวสกอตและทั่วโลกร่วมลุ้นผลคะแนนการลงประชามติแยกตัวเอกราชของสกอตแลนด์อย่างใจหายใจคว่ำ ล่าสุดผลนับคะแนนใกล้เสร็จสิ้นแล้วเหลือเพียงเขตเดียวระบุคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราช สร้างความโล่งอกให้ทั้งอังกฤษและยุโรป

ฝูงชนที่สนับสนุนการโหวต โน เพื่อคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราชต่างปรบมือและส่งเสียงเฮด้วยความดีใจเมื่อทราบผลการนับคะแนนในศูนย์นับคะแนนในหลายเมืองและนายอเล็กซ์ ซัลมอนด์ นายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ ได้แถลงข่าวขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิลงประชามติ และตัดสินใจคัดค้านการแยกตัวเป็นประเทศอิสระ และเขายอมรับการตัดสินใจนี้
ผลการนับคะแนนประชามติครั้งประวัติศาสตร์ใกล้เสร็จพบว่า ในการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของสกอตแลนด์ มีจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน 86% และมีจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ถึง 97%
จากผลการนับคะแนนที่เสร็จแล้วใน 31 เขตจากทั้งหมด 32 เขต บ่งชี้ว่า มีเสียงคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราช 55% และเสียงสนับสนุนเอกราช 45% โดยเมืองกลาสโกว์ เมืองใหญ่ที่สุดที่กลุ่มโหวต เยส หวังได้รับชัยชนะขาดลอย ก็ชนะแค่เพียง 54.5% ต่อ 46.5% ส่วนเมืองเอดินเบอระ เมืองหลวง กลุ่มโหวตโนชนะด้วยคะแนนเสียงทิ้งห่าง 61.1% ต่อ 38.9% ส่วนผลสำรวจความคิดเห็นของยูกอฟที่เผยแพร่ทันทีหลังปิดลงคะแนนเมื่อ 4 ทุ่มตามเวลาท้องถิ่น พบว่า เสียงโหวต โน ชนะด้วยคะแนนเสียง 54% ต่อ 46 %
บางคนเชื่อว่า ผลมติคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราชอาจเป็นเพราะบางคนเปลี่ยนใจด้วยข้อเสนอในนาทีสุดท้ายของรัฐบาลอังกฤษที่สัญญาจะให้อำนาจสกอตแลนด์เพิ่มขึ้นหากไม่แยกตัวจากสหราชอาณาจักร และผลมติครั้งนี้สร้างความโล่งอกให้กับรัฐบาลอังกฤษ และทำให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน รอดพ้นความเสี่ยงถูกบีบให้ต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบหากสกอตแลนด์แยกตัว แต่ผลลัพธ์ที่ตามมมาก็ยังมีภาระใหญ่รออยู่ และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทั้งสกอตแลนด์และสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน
รัฐบาลอังกฤษได้ให้สัญญาว่าจะเพิ่มอำนาจการปกครองตนเองให้กับสกอตแลนด์มากขึ้นทั้งในด้านการจัดเก็บภาษี อำนาจการใช้จ่ายงบประมาณ และอำนาจการจัดสรรสวัสดิการ โดยคาดว่าจะวางกรอบข้อตกลงได้ภายในสิ้นเดือน ต.ค.และเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาได้ในเดือน ม.ค. ปีหน้า แต่มีเสียงวิจารณ์จากส.ส.บางคนว่าเป็นข้อเสนอที่เร่งรีบและทำไมต้องเดินตามกรอบเวลาที่วางไว้โดยอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษเชื้อสายสกอตที่เป็นคนเสนอแผนนี้ นอกจากนี้บางคนเสนอว่าควรดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีผลครอบคลุมในดินแดนทั้งหมดของสหราชอาณาจักร โดยในแคว้นเวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ไม่พอใจมานานแล้วเรื่องความไม่เท่าเทียมเรื่องระบบภาษี
แต่หากการผลักดันการเพิ่มอำนาจให้สกอตแลนด์ประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นตัวเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองของสหราชอาณาจักรครั้งใหญ่ ขณะที่หากกระบวนการล้มเหลว ก็จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอังกฤษ
ขณะที่สื่อนานาชาติ ระบุว่า การลงประชามติของสกอตแลนด์ จะส่งผลสะท้อนกลับตั้งแต่สเปน ไปจนถึงแคนาดา บรรดาผู้นำฝรั่งเศสและสเปน เตือนว่า แนวคิดแบ่งแยกดินแดนกำลังจะเป็นอันตรายที่ทำลายยุโรป ด้านโฆษกสำนักพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม เปิดเผยต่อสถานีโทรทัศน์ สกายนิวส์ว่า สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ทรงติดตามการลงประชามติจากพระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ด้วย

logoline