14 มิถุนายน 2566 ที่ จ.เชียงใหม่ สมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) จัดงานประชุมวิสามัญใหญ่ พร้อมแถลงวาระบริหารประจำปี 2566 - 2567 เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ ของโรงแรมในจังหวัดเชียใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้านการท่องเที่ยว มี นายไพศาล สุขเจริญ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายไพศาล กล่าวว่า วันนี้้ผู้ประกอบการโรงแรม ได้พบปะพูดคุยเกี่ยวแหล่งท่องเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการส่งเสริมให้บุคลากรในแต่ละโรงแรม มีการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านภาษา ด้านเทคโนโลยี สำหรับครึ่งปีหลังนี้ ทางผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ มีความหวังว่า อัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยว จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมกว่าปีที่ผ่านมา
ซึ่งครึ่งปีแรกที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักถือว่าอยู่ระดับที่น่าพอใจ โดยเดือน ม.ค.- มี.ค. 66 มีอัตราการเข้าพักมากกว่าร้อยละ 70 แต่ช่วงเดือนถัดมา ยอดการเข้าพักมาลดลง เป็นช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ เจอกับปัญหาหมอกควันอย่างหนัก ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมส่วนใหญ่ลด เหลือเพียงแค่ร้อยละ 30
ปัจจุบันนี้ แนวโน้มการท่องเที่ยวส่งสัญญานบวก โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะห้องพัก มีเพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียง มีโรงแรมที่ขึ้นทะเบียน อย่างถูกต้องกว่า 600 แห่ง และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่า 2,000 แห่ง
และกำลังอยู่ระหว่างผลักดัน ให้โรงแรมขนาดเล็ก เพิ่มจำนวนห้องพัก จาก 4 ห้อง เป็น 8 ห้อง เพื่อทำให้เป็นโรงแรมขนาดเล็ก ที่ถูกกฎหมาย และมีมาตรฐาน ในเรื่องของความปลอดภัย คุ้มค่าเงินที่นักท่องเที่ยวจ่ายไป
นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผอ.ททท.เชียงใหม่ กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะมีการเข้าพักค้างแรมประมาณ 2 - 3 วัน ซึ่งการใช้จ่ายมากที่สุดคือ ค่าที่พัก อาหาร และความบันเทิง โดยเดือน ม.ค. - พ.ค. ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่มีห้องพักประมาณ 34,647 ห้อง
มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย ร้อยละ 75.82 ซึ่งมีผู้มาเยือน 4,738,119 คนครั้ง เป็นชาวไทย 3,084,528 คนครั้ง ชาวต่างชาติ 1,653,591 คนครั้ง ทำให้มีรายได้หมุนเวียนกว่า 46,714.86 ล้านบาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเดือน ม.ค. - พ.ค. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 2,000 คนต่อวัน
ทั้งนี้ ททท. ยังได้เตรียมแผนงาน เพื่อที่จะเสนอให้กับรัฐบาลใหม่ ใน 3 เรื่องหลักได้แก่ ท่องเที่ยวทั้งปีเพื่อเป็นการกระตุ้นกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี แม้ว่าจะอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น ก็สามารถเที่ยวได้ ต่อมาคือ ท่องเที่ยวยั่งยืน เป็นการผลักดันความยั่งยืน เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการดึงดูดนักท่องเที่ยว
และสุดท้ายคือ ท่องเที่ยวเท่าเทียม โดยการสร้าง Inclusive Growth และ Faimess โดยจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งเป้ารายได้การท่องเที่ยว รวมไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงปี 62 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้การท่องเที่ยวรวม ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท