svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ-เรอบ่อยๆ ปล่อยไว้หรือต้องไปหาหมอ!!

05 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ค้นหาสาเหตุ "ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ ผายลม" เป็นเพราะร่างกายขับลมออกมา หรือว่าอาหารไม่ย่อย ซ้ำร้ายหากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคระบบทางเดินอาหารและลุกลามเป็นมะเร็งได้หรือไม่

ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเรามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำร้ายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว ทั้งความเครียด การออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารการกินซึ่งกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ที่นับตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก รวมถึงอวัยวะที่ช่วยผลิตน้ำย่อย ได้แก่ ตับและถุงน้ำดี  ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง ระบบทางเดินอาหารก็จะเริ่มแสดงอาการต่างๆ แม้อาการแสดงออกจะเป็นเพียงอาการท้องเฟ้อ เรอ ผายลม ซึ่งไม่ได้รุนแรง แต่ก็อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันและสร้างความกังวลใจ หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร  กระเพาะอาหารอักเสบ  พยาธิในทางเดินอาหาร  อาการแสบบริเวณหน้าอกซึ่งอาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน หรือโรคร้ายแรงอย่าง "มะเร็งกระเพาะอาหาร"

ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ท้องอืด ท้องเฟ้อ คืออาการของภาวะอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) ซึ่งพบบ่อยมากถึง 25% ของคนทั่วไป จะทำให้รู้สึกปวดท้องช่วงบน เนื่องจากระบบการย่อยไม่ปกติ ส่งผลให้ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้องและอึดอัด ไม่สบายตัว โดยอาการมักดีขึ้นและหายได้เอง หรือบางคนอาจมีอาการเรื้อรังจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ  

สาเหตุของอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

มากกว่า 50% ไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะท้องอืดท้องเฟ้อได้ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยา รวมถึงปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรม  อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น รวมถึงเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายอื่นๆ ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด นอกจากนี้อาการท้องอืดท้องเฟ้ออาจมาสาเหตุและปัจจัยอื่นๆ ดังนี้ 

โรคประจำตัว ภาวะอาหารไม่ย่อยอาจเกิดจากผลข้างเคียงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะเป็นแผล การติดเชื้อพยาธิ มะเร็งทางเดินอาหารหรือลำไส้ โรคลำไส้แปรปรวน หรือเป็นการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ นอกจากนี้โรคทางร่างกายอื่นๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดร่วมด้วย เช่น โรคไทรอยด์และโรคเบาหวาน เป็นต้น   

อาหาร อาการท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกมีลมในกระเพาะอาหาร จนอึดอัดไม่สบายตัว  อาจเกิดจากอาหาร เช่น ผักผลไม้ที่มีเส้นใยมาก หากรับประทานมากเกินอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ นอกจากนี้ อาหารเผ็ด แอลกอฮอล์ อาหารไขมันสูง นมและกาแฟ และพฤติกรรมการรับประทานก็มีผลทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวน้อยและรับประทานอาหารมากเกินไป   

ยา การรับประทานยาบางประเภทอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด  และยาปฏิชีวนะบางชนิด  

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ-เรอบ่อยๆ ปล่อยไว้หรือต้องไปหาหมอ!!

อาการเรอ

เรอ เป็นการขับลมจากกระเพาะอาหาร ผ่านหลอดอาหารออกมาทางปาก อาจมีแค่เสียง หรือเรอออกมาพร้อมกลิ่นอาหาร เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเร็วและมากเกินจำเป็น เมื่อเรอออกมา อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่หากเรอบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคระบบทางเดินอาหารบางชนิด โดยเฉพาะเรอเปรี้ยว ขมปากและมีอาการแสบร้อนกลางอก  อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัยและกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักมาก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ

สาเหตุของอาการเรอ

  • เกิดจากมีลมในกระเพาะอาหารมาก ทำให้กระเพาะอาหารพองตัวและขับลมออกมา   ซึ่งการเกิดลม หรือแก๊สในกระเพาะ  เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ 
  • กลืนลมหรืออากาศโดยไม่รู้ตัว เช่น รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเร็วเกินไป พูดคุยระหว่างมื้ออาหาร การสูบบุหรี่  
  • รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น อาหารไขมันและคาร์โบรไฮเดรทสูง ยีสต์ ถั่วชนิดต่างๆ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์   
  • ยาบางชนิดหากใช้ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ ทำให้เรอบ่อย เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน   ยาระบาย   ยาแก้ปวด  
  • โรคประจำตัว ทำให้ เรอบ่อย หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ อาจเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะ  นอกจากนี้อาการเรอบ่อยอาจมาจากโรคอื่นๆ  เช่น โรคตับอ่อน ที่ไม่สามารถผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร   
  • ความเครียด ภาวะความกดดันสูง  ความวิตกกังวล หรือปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ    

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ-เรอบ่อยๆ ปล่อยไว้หรือต้องไปหาหมอ!!

ผายลม หรือการตด

เป็นการปล่อยแก๊สในลำไส้ออกทางทวารหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการสะสมในระบบย่อย อาจมีเฉพาะเสียง กลิ่น หรือทั้งสองอย่าง   ทางการแพทย์ระบุว่ามนุษย์ต้องตดเฉลี่ยวันละ 10-20 ครั้ง  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นการระบายแก๊สที่สะสมอยู่ในร่างกายที่อาจส่งผลให้ท้องอืด แต่หากมีกลิ่นและเสียงผิดปกติ หรือเกิดขึ้นพร้อมกับอาการทางเดินอาหารอื่นๆ  อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบการย่อยมีความผิดปกติ หรืออาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เช่น โรคเบาหวาน  โรคตับ โรคลำไส้อักเสบ

สาเหตุของการผายลม

  • อาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น อาหารโปรตีนสูง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว น้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารที่ทำให้ตดมีกลิ่นรุนแรง เช่น คะน้า กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่งและผักที่มีกลิ่นแรง  
  • การกลืนอากาศระหว่างการเคี้ยวอาหาร หายใจ สูบบุหรี่   
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคลำไส้อักเสบ   
  • อาหารไม่ย่อย   
  • รับประทานอาหารในปริมาณมากและเร็วเกินไป   

ลมในท้องเยอะ ตดบ่อย ทำอย่างไร และวิธีป้องกันปัญหาท้องเฟ้อ เรอบ่อย แน่นท้อง

ทั้งปัญหาท้องเฟ้อ เรอ ตด เกิดจากสาเหตุคล้ายคลึงกัน  การป้องกันจึงสามารถทำได้คล้าย ๆ กัน ดังนี้ 

  1. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดกรดและแก๊ส เช่น อาหารไขมันสูง ย่อยยาก ถั่ว และผักตระกูลกะหล่ำ รวมถึงกาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์  
  2. รับประทานอาหารแต่ละครั้งไม่มากเกินไป 
  3. ลดการพูดคุยในระหว่างมื้ออาหาร 
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ หรืออาหารที่ร่างกายย่อยไม่ได้ 
  5. ไม่รีบรับประทานอาหารและเคี้ยวอาหารให้ละเอียด 
  6. หลีกเลี่ยงการล้มตัวลงนอน หรืออยู่ในท่าก้มงอตัว หรือรัดเข็มขัดแน่นเกินไป หลังรับประทานอาหาร 
  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากต้องทำงานแบบนั่งโต๊ะเป็นประจำ   
  8. งดสูบบุหรี่ 
  9. ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากพบว่าสาเหตุของอาการดังกล่าวมาจากยา 
  10. ดูแลและควบคุมโรคประจำตัว โดยพบแพทย์ตามนัด 

หากพบปัญหาท้องเฟ้อ เรอ ผายลม ที่ผิดปกติหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนกลางอก ปวดเกร็งท้อง เจ็บหน้าอก ถ่ายเป็นเลือด ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง 

การรักษาภาวะท้องเฟ้อ เรอ ตด

แม้ภาวะท้องเฟ้อ เรอ ตด จะเป็นเพียงอาการ ซึ่งไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากพบความผิดปกติร่วมกับอาการอื่นๆ อาจบ่งบอกถึงโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ในระบบทางเดินอาหาร หรืออาจพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ ได้ ดังนั้นควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ   

สำหรับผู้ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคที่อันตราย แพทย์อาจรักษาโดยการให้รับประทานยาแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหาร  รวมถึงนัดเพื่อติดตามอาการเป็นระยะ 

ท้องอืด-ท้องเฟ้อ-เรอบ่อยๆ ปล่อยไว้หรือต้องไปหาหมอ!!

5 อาหารที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร

1 ธัญพืชเต็มเมล็ด

Whole Grains เป็นธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี มีส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเมล็ดและจมูกข้าวอยู่ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ควินัว และข้าวบาร์เลย์ หรือตัวอย่างอาหารที่ประกอบด้วยธัญพืชไม่ขัดสีก็เช่น ขนมปังและเส้นพาสต้าชนิดโฮลวีต 

การบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดจะให้ใยอาหาร (Fiber) สูงกว่าธัญพืชที่ขัดสีจนขาว โดยธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีมีปริมาณใยอาหาร 4–10 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งใยอาหารจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้อาหารไม่ค้างอยู่ในลำไส้นานและทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น จึงช่วยป้องกันท้องผูกและอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ได้

จากข้อมูลปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 แนะนำว่าผู้ใหญ่ควรได้รับใยอาหารประมาณ 25 กรัมต่อวัน สำหรับเด็กให้คิดจากจำนวนอายุ (ปี) +5 เช่น เด็กอายุ 5 ปี ควรได้รับใยอาหาร 5+5 = 10 กรัม  

2 ผักใบเขียว

ผักใบเขียวเป็นอาหารบำรุงระบบย่อยอาหารที่ให้สารอาหารหลายชนิด เช่น ผักโขม ผักเคล คะน้า ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ปวยเล้ง และกวางตุ้ง เป็นแหล่งของสารอาหารหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นใยอาหาร โฟเลต แมกนีเซียม วิตามินเอ ซี และเค การกินผักใบเขียวเป็นประจำมีส่วนช่วยเสริมแบคทีเรียชนิดดีในระบบทางเดินอาหาร กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และช่วยในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

3 ผลไม้

ผลไม้เป็นอาหารบำรุงระบบย่อยอาหาร เพราะเป็นอาหารบำรุงระบบย่อยอาหารอีกชนิดที่ไม่ควรพลาด เพราะประกอบด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยผลไม้ที่ช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เช่น

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บลูเบอร์รี่แบลคเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งมีใยอาหารสูง

แอปเปิ้ล ประกอบด้วยสารเพคติน (Pectin) ซึ่งเป็นใยอาหารรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี

มะละกอ มีเอนไซม์ปาเปน (Papain) ที่ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยย่อยสลายโปรตีนจากอาหารที่เรากินให้มีขนาดเล็กลง และอาจช่วยลดอาการของโรคลำไส้แปรปรวนเช่น ท้องผูกและท้องอืดได้

กล้วย เป็นผลไม้ที่ย่อยง่ายและดีต่อระบบย่อยอาหาร เป็นแหล่งของโพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี และวิตามินซี โดยกล้วยหอม 1 ผลกลางประกอบด้วยใยอาหารประมาณ 3 กรัม

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการปวดท้องควรจำกัดปริมาณการกินผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เลมอน และเกรปฟรุต (Grapefruit) เนื่องจากผลไม้เหล่านี้มีความเป็นกรดที่อาจทำให้ไม่สบายท้องได้

4 โปรตีนและไขมันดี

อาหารประเภทโปรตีนหลายชนิดจัดเป็นอาหารบำรุงระบบย่อยอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดดีที่อาจช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียและลดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลาแซลมอน เต้าหู้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ และถั่วพีแคน

5 อาหารที่มีโพรไบโอติกส์

โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์และให้ประโยชน์แตกต่างกันไป แต่หลายสายพันธุ์และให้ประโยชน์แตกต่างกัน สายพันธุ์ที่มักพบในอาหาร ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) 

หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในทางเดินอาหาร โดยตัวอย่างอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง เช่น โยเกิร์ตและอาหารหมักดองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิมจิ ถั่วหมัก คีเฟอร์ คอมบูชา และเทมเป้ เป็นต้น 

เคล็ดลับเสริมความแข็งแรงให้ระบบย่อยอาหาร

นอกจากการกินอาหารบำรุงระบบย่อยอาหารแล้ว การปรับพฤติกรรมการกินอาหารจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ตามปกติและช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ดังนี้

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร กระตุ้นการขับถ่าย และช่วยให้อุจจาระนิ่ม
  2. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันไม่ดีและน้ำตาลสูง เช่น อาหารทอด ขนมหวาน และน้ำอัดลม ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยยากและอาจผลิตสารที่เป็นอันตรายในทางเดินอาหารได้
  3. จำกัดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อแปรรูป
  4. ผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
  5. ผู้ที่มีอาการปวดท้อง ควรงดอาหารที่มีรสเปรี้ยวและเผ็ดจัด เพราะอาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้องมากขึ้น
  6. ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นกรด เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว มะเขือเทศ และน้ำอัดลม
  7. ผู้ที่มีภาวะลำไส้แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการกินหอมใหญ่และอาหารประเภทข้าวและแป้ง
  8. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ไม่สบายท้อง ท้องอืด และท้องเสีย 
  9. เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีเลิกบุหรี่
  10. ปรุงอาหารให้สุก เพื่อป้องกันท้องเสียที่อาจเกิดจากเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร และเลือกวิธีทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ต้ม นึ่ง และตุ๋น แทนการผัดและทอด
  11. เคี้ยวอาหารช้า ๆ ซึ่งช่วยลดเวลาการย่อยอาหาร

แม้ว่าการดูแลระบบย่อยอาหารให้มีสุขภาพดีอาจดูยุ่งยากสำหรับบางคน แต่การเลือกกินอาหารบำรุงระบบย่อยอาหารในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย และเสริมให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง หากมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาการในระบบย่อยอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุและอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

 

logoline