svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

เจาะลึก Plant-based diet เทรนด์อาหารโลกอนาคต

06 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ Plant-based (แพลนท์เบส) อาหารเฮลตี้แห่งโลกอนาคต 1 ใน 8 เทรนด์สุขภาพประจำปี 2023 และข้อดีของ Plant-based diet ที่คนรักสุขภาพต้องว้าว

จากสถิติทั่วโลกมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก OurWorldInData แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปี พ.ศ. 2560 ทั่วโลกมีการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 87 % และแนวโน้มยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยวารสารการวิจัย Animals รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการบริโภคเนื้อสัตว์สูงถึง 100.9 กิโลกรัม/คน/ปี มากกว่าปริมาณเนื้อสัตว์ที่ U.S. Department of Agriculture แนะนำให้บริโภคเกือบสองเท่า ผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป คือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคอ้วน และโรคมะเร็ง เป็นต้น

 

เจาะลึก Plant-based diet เทรนด์อาหารโลกอนาคต

อาหารจากพืชดีต่อโลกจริงหรือ!!

การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ทางสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1.83 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปีตลอดกระบวนการผลิต ขณะที่ผู้ที่รับประทานอาหารวีแกน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.89 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปีเท่านั้น ผลผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 60 กิโลกรัม  ขณะที่ถั่วเหลืองก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.9 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณต่างกันถึง 60 เท่า นอกจากนี้ ทรัพยากรน้ำที่ถูกใช้ในสินค้าปศุสัตว์ก็มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำสูงถึง 15,415  ลิตร เนื้อหมู และ เนื้อไก่ ใช้น้ำ 5,988 และ 4,325 ลิตรตามลำดับ ในขณะที่การผลิตพืชผัก 1 กิโลกรัม ลดการใช้ทรัพยากรน้ำลงหลายเท่า โดย ข้าวใช้น้ำ 1,673 ลิตร แอปเปิ้ล 822 ลิตร และมะเขือเทศใช้น้ำเพียง 287 ลิตรเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า หากลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง จะสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้

อย่าเข้าใจว่า “แพลนท์เบส” คือผลิตภัณฑ์จากพืชร้อยเปอร์เซ็นต์

เจาะลึก Plant-based diet เทรนด์อาหารโลกอนาคต

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์ข้อมูลน่าสนใจผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Winai Dahlan เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ความนิยมอาหาร “แพลนท์เบส” (plant-based) ทุกวันนี้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แพลนท์เบสจึงเป็นอาหารแห่งอนาคต ยืนยันได้จากการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา มีการจัดประกวด APEC Future Food for Sustainability มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 2,018 ทีม คาดว่าเกินครึ่งคือเมนูอาหารแพลนท์เบส สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มองแพลนท์เบสคืออาหารแห่งอนาคต มั่นใจกันอย่างนั้น

แพลนท์เบส แปลกันตรงตัวคือ “ฐานพืช” ชื่อบอกอยู่แล้วว่าใช้พืชเป็นหลัก ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทว่า แพลนท์เบสในท้องตลาดส่วนใหญ่คือ “ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์” ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ไข่ ไก่ นม มีแม้กระทั่งปลา ปลาหมึก หอย ผู้คนในโลกยุคใหม่กังวลว่าการผลิตเนื้อสัตว์มีการเพาะเลี้ยง ทำฟาร์ม หรือหว่านมาจากทะเลหรือแหล่งน้ำ นำไปสู่การฆ่าสัตว์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นพืชให้หมด

แพลนท์เบสจึงเป็นเรื่องของการดำรงศีลธรรม ไม่ฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ ทั้งยังเป็นเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำปศุสัตว์ก่อผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม มีการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ มีปัญหาของปฏิกูลสัตว์ มีการปลดปล่อยคาร์บอน อาหารแพลนท์เบสจึงเป็นทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและศีลธรรมไปพร้อมๆ กัน ถูกจริตคนรุ่นใหม่ เป็นอาหารแห่งอนาคต อะไรทำนองนั้น   

เจาะลึก Plant-based diet เทรนด์อาหารโลกอนาคต

แพลนท์เบส คือมังสะวิรัติ หรือวีแกน (vegan)

คำถามมีว่าแพลนท์เบส คือมังสะวิรัติ หรือวีแกน (vegan) ซึ่งไม่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องเลยจริงๆหรือ คำตอบคือไม่จริงไปเสียทั้งหมด ยังมีผลิตภัณฑ์ฐานสัตว์หรือ animal-based ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ฐานพืชเหล่านั้น เช่น คาร์มีน (carmine) ซึ่งเป็นสีจากแมลง เคซีน (casein) ซึ่งเป็นโปรตีนจากนมสัตว์ เจละติน (gelatin) ผลิตภัณฑ์จากหนังและกระดูกสัตว์ เวย์ (whey) ของเหลวจากนม ผลิตภัณฑ์แต่งสีกลิ่นรสจากธรรมชาติ (natural flavors) ที่ใช้สารสกัดจากสัตว์ และอีกสารพัด สารหลายชนิดผสมในกระบวนการทางอุตสาหกรรมอาหารปริมาณน้อย ระเบียบของคณะกรรมการอาหารและยาของหลายประเทศอนุโลมว่าน้อยอย่างนั้นไม่จำเป็นต้องระบุบนฉลากอาหาร ผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้

นอกจากนี้ ในกระบวนการเตรียมบางผลิตภัณฑ์มีการใช้เอนไซม์จากสัตว์ก่อนสกัดทิ้งออกไป ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหลายชนิดนำไปใช้เตรียมผลิตภัณฑ์แพลนท์เบส ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) รวบรวมสารเคมีได้ถึง 186 ชนิดที่ใช้เอนไซม์จากสัตว์ในกระบวนการผลิต อันที่จริงมีมากกว่านั้นมาก โดยศวฮ.จัดทำเป็นตาราง H-numbers ไว้ ดังนั้น จึงกล่าวไม่ได้ว่าแพลนท์เบสคือมังสะวิรัติหรือวีแกนร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครประพฤติตนเป็นมังสะวิรัติ เข้าใจและระวังเรื่องนี้กันไว้หน่อยก็ดี อนาคตจะได้มี 100% แพลนท์เบสไว้บริโภค

เจาะลึก Plant-based diet เทรนด์อาหารโลกอนาคต อีกข้อมูลที่น่าสนใจโดย นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก อธิบายเรื่อง Plant-based diet ไว้ว่า “ข้อมูลจาก The International Agency for Research on Cancer (IARC) หรือแผนกวิจัยเรื่องโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูปหรือ Processed meat เช่น ไส้กรอก เบอร์เกอร์ ซาลามี่ พาร์มาแฮม เบคอน กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ซึ่งมีอันตรายมากที่สุด อยู่ในกลุ่มเดียวกับสารหนู หรือ สารกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนียม ส่วนเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2A หรือ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์” 

เนื่องจากในกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์ จะมีการเติม ‘ไนเตรท’ หรือ ‘ไนไตรท์’ เพื่อถนอมอาหาร ปรุงแต่งสีและรสชาติ แต่สารนี้สามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) อย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (N-nitroso-compounds; NOCs) และสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ได้ อีกทั้งในเนื้อแดงเองมีสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง หรือ ฮีม (Heme Iron) ซึ่งสามารถเร่งการสร้างสารก่อมะเร็งอย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (NOCs) ได้เช่นกัน รวมทั้งการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง เช่น การทอด การปิ้งย่าง ในอาหารประเภทเนื้อสเต็ก เบอร์เกอร์ หมูกระทะ สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจำพวก เฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (Heterocyclic Aromatic Amines; HAA) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ได้เช่นกัน 

แล้ว Plant-based diet คืออะไร?

การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีความหมายกว้างกว่าการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติทั่วไป เคร่งครัดน้อยกว่า และไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพจากการรับประทานผักหลากหลายชนิด ธัญพืชไม่ขัดสี เห็ดต่างๆ หลายชนิด เลือกแหล่งโปรตีนจากเต้าหู้หรือถั่วหลากชนิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อดีของโปรตีนจากพืชดี นอกจากสามารถนำมาแทนโปรตีนเนื้อสัตว์ได้แล้ว ยังช่วยลดอัตราการก่อโรคได้มากมาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง

การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านใดบ้าง

Plant-based diet ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

เนื่องจากการได้รับไขมันอิ่มตัวและระดับ TMAO (Trimethylamine N-oxide) จากเนื้อสัตว์น้อยลงจึงส่งผลดีโดยตรงในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด งานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารจากพืช เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1998 ตีพิมพ์ลงในวารสาร The American Journal of Cardiology โดยคุณหมอ Ornish  ผู้ก่อตั้ง Preventive Medicine Research Institute คุณหมอทำการวิจัยเป็นแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) โดยดำเนินการพร้อมกัน 8 แห่ง จำนวนคนเข้าร่วม 333 คน เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง การรักษาด้วยการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน (Revascularization) และการปรับพฤติกรรมแบบองค์รวม ตั้งแต่การรับประทานอาหารรูปแบบมังสวิรัติที่มีใยอาหารสูง น้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการจัดการกับความเครียด หลังจากติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานอาหารจากพืชเป็นหลักควบคู่กับการออกกำลังกาย ให้ผลการรักษาที่ดีไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ผ่าตัดเปิดหลอดเลือดอุดตัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนคือ กลุ่มที่ปรับพฤติกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรักษา ซึ่งน้อยกว่าถึง 4-7 เท่า จึงเห็นได้ว่าการปรับพฤติกรรมแบบองค์รวม ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยลงได้ 

คุณหมอ Lin แพทย์ประจำ Baylor College of Medicine และ คุณหมอ Esselstyn แพทย์ประจำ Cleveland Clinic ทำการศึกษาโดยแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่รับประทาน Plant-Based diet เป็นเวลา 4 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รับประทาน Plant-Based diet ค่าไขมันต่างๆ ในเลือดดีขึ้น ค่าสารอักเสบ hsCRP และ IL-6 ก็ลดลง รวมถึงการทำงานของหลอดเลือดดีขึ้น (brachial artery flow-mediated vasodilation) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม 

ส่วนคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ก็มีการศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of the American College of Cardiology ปี ค.ศ. 2017 ติดตามการรับประทานอาหารของผู้คน จำนวน 209,568 คน พบว่า การบริโภคพืชผักและธัญพืชไม่ขัดสี ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) ได้ถึง 25% อีกงานวิจัยหนึ่งจากวารสาร The BMJ ปี ค.ศ. 2020 วิจัยโดยคณะวิจัยจาก Harvard เช่นเดียวกัน ได้ติดตามการรับประทานอาหารของผู้ชาย 43,272 คน พบว่า การเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์แปรรูป 1 ส่วนบริโภคต่อวัน (85 กรัม) ให้เป็นโปรตีนจากพืช สามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 17 % 

Plant-based diet ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ในวารสาร Canadian Journal of Diabetes ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 รวบรวมการศึกษาวิจัยการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในคนที่รับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ทั้งหมด 13 งานวิจัย รวมจำนวนมากกว่า 60,000 คน พบว่า ทั้งการศึกษาแบบระบาดวิทยาที่เก็บข้อมูลเป็นระยะเวลายาวนาน หรือการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ก็ชี้ให้เห็นผลไปในทิศทางเดียวกันว่า อาหารจากพืชช่วยลดความเสี่ยงของเบาหวานได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง (Fasting Plasma Glucose) การหลั่งอินซูลินที่ดีขึ้น (Insulin secretion index) และความไวของอินซูลินที่ดีขึ้น (Insulin sensitivity) 

อีกงานวิจัยจาก JAMA internal medicine ปี ค.ศ. 2019 ทำการวิเคราะห์ผล 9 การศึกษาวิจัย จากคนรวมทั้งสิ้น 307,099 คน การรับประทานอาหารจากพืช สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ 23 % และงานวิจัยจากวารสาร International Journal of Medicine in Developing Countries ปี ค.ศ. 2020 ในคนจำนวน 69,213 คน จาก 5 การศึกษา พบว่า การรับประทานอาหารจากพืช ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1C; HbA1C) และลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้สูงถึง 57% 

Plant-based diet ลดความเสี่ยงโรคอ้วน

การลดน้ำหนักแบบ Plant-based diet ช่วยรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสม จากการลดปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์ และการรับประทานใยอาหารที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้สึกอิ่มท้องยาวนาน มีการศึกษาในผู้สูงอายุ 9,633 คน ตีพิมพ์ในวารสาร Epidemiology ปี ค.ศ. 2019  โดยจัดทำเป็นคะแนนการบริโภคพืชผัก รายงานว่าผู้สูงอายุที่มีคะแนนการบริโภคพืชผักเพิ่มขึ้น ทุก 10 คะแนน จะมีรอบเอวลดลง 2 เซนติเมตร และมีไขมันลดลง 1.1 % 

ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด

การรับประทาน Plant-based diet สามารถลดการได้รับสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดง รวมทั้งพืชยังอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ 

ในปี ค.ศ. 2018 รายงานจาก World Cancer Research Fund (WCRF) ร่วมกับ American Institute for Cancer Research (AICR) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้ติดตามการรับประทานอาหารในคนที่ไม่พบมะเร็งจำนวน 41,543 คน เป็นระยะเวลา 8 ปี พบว่าการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก โดยเลือกรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ผักและผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ร่วมกับลดการรับประทาน น้ำตาล ไขมัน เนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งทุกชนิดลดลง 12% ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม รวมถึงการลดการเกิด NCDs และโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งอีกหลายชนิด

งานวิจัยในชาวแคนาดา ปี ค.ศ. 2015 ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nutrition Journal เปรียบเทียบรูปแบบการรับประทานอาหารในคน 1,179 คน การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) 45% 

วารสาร Scientific Reports ของ Nature ได้รายงานการวิจัยการเกิดมะเร็งเต้านม เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่การรับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้สด เป็นต้น กับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักเช่นกัน แต่มักเป็นอาหารกลุ่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวแป้งที่ขัดสี น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ในผู้ที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ดีต่อสุขภาพ ชี้เห็นว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ถึง 67 % เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารจากพืชผักที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ การรับประทาน Plant-based diet ยังช่วยเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในร่างกาย สารพฤกษเคมีต่างๆ ในพืช มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเกิดสารอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) ช่วยเสริมความแข็งแรงของแบคทีเรียในลำไส้ (probiotics) ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ใยอาหารช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ปกป้องทางเดินอาหาร ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย และลดความเสี่ยงการเกิดโรคไต เพราะการรับประทานโปรตีนจากสัตว์มีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ลดลงและการเกิดโรคนิ่วในไต

จากงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรับประทาน Plant-based diet ต่อสุขภาพ และเพื่อให้ได้รับสารอาหาร และกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด ผู้ที่รับประทาน Plant-based diet ควรรับประทานโปรตีนจากพืชให้หลากหลายชนิด “เช่น กินข้าวคู่กับถั่ว เพราะข้าวมีกรดอะมิโนไลซีนน้อย การกินถั่วซึ่งมีไลซีนสูงก็ช่วยเสริมกันได้ และในทางตรงกันข้าม ถั่วที่มีเมไทโอนีนน้อย การกินข้าวที่มีเมไทโอนีนสูงกว่าก็ช่วยให้ได้กรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน” คุณหมอแอมป์ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย  ดังนั้น ควรเลือกรับประทาน ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ เต้าหู้ ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ดต่างๆและผักหลากชนิด เป็นต้น 

สองเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

1.การขาดวิตามิน ผู้ที่รับประทานอาหารแบบ Plant-based diet มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 12 เนื่องจากวิตามินบี 12 พบมากในเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรเพิ่มการรับประทานวิตามินบี 12 ที่มาจากแหล่งของพืช เช่น เทมเป้ สาหร่ายทะเล หรืออาหารที่มีการเติมวิตามินบี 12 เช่น นมจากพืช ซีเรียลอาหารเช้า เป็นต้น

2.การปนเปื้อน ต้องระวังการปนเปื้อนจากสารพิษและยาฆ่าแมลง กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีการลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้สด อาทิ การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) น้ำส้มสายชู  หรือการล้างด้วยน้ำไหลผ่าน เพื่อช่วยลดสารพิษตกค้าง อย่างไรก็ตาม การจะลดปริมาณสารพิษได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของผักด้วย

 

logoline