svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

"ถ้าดื้อมาก ระวังตุ๊กแก จะมากินตับ!" ความเชื่อโบราณสู่ปัจจุบัน

31 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สวัสดีครับเพื่อนๆ พี่ๆ ชาว OKNation
สัปดาห์นี้ อยากจะมาเล่าเรื่องที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เช่นคำขู่ของคนเก่าแก่ ปู่ย่า ตายาย มักจะบอกเด็กๆว่า ถ้าดื้อมาก ระวังตุ๊กแก จะมากินตับ!
ผู้เขียนได้ยินคำขู่นี้มาตั้งแต่เด็กๆสมัยพอที่จะจำความได้
ล่วงเลยมาจนยุคปัจจุบัน หากไม่เคยเห็นบางสิ่งบางอย่างกับตาตัวเองเราคงไม่เชื่อ ประมาณนั้น ความสงสัยเรื่องนี้ บางทีอาจเป็นความเข้าใจที่หลายคนได้ข้อมูลมาจากหลากหลายแหล่งข้อมูล มันยิ่งน่าชวนสงสัยเข้าไปใหญ่ พอความเชื่อต่างกัน มันก็ยังเป็นปริศนาให้ต้องตามขบคิดกันต่อไป
คราวนี้ ผู้เขียนจะเล่าเรื่องที่เคยเห็นและใช้เหตุผลบวกกับความรู้พื้นฐานที่พอจะมีเป็นข้อมูลในการเล่าเรื่องให้ฟัง
ที่บ้านเก่าของผู้เขียนมีแท้งค์น้ำรุ่นโบราณสังกะสี ตั้งติดกำแพง หลังบ้านเป็นทุ่งหญ้าต้นกก ลมพัดเย็นสบาย สมัยเด็กๆผู้เขียนมักจะหนีแอบไปปล่อยอารมณ์ แบบสบายใจ เวลาโดนคุณพ่อคุณแม่ดุเวลาชอบซน
ผู้เขียนจะปีนขึ้นไปนั่งบนแท้งค์น้ำเพื่ออยู่ในโลกส่วนตัวเสมอ
สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจประจำ เวลาปีนขึ้นไปบนแท้งค์น้ำคือ บังเอิญไปเห็น กลุ่มตุ๊กแกหลายตัวแอบซ่อนอยู่หลังแท้งค์น้ำ ในมุมมืด ครั้งแรกที่เห็นก็ตกใจพอสมควรเพราะตอนเด็กๆการเห็นในระยะใกล้ครั้งแรกคงตกใจพอประมาณ .....
หลังจากนั้นก็เป็นกิจวัตรประจำเวลาว่างของผู้เขียนที่ชอบอยากรู้อยากเห็นตอนเด็กๆคือ จะเอาไฟฉายขึ้นไปส่องดูเวลาขึ้นไปบนหลังแท้งค์น้ำทุกครั้ง
มาเล่าสิ่งที่เคยเห็นให้ฟังกันครับ
ตุ๊กแกยิ่งอยู่ในที่มืดยิ่งสีเข้ม อันนี้น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะเคยเห็นมากับตา ตอนมันอยู่หลังแท้งค์น้ำ สีสดเขียวเข้มลายตัดกับสีแดงน้ำตาล พอมันออกมากลางแดด สีจะซีด ไม่สดเท่าไรนัก
ตุ๊กแกชอบกระดิกหาง ส่ายไปมา ขึ้นลงเหมือนเป็นการสื่อสารท่าทางกัน ในขณะเดียวกัน
มันก็จะชอบร้อง ที่ผู้เขียนเคยสังเกต ตุ๊กแกชอบร้องตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน แต่ตอนที่ผู้เขียนเคยเอาไฟฉายไปส่องดูมันตอนเด็กๆนั้น พอมันตกใจ เมื่อโดนแสงไฟส่องมันก็จะร้องให้ได้ยินเหมือนกัน ทั้งที่เป็นตอนกลางวัน การร้องของมันเสียงดังมาก เหมือนการอัดกระแทกเสียงออกมาจากลำคอ คอโป่งเชียวเวลามันร้อง
เสียงตุ๊กแกร้อง บ้างก็ว่ากันไป ฟังกันไปต่างๆนาๆ ตามพื้นภาคของแต่ละส่วนที่ได้ยิน ผู้เขียนเคยเสวนากับเพื่อนที่อยู่ภาคเหนือ เขาบอกว่าตุ๊กแกทางภาคเหนือเวลาร้องผู้ใหญ่คนเก่าแก่ จะบอกเด็กๆว่า
ตุ๊กแกร้องว่า โต๊กโตๆ ส่วนพวกเราที่อยู่ภาคกลาง รวมทั้งผู้เขียนเอง มักจะได้ยินตุ๊กแกร้อง ดังว่า ตุ๊กแกๆ หรือ ตั๊บแกๆ กัน ตามการฟังเสียง
สำหรับคนทางภาคอีสานกับทางภาคใต้นั้น ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลว่า การได้ยินเสียงและตีความสำเนียงการร้องของตุ๊กแกเป็นอย่างไร ..หากท่านใดอยากมาแชร์ข้อมูลก็จะดี ไม่น้อย !
จากการร้องเสียงที่ได้ยินนี่เอง ก็เลยกลายเป็นเรื่องเล่าที่ต้องหาข้อพิสูจน์ว่าเป็นอย่างไรกันแน่
คนเก่าแก่มักจะบอกว่าตุ๊กแก ร้องว่า ตั๊บแก หมายความว่า ตับของตุ๊กแกมันแก่แล้ว
คราวนี้ แล้วทำไมมันร้องว่า ตับมันแก่ ละ! ก็เพราะว่ามันร้องเรียกให้งูเขียวมาช่วยกินตับที่แก่ของมันนะสิ!......คนรุ่นเก่ามักจะเล่าให้คนรุ่นต่อมาฟังอย่างนี้
ความเชื่อนี้ดูเหมือนจะมีหลายคนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆแม้แต่ผู้เขียนเองสมัยเด็กๆ !
เหตุผลที่เชื่อในตอนนั้น คือ ที่ห้องวิทยาศาสตร์ของผู้เขียน หลังแท้งค์น้ำ นั่นเอง
วันหนึ่งผู้เขียน เอาไฟฉายไปส่องดูเจ้ากลุ่มตุ๊กแกที่อยู่หลังแท้งค์ที่บ้านเก่าตามปรกติ ได้มีโอกาสเห็น ภาพที่จำได้ติดตา คือ มีงูเขียว ตัวเล็กเรียวปากแหลม ที่ทุกวันนี้ พวกเราอาจเรียกงูเขียวชนิดนี้ว่างูเขียวปากจิ้งจก กำลังอยู่ในปากของตุ๊กแก ในขณะที่ตุ๊กแก อ้าปากนอนนิ่ง ให้งูเขียวตัวผอมเล็กเอาหัวเข้าไปในปากของมัน
ตอนนั้นผู้เขียนไม่รู้ว่ามันทำอะไรกัน ความสงสัยมีอยู่ในหัว แต่ไม่มากนักเพราะเด็กๆเห็นก็แค่แปลกใจเท่านั้น แต่ยังจำภาพได้ดี .
มาได้อ่านเรื่องราวความเชื่อที่ต้องพิสูจน์ โดยใช้หลักการและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการหักล้างความเชื่อเหล่านี้ จากหลายแหล่งและผู้รู้ มาลองดูกันว่า มันพอจะสมเหตุผลได้หรือไม่
งูเขียว เป็นสัตว์กินเหยื่อขนาดเล็กเช่น จิ้งจก แมลง จิ้งหรีด เช่นเดียวกับตุ๊กแก ถ้ามองภาพก็ต้องบอกว่าเป็นคู่แข่งกันในการหากิน อย่างแน่นอน ความที่สัตว์ทั้งสองเป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานทั้งคู่ ดังนั้นพฤติกรรมการหากิน คงไม่ค่อยต่างกันมาก นั่นคือ การแอบและดักรอเหยื่อหรือการเคลื่อนที่เข้าไปหาเหยื่อแบบช้าๆเงียบที่สุด ก่อนการ จู่โจมเหยื่อแบบไม่รู้ตัว
จากที่ผู้เขียนในตอนเด็กๆ เคยเห็นตุ๊กแกนอนหลับตอนกลางวัน และมักจะอ้าปาก การที่มันทำแบบนั้นผู้รู้บอกว่ามันอ้าปากเพื่อระบายความร้อนจากตัวมัน เป็นพฤติกรรมส่วนใหญ่ของสัตว์เลื้อยคลาน คราวนี้ ผู้เขียนเลยเอาเรื่องที่ผู้เขียนเคยเห็นตอนเด็กมาต่อเป็นภาพ และเอาเหตุผลเข้าไปผสมด้วย ตุ๊กแกกินเหยื่อส่วนใหญ่เวลากลางคืน กลางวันก็คงเหมือนสัตว์ทั่วไปคือนอนย่อยอาหาร นิ่งๆ อ้าปากระบายความร้อน .คราวนี้ถ้างูเขียวเรียนรู้พฤติกรรมของตุ๊กแก ละ! .งูเขียวก็จะหาประโยชน์จากตุ๊กแกได้ การที่งูเขียวแอบเลื้อยช้าๆเข้าไปใกล้ตุ๊กแก เพื่อเอาหัวเข้าไปกินเศษอาหารในท้องของตุ๊กแก น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน
มองกลับกัน เจ้าตุ๊กแก ก็คงไม่ใช่ สัตว์ตัวซื่อ แต่ก็เจ้าเล่ห์ ไม่น้อย เพราะจริงๆแล้วตุ๊กแกก็เป็นสัตว์กินเนื้อเหมือนกัน มันกิน จิ้งจก แมลงสาบ และสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กเช่นเดียวกัน
ความที่ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่ดุ และกินเนื้อ คงเดากันไม่ยาก เพราะการปล่อยให้เจ้างูเขียวปากจิ้งจกตัวเล็ก เข้ามาใกล้ในปากตุ๊กแกเพื่อล่อให้มากินเศษอาหารในท้องของมัน จริงๆแล้วอาจเป็นการอ่อยเหลื่อเพื่อวางกับดักก็ได้
สิ่งนี้เองที่พอคนทั่วไปเห็นจึงนึกว่างูเขียว เลื้อยเอาปากเข้าไปกินตับตุ๊กแกในท้อง แต่ถ้าสังเกตดีๆ ปากของเจ้าตุ๊กแก จะงับเจ้างูเขียวเข้าให้นั่นแล้ว
ในทางกลับกัน งูเขียวที่ตัวใหญ่ล่าเหยื่อ พวกสัตว์เลื้อยคลานกินเช่นกัน มันมองตุ๊กแกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน แน่แท้
คราวนี้เองที่ไม่รู้ว่าใครจะกินใครกันแน่ !
สิ่งที่ตอกย้ำเรื่องราวเป็นเหตุผลว่างูเขียวไม่ได้เข้าไปกินตับตุ๊กแก จากการเห็นของผู้เขียนยังมีอีก ภาพที่ผู้เขียนเอามาให้ดูนี้จึงเป็นบทพิสูจน์
ที่บ้านแม่ของผู้เขียน ผู้เขียนได้ยินเสียงตุ๊กแกร้องเสียงดังหลายครั้ง ในคืนวันหนึ่งที่ตื่นมาเข้าห้องน้ำ กลางดึก การร้องครั้งนี้ ไม่เหมือนการร้องทิ้งระยะห่างธรรมดาของตุ๊กแก หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ยินเสียงเหมือนการต่อสู้ฟัดเหวี่ยงกัน พร้อมเสียงร้องของตุ๊กแก แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดว่า มันคงทะเลาะกันตามเรื่องที่อยู่ร่วมกัน
รุ่งเช้า จึงมีหลักฐานภาพนี้ เกิดขึ้นให้เห็น

งูเขียวพระอินทร์ ตัวเขื่อง ม้วนรัดพันตุ๊กแกตัวหนึ่ง แน่นิ่งอยู่ในตอนเช้า เหมือนต่างคนต่างหมดแรงต่อสู้ กันมาทั้งคืน ดูจากหลักฐานแวดล้อมแล้วน่าจะเป็นเสียงร้องของเจ้าตุ๊กแกโชคร้ายที่กำลังสู้กันอยู่กับเจ้างูเขียวตัวนี้เป็นแน่ เมื่อกลางดึกคืนนั้น!


อย่างที่บอกไปว่า ทั้ง 2 เป็นนักล่าทั้งคู่ ดังนั้น จากภาพที่เห็นผมเชื่อว่างูเขียวน่าจะเป็นผู้ล่าตุ๊กแกมากกว่า แต่คราวนี้คงสู้กันพอตัว เพราะเจ้าตุ๊กแกก็ตัวใหญ่คงไม่ยอมง่ายๆ
สิ่งที่เห็นหลังจากนี้ คือ ตุ๊กแกตายแล้ว เพราะโดนงูเขียวรัดให้อ้าปากเพื่อกินเศษอาหารในท้องของตุ๊กแก ในขณะเดียวกันก็ได้กินตุ๊กแกเป็นของแถมอีกด้วย แต่งูเขียวก็ล่อแล่
เพราะ ต่างฝ่ายต่างกัดหัวซึ่งกันและกันทั้งคู่ แบบสมศักดิ์ศรีการต่อสู้ เหมือนตำนาน ตอนแรกงูเขียวยังไม่ตายครับ แต่สุดท้าย ดูเหมือน โดนตุ๊กแกกัดที่หัว หลายแห่ง เป็นแผลใหญ่ เนื้อหลุดหมดแรงนอนตายไปเช่นเดียวกัน


บทสรุปนี้ เองที่ทำให้เรื่องที่บอกว่างูเขียวมากินตับตุ๊กแก ไม่น่าจะใช่เรื่องจริง เพราะแท้จริงแล้ว ต่างฝ่ายต่างเป็นสัตว์นักล่าที่ฉวยโอกาส ด้วยกันทั้งคู่ หากใครเผลอก็เสร็จอีกฝ่ายไปทันที
งูเขียวที่ว่านี้คือ งูเขียวพระอินทร์ ชอบหากินทั้งกลางวันและกลางคืน กับพวกเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่าตัวเอง เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก กบ เขียด
พบเห็นได้ทั่วไปตามพุ่มไม้ บ้านเรือน ที่มีต้นไม้ เพราะชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ และเจ้านี่ชอบร่อนครับ การ ร่อน เหมือนการบิน พุ่งตัวไปจากต้นไม้ต้นหนึ่ง ไปอีกต้นหนึ่ง ที่ไหนมีเหยื่อให้หากินก็มีให้เห็น
งูตัวนี้ไม่อันตรายนะครับ ! สีเขียวสวยทีเดียว แต่โชคร้ายที่คนตกใจกลัวเสมอ เลยเป็นเหยื่อถูกตีตายไปเยอะพอสมควร หากท่านใดเห็นที่บ้าน ชัดๆแบบนี้ ก็อย่าไปตีเขาครับ แค่ไล่ๆไป ฉีดน้ำ เขย่าต้นไม้เดี๋ยวเขาก็ไปเอง ถือคติที่ว่า ต่างคนต่างอยู่ เหมือนแบ่งปันครับ ความสมดุลทางธรรมชาติก็เกิดขึ้นเอง
สุดท้าย อยากบอกว่าความเชื่อเก่าๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังมาเหล่านั้น ฟังไว้ไม่เสียหลาย
อย่าไปลบหลู่ หรือเชื่ออย่างงมงาย ...
ให้คิดว่ามันเป็นรากเหง้าของการดำเนินชีวิตแบบไทยๆ ที่เล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัย ปู่ย่า ตายาย คนรุ่นเก่าเหล่านี้ เล่าผ่านต่อมาให้ลูกหลานฟัง ถ้าคิดให้ดีก็คงต้องมีคนเล่าให้รุ่นปู่ย่า ตายาย ของเราฟังเหมือนกัน
มาถึงรุ่นปัจจุบันของพวกเรา ที่อาจจะมีวิชาการก้าวหน้า กว่าเก่าก่อน ก็สืบทอดกันไปแบบมีเหตุมีผล เล่าให้ลูกหลานฟัง เพื่อถ่ายทอดให้รุ่นต่อๆไป เห็นจะดี

แล้วเจอกันคราวหน้าครับ
เรื่องและภาพโดย Wildwatcher Blogger OKnationhttp://www.oknation.net/blog/wildwatching/2014/08/30/entry-1

logoline