svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

กระทรวงต่างประเทศเร่งตรวจสอบข่าวคนไทย"เมาแล้วขับ"ชนนักเรียนญี่ปุ่นเสียชีวิต

18 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงการต่างประเทศประสานสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเเกียว เร่งตรวจสอบรายละเอียดกรณีข่าว 3 คนไทยเมาแล้วขับ ชนนักเรียนญี่ปุ่นเสียชีวิต


ตามที่มีข่าวว่า เมื่อค่ำวันที่ 14 สิงหาคม เด็กนักเรียนมัธยมชาย-หญิง ชาวญี่ปุ่น 2 คน ถูกรถยนต์ขนาดเล็กชนที่สี่แยกแห่งหนึ่งใน จ. ชิบะ และมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 คน ส่วนอีกคนได้รับบดเจ็บสาหัส โดยข่าวของสถานีโทัทัศน์ท้องถิ่นระบุว่า รถที่ก่อเหตุเป็นคนไทยชาย-หญิงนั่งมา 3 คน และเจ้าหน้าที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ในร่างกายทั้ง 3 คน แต่ผู้ชายไทยคนที่คาดว่าน่าจะเป็นคนขับรถ ยังให้การปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้ขับ รวมทั้งไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ตำรวจตั้งข้อหาขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต และขับรถประมาทเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ Social Network ของชาวญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่างรุนแรง ถึงขั้นมีความเห็นให้ยกเลิก Free Visa สำหรับชาวไทยไปเลย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นยังไม่เปิดเผยชื่อคนไทยทั้ง 3 เนื่องจากกฎหมายญี่ปุ่นยังเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคลผู้ต้องหา แต่หากมีความผิด ผู้ต้องหาจะไม่ถูกส่งกลับประเทศ แต่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายญี่ปุ่น หลังจากนั้นจะโดนแบล็คลิสต์

ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศประสานสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเเกียว เร่งตรวจสอบรายละเอียดเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ เว็ปไซด์ J-Campus ระบุถึงบทลงโทษกฎหมายเมาแล้วขับของญี่ปุ่น ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คนที่เดินข้ามถนนบนทางม้าลาย และจุดตัดตามปากซอย แทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังยานพาหนะใดๆ โดยทุกแห่งที่มีทางม้าลาย และมีจุดตัด ซึ่งไม่มีสัญญาณไฟจราจร จะมีป้ายสัญญาณจราจรสีแดง มีเส้นหยุด และตัวอักษรสีขาวบนพื้นถนนเป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า"tomare : จงหยุด" เพื่อให้รถจากทางโทเป็นฝ่ายหยุดเสมอ ซึ่งจะต้องเป็นการหยุดสนิท ไม่ใช่แค่ชะลอหรือลดความเร็ว
สาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากความมีวินัยของผู้ขับขี่ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคของเจ้าพนักงานแล้ว ตัวบทกฎหมายเองยังมีความเข้มงวดอย่างยิ่งอีกด้วย
สำหรับกฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 ของ พรบ การจราจร ของญี่ปุ่น ถูกยกร่างขึ้นใหม่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2007 เป็นต้นมา สรุปสาระสำคัญ คือวรรคหนึ่ง ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย วรรคสอง ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม ห้ามให้สุรา หรือสนับสนุนการดื่มสุรา แก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง
วรรคสี่ ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเอง โดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดตามวรรคหนึ่งด้วย
"บทลงโทษผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะพิจารณาตามสภาพ ว่าไม่อยู่ในอาการที่จะควบคุมการขับขี่ได้ตามปกติ เช่น เดินเซ ตาปรือ หน้าแดงก่ำ ฯลฯ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (3.6 แสนบาท) หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี หากก่ออุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่า การเมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิต มีโทษรุนแรง รองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว"
กรณี มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 0.15 mg ต่อลมหายใจ 1 ลิตร โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 บาท) หักคะแนน 13-25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี ถ้ามีผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะ มีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่ ส่วนผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม หรือผู้ร่วมโดยสารมาด้วย
กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (180,000 เยน) กรณีผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (108,000 เยน) ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีที่จอดรถให้บริการ และทราบได้ชัดเจนว่า ลูกค้าขับรถมาที่ร้าน ร้านอาหารนี้จะต้องไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้กับผู้ขับขี่ อีกทั้งผู้ที่นั่งรถมาด้วยก็ต้องไม่สนับสนุนให้ดื่ม และจะต้องไม่นั่งรถกลับไปด้วย มิฉะนั้น ทุกฝ่ายจะมีความผิดทั้งหมด
หากคะแนนที่ถูกหักสะสมย้อนหลัง 3 ปี รวมกันตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป จะถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา 30-180 วัน เว้นแต่หากเป็นการสะสมจากกระทำความผิดอันไม่รุนแรง (1-3 แต้ม) อาจได้รับผ่อนผันให้เข้ารับการอบรมผู้ปฏิบัติผิดกฎจราจรแทนการยึดใบขับขี่

logoline