svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

พบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ อายุกว่า 3 พันปี

21 กุมภาพันธ์ 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นครราชสีมา - พบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ที่ อ.โนนสูง โคราช เป็นยุคบรรพบุรุษคนไทยสมัยก่อน อายุกว่า 2.5-3 พันปี มีความแตกต่างสถานะทางสังคม ก่อนศาสนาพุทธ จะเข้ามามีอิทธิพล

ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนจาก ต.ลำคอหงส์ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ นางวิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะ และวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของการขุดสำรวจ วิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านโนนจาก เพื่อค้นหาต้นกำเนิดของอารยธรรมขอม บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน พบ ดร.รัชนี ทศรัตน์ นักโบราณคดี 8 สำนักงานศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา พร้อม ดร.ไนเจล ชาง (Dr. Nigel Chang) นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านโครงกระดูก มหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย และทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ กำลังปฏิบัติภารกิจงานวิจัย ใช้เครื่องมืออุปกรณ์เฉพาะทาง ขุดค้นหาซากวัตถุโบราณ ภายในหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร บริเวณพื้นที่ด้านหลังวัดหนองเครือชุด หมู่ 12 ต.ลำคอหงส์ อย่างขะมักเขม้น นางวาริกา ทองคำ ผู้ใหญ่บ้านหนองเครือชุดพัฒนา เปิดเผยว่า แหล่งโบราณคดีโนนบ้านจาก ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ประมาณ 10 กิโลเมตร เดิมเป็นผืนดินรกร้างว่างเปล่ากลางทุ่งนา ไม่มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ต่อมาชาวบ้านได้ลักลอบเข้าไปปรับปรุงหน้าดิน เพื่อปลูกพืชผักเลื่อนลอย ในขณะขุดดิน พบเศษซากวัตถุโบราณจำนวนมาก ด้วยความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เร้นลับ จึงไม่มีใครกล้าลองดี และฉวยโอกาสนำวัตถุโบราณที่ขุดพบไปขาย จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขอความร่วมมือชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 7 และหมู่ 12 ต.ลำคอหงส์ ฯ เพื่อทำการวิจัย พวกเราเล็งเห็นคุณค่าวัตถุโบราณสมบัติของบรรพบุรุษ จึงให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ พร้อมสนับสนุนในทุกด้าน ด้วยความหวังต้องการให้ภาครัฐ สานต่อยกระดับสถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างรายได้ในท้องถิ่น ดร.รัชนี   ทศรัตน์ นักโบราณคดี 8 สำนักงานศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจทางภาพถ่ายทางอากาศ บ้านโนนวัด เนินอุโลก และบ้านขามเฒ่า อ.โนนสูง ระบุถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ดังกล่าว มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 -3 ชั้น มีร่องน้ำตัดผ่านหมู่บ้าน บ่งบอกการเข้ามาอยู่อาศัย สันนิษฐาน น่าจะเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน ขนาดใหญ่ในยุคเหล็ก ตามหลักฐานที่ค้นพบ และวิเคราะห์บริเวณบ้านปราสาท มีชุมชนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสำริด ยุคเหล็ก ถึงสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดี และแบบเขมรโบราณ ระยะเวลาอยู่ในช่วงระหว่าง 2,500 -3,000 ปี ดร.ไนเจล  ชาง ( Dr. Nigel Chang) นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านโครงกระดูก มหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย  ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สถานที่แห่งนี้ มีการเข้าอยู่อาศัยที่เนินดินแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง พบหลักฐานโครงสร้างกำแพงบ้าน โครงกระดูก มนุษย์ผู้ใหญ่เพศชาย เพศหญิง โครงกระดูกของวัยรุ่น เด็ก และทารก รวม 80 ร่าง แสดงให้เห็นถึงข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ด้านเพศ วัย ส่วนสูง อัตราการตาย และโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งประเพณีการฝังศพที่สืบทอดกันมาในห้วงหลายพันปี หลักฐานที่ขุดพบสามารถบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชน ก่อนที่พุทธศาสนา จะเข้ามามีอิทธิพล บรรพบุรุษไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีการปลงศพ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางสถานะสังคม ได้เกิดขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บางศพพบวัตถุสิ่งของสมัยสำริดฝังร่วมกับศพ โดยมีภาชนะดินเผาหลายสิบใบ พร้อมเครื่องประดับตามร่างกาย และกระดูกสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก รวมทั้งเปลือกหอย วางเรียงรอบร่างผู้เสียชีวิต จำนวน 5 ศพ มากกว่าศพอื่นๆ หากมีการศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง จะทำให้เข้าใจบรรพบุรุษคนไทย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง โดยเชื่อมโยงข้อมูลคนไทยย้อนหลังไปตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงยุคก่อน ประวัติศาสตร์ และความเกี่ยวพันธ์ของวิวัฒนธรรมมนุษย์โลก ด้านนางวิลาวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะ และวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการ ฯ ว่า เรามีความมุ่งหวัง ที่จะดำเนินภารกิจในการทำนุบำรุง อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้วยการบูรณาการภารกิจ การเรียนการสอนการวิจัย และการบริการวิชาการเข้าด้วยกัน โดยอาศัยกระบวนทัศน์ทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมชุมชน ให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง จึงได้เริ่มดำเนินการโครงการนี้ เมื่อช่วงปลายปี พศ.2555 กำหนดสิ้นสัมปทานในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากร จากองค์การสหประชาชาติ หน่วยเฝ้าระวังโลก หรือ เอิร์ทวอตช์ (Earthwatch) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) และความร่วมมือจากกรมศิลปากร

logoline