svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

รวมลิสต์อาหารกินบำรุงตับ-ถนอมไต เพื่ออายุขัยที่ยืนยาว

05 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีส่วนช่วยล้างพิษตับ ป้องกันและชะลอการเกิดโรค พร้อมแนะวิธีเลือกกินอาหารของผู้ป่วยโรคไต กินอย่างไรให้ไตอยู่นาน

ตับและไต สำคัญไฉน?

ทั้ง “ตับ” และ “ไต” เป็นอวัยวะที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญมากในร่างกายมนุษย์ โดย “ตับ” นับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้อง มีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ในแต่ละวันเลือดในร่างกายของคนเราซึ่งมีอยู่ราวๆ 5 ลิตรจะไหลผ่านตับรอบแล้วรอบเล่าถึง 360 รอบ ซึ่งหากวัดปริมาณเลือดที่ผ่านตับก็จะมากถึงวันละ 1,800 ลิตรเลยทีเดียว

หน้าที่หลักๆ ของตับจะเกี่ยวกับการควบคุมสารอาหาร สังเคราะห์โปรตีน และผลิตสารชีวเคมีที่จำเป็นในกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็น

  • การย่อยสารอาหาร ตับจะนำสารอาหารที่ได้รับการย่อยมาแล้วในระดับหนึ่งเปลี่ยนให้เป็นสารอาหารที่จำเป็น และเหมาะกับการใช้ในแต่ละอวัยวะ เช่น สร้างโปรตีนอัลบูมิน หรือโปรตีนไข่ขาวที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • การสะสมอาหาร ตับจะสำรองสารอาหารไว้ใช้ในเวลาที่ร่างกายต้องการ เช่น เก็บน้ำตาลกลูโคสไว้ในตับ ทันทีที่ร่างกายต้องการพลังงานอย่างรวดเร็ว ตับก็จะส่งกลูโคสนี้ออกมา นอกจากนี้ตับยังเป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ อีกด้วย
  • การกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย ตับจะขับของเสียออกมาในรูปแบบของน้ำดีส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งบางส่วนของน้ำดีจะเป็นของเสีย และบางส่วนจะทำหน้าที่ช่วยย่อยไขมันในลำไส้เพื่อดูดซึมสารอาหาร และวิตามินเอ ดี อี และเค มาใช้ด้วย

รวมลิสต์อาหารกินบำรุงตับ-ถนอมไต เพื่ออายุขัยที่ยืนยาว

สำหรับ “ไต” จะมีลักษณะคล้ายเม็ดถั่วเหลือง ขนาดราวกำปั้นหรือโตกว่าเล็กน้อย ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องกรองของเสียโดยขับออกมาเป็นปัสสาวะ มีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

  • ขับถ่ายของเสีย หน้าที่หลักของไตคือการขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกาย ของเสียที่ไตขับออกมาจะอยู่ในรูปของยูเรีย ครีอะตินิน กรดยูริก และสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ ถ้าไตเสื่อมหรือทำงานได้ไม่ดีจะทำให้ของเสียเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป ระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะเกิดปัญหา
  • กระตุ้นการทำงานของวิตามินดี ไตมีหน้าที่กระตุ้นวิตามินดีให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิตามินดีนี้เองจะช่วยให้ร่างกายดูซึมแคลเซียมไปใช้ได้ดีขึ้นด้วย และวิตามินดียังช่วยควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต และควบคุมการสะสมแคลเซียมในกระดูก
  • กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนอิริโทโพอิติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยให้ร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะโลหิตจาง
  • สร้างสารเรนิน ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่หลั่งจากไตเข้าไปในกระแสเลือด ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้คงที่ สามารถนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้เพียงพอ

รวมลิสต์อาหารกินบำรุงตับ-ถนอมไต เพื่ออายุขัยที่ยืนยาว

เลือกกินอะไรช่วยล้างพิษตับ

  • ผักใบเขียว ไม่ว่าจะเป็นผักโขม ผักกาดหอม รวมถึงผักใบเขียวชนิดอื่นๆ มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดโลหะหนักในตับและชะล้างสารเคมีที่สะสมในตับ โดยเฉพาะสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงที่ร่างกายมักจะได้รับจากการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด
  • ชาเขียว ถือว่าเป็นมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างดีเยี่ยม ช่วยในเรื่องของการบำรุงตับด้วย แถมยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันมะเร็งตับได้เป็นอย่างดี
  • ผักประเภทหัว อาทิ กะหล่ำ บล็อกโคลี มันเทศ ที่มีกลูโคโซโนเลต สารอาหารที่หาได้จากพืชผัก แต่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการผลิตเอนไซมน์ในตับอ่อนเพื่อช่วยต่อต้านสารพิษ และยังมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อย ที่สามารถล้างสารพิษออกจากตับได้ดี
  • ลิ้นจี่ อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน กลูโคส ซูโครส วิตามิน เอ, บี, และกรดซิตริก โดยตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ลิ้นจี่ถือเป็นผลไม้ทีมีฤทธิ์อุ่น ช่วยบำรุงตับและบรรเทาอาการตับอักเสบได้คำแนะนำคือ ผู้ที่มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ ปวดฟัน หรือท้องผูกไม่ควรรับประทานลิ้นจี่ในปริมาณที่มาก เพราะลิ้นจี่มีฤทธิ์อุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้อาหารเหล่านี้ทาวีคูณนั่นเอง
  • แครอท อุดมไปด้วยวิตามินหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ, บี1, บี2, ซี, ดี และวิตามินเค รวมทั้งยังมีกรดโฟลิก ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี และทองแดง ในด้านการแพทย์แผนจีนนับว่าแครอทเป็นผักที่มีฤทธิ์อุ่น จึงช่วยบำรุงตับ บำรุงเลือด ได้ดี และช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย
  • เกรปฟรุต ผลไม้ชนิดนี้อุดมไปทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็น 2 ตัวช่วยที่สำคัญในการล้างพิษตับ และช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
  • อะโวคาโด นอกจากกรดไขมัน โอเมก้า3 และ6 ที่อุดมอยู่ในอะโวคาโดแล้ว กลูต้าไธโอนยังเป็นจุดเด่นของอะโวคาโดอีกด้วย สิ่งนี้คือสิ่งที่ช่วยดูแลตับได้เป็นอย่างดี  ช่วยล้างพิษที่สะสมในตับได้ดีเยี่ยม
  • วอลนัท สิ่งที่ตับต้องการจากวอลนัทก็คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 และกลูค้าไธโอน ตัวช่วยสำคัญในกระบวนการขับสารพิษออกจากตับ ช่วยบำรุงการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ขมิ้นชัน นอกจากช่วยขับพิษสะสมในตับแล้วสรรพคุณของขมิ้นชันบังช่วยบำรุงฟื้นฟู และล้างสารพิษออกจากตับได้ เราสามารถเลือกรับประทานขมิ้นชันแบบแคปซูลก่อนนอน เพื่อบำรุงตับ และควรกินวันละ 5,000-8,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เก๋ากี้ สุดยอดของแหล่งสารอาหาร ช่วยป้องกันไขมันพอกตับ ช่วยให้ตับทำงานได้ดีขึ้น
  • กระเทียม เนื่องจากมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ตัวที่ช่วยขับสารพิษออกไป อีกทั้งกระเทียมยังมีสารอัลลิซิน และซีลีเนียม สององค์ประกอบนี้เป็นส่วนสำคัญจากธรรมชาติที่ช่วยดีท็อกซ์พิษตับออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ
  • มะขามป้อม ซึ่งวิตามินซีในมะขามป้อมจะช่วยรักษาอาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันการเกิดพิษโลหะหนักในตับ และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับได้

นอกจากนั้นอย่าลืมที่จะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอย่างแอลกอฮอล์และมลพิษทางอากาศหรือสารพิษต่างๆ

จำแนกอาหารสำหรับผู้ป่วยเกี่ยวกับตับ 3 ประเภท ได้แก่

1 อาหารบำบัดโรคตับอักเสบ ขณะที่ผู้ป่วยเบื่ออาหารอาจช่วยได้โดยให้อาหารเหลวแต่มีคุณค่ามาก เช่น อาหารที่ทำจากไข่ นม น้ำตาล ไอศครีม เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น จัดอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนให้

2 อาหารบำบัดโรคตับแข็ง แพทย์จะสั่งเพิ่มหรือลดปริมาณโปรตีนให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

  • ระยะแรกของการเป็นตับแข็งที่ยังไม่มีผลทางสมอง สามารถได้รับปริมาณโปรตีน หรือเนื้อสัตว์ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปประมาณวันละ 6 - 12 ช้อนโต๊ะ
  • ตับแข็งที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย จะลดให้มาเหลือประมาณวันละ 2 - 3 ช้อนโต๊ะ หรืองดโปรตีนไประยะหนึ่ง
  • เลือกรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่มีโปรตีนต่ำ เช่น วุ้นเส้น แป้งซาหริ่ม เส้นเซี่ยงไฮ้ แป้งสาคู แป้งมัน

3 อาหารบำบัดโรคมะเร็งตับช่วงแรก ควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากเนื้อสัตว์ บริโภคไขมันแต่น้อย เพื่อป้องกันภาวะแน่นท้อง ท้องอืด เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร หากมีอาการบวมน้ำ รับประทานคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าว น้ำหวาน (เพิ่มได้ในรายที่ไม่เป็นเบาหวาน) ไม่ควรบริโภคธัญพืช ผักใบเขียวมากเกินไป เพราะจะเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทควรปรึกษาแพทย์

รวมลิสต์อาหารกินบำรุงตับ-ถนอมไต เพื่ออายุขัยที่ยืนยาว

เลือกกินอาหารอย่างไร ช่วยถนอมไต ชะลอโรค

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรได้รับพลังงาน 35-40 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทั้งยังต้องการสารอาหารโปรตีนสูงกว่าคนธรรมดาประมาณ 1.2-1.3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขณะที่คนทั่วไปควรได้รับโปรตีนวันละ 0.8-1.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งอาหารจำพวกโปรตีนที่แนะนำให้ผู้ป่วยทานควรเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์และไข่ขาวประมาณร้อยละ 60 เนื่องจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นเป็นโปรตีนชนิดที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย เนื้อสัตว์ที่ผู้ป่วยควรทานต้องเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเพื่อหลีกเลี่ยงไขมันที่มาจากสัตว์

ผู้ป่วยต้องการดื่มนมแทนเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ควรดื่มมชนิดพร่องมันเนยที่มีไขมันต่ำแทน นมสดพร่องมันเนย 1 แก้ว หรือ 240 มิลลิกรัม จะได้โปรตีน 8 กรัม และพลังงาน 120 กิโลแคลอรี่

อาหารจำกัดโซเดียม การจำกัดโซเดียมใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวม ถ่ายปัสสาวะน้อย หัวใจวาย น้ำท่วมปอด หรือมีความดันโลหิตสูง

อาหารที่มีโซเดียมมาก

  • อาหารที่มีรสเค็ม เช่น หมูเค็ม เบคอน ไส้กรอก ผักดอง มัสตาร์ด และเนยแข็ง เกลือป่น เกลือเม็ด น้ำปลา น้ำบูดู ซอสหอย ซอสเนื้อ ซอสถั่ว ซีอิ๊ว  ซอสที่มีรสอื่นนำและมีรสเค็มแผง เช่น ซอสพริกซึ่งมีรสเปรี้ยวและเผ็ดนำความจริงมีรสเค็มด้วย ซอสมะเขือเทศ ซอสรสเปรี้ยวๆ เป็นต้น
  • เครื่องปรุงรสที่มีเกลือมาก เช่น ซุปก้อน ผงชูรส ผงฟู
  • อาหารหมักดองเค็ม อาหารตากแห้ง เช่น เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ ผักดองเค็ม ผลไม้ดองเค็ม ปลาเค็ม หอยเค็ม ปลาแห้ง เต้าหู้ยี้ ปลาร้า ไตปลา ไข่เค็ม
  • อาหารดองเปรี้ยว เช่น หลาเจ่า แหนม ไส้กรอกอีสาน หัวหอมดอง หน่อไม้ดอง ผัดกาดเขียวดองเปรี้ยว ผักดองสามรส กระเทียมดองสามรส เป็นต้น
  • อาหารที่มีรสหวานและเค็มจัด เนื้อสัตว์ปรุงรส เช่น ปลาหวาน กุ้งหวาน หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ผลไม้แช่อิ่ม เป็นต้น
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กซอง ซุปซอง ข้าวเกรียบ ข้าวตังปรุงรส มันฝรั่ง

แนวทางปฏิบัติ

หลีกเลี่ยงการใช้น้ำปลา โดยอาจเติมซีอิ้วขาวเพียงเล็กน้อยแทน ไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาหรือเครื่องปรุงะไรจากอาหารที่ปรุงเสร็จเพราะในอาหารปกติที่ทานอยู่ก็จะมีโซเดียมอยู่มากพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะอาหารทะเล นม ไข่

รวมลิสต์อาหารกินบำรุงตับ-ถนอมไต เพื่ออายุขัยที่ยืนยาว อาหารจำกัดโปแตสเซียม

เนื่องจากโปแตสเซียมถูกขับออกทางไต ไตเสื่อมทำให้เกิดการคั่งของโปแตสเซียม ผู้ป่วยไตวายมักจะมีการคั่งของโปแตสเซียม ถ้าระดับโปแตสเซียมสูงมาก อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ หากต้องการรับประทานผลไม้ ควรรับประทานก่อนการฟอกเลือด การจัดอาหารให้มีโปแตสเซียมน้อย กระทำได้ยากกว่าการจัดให้มีโซเดียมน้อย เพราะธาตุโปแตสเซียมมีในอาหารทั่วไปทั้งสัตว์และพืช ต่างจากโซเดียมซึ่งมีมากแต่ในสัตว์ เช่น เนื้อ นม ไข่ อาหารที่มีโปแตสเซียมมาก

  • จำพวกเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ เครื่องในสัตว์ ไข่ และนม  
  • จำพวกผัก ได้แก่ หัวปลี ผักชี ต้นกระเทียม หัวผักกาดสีแสด ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม บร๊อคโคลี่ แครอท มันเทศ ผักบุ้ง เห็ดฟาง มะเขือพวง มะเขือเปราะ ใบแมงลัก โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง หอมแดง ผักปวบเล้ง มันฝรั่ง มะเขือเทศ ดอกกระหล่ำ
  • ผักที่มีโปแตสเซียมปานกลาง ได้แก่ เห็ดนางฟ้า แตงกวา ฟักเขียว พริกฝรั่ง หัวผักกาดขาว มะเขือเทศสีดา ผักกาดขาวใบเขียว พริกหยวก
  • ผักที่มีโปแตสเซียมน้อย ได้แก่ บวบเหลี่ยม ถัวพู หอมหัวใหญ่ ส่วนผักที่มีโปแตสเซียมน้อยที่สุด คือ เห็ดหูหนู
  • ถั่วต่างๆ ถั่วดำ และถั่วปากอ้าซึ่งมีมากเป็นพิเศษ เมล็ดทานตะวัน
  • จำพวกผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูง ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าว กล้วย ลำไย
  • ผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูงปานกลาง ได้แก่ ฝรั่ง มะขาม กระท้อน ส้ม ลางสาด องุ่น มะม่วง มะละกอสุก ลิ้นจี่ ละมุด ขนุน ลูกพรุน ลูกเกด ลูกท้อ
  • ผลไม้ที่มีโปแตสเซียมปานกลาง เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง มะละกอสุก มะม่วงสุก มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิลแดง สตรอเบอรี่ ลางสาด แคนตาลูป เงาะ ขนุน ผลไม้แห้งทุกชนิด เช่น ลูกเกด ลูกพรุน เบ็ดเตล็ด กากน้ำตาล ช็อกโกแล็ต มะพร้าวขูด
  • ผลไม้ที่มีโปแตสเซียมต่ำ รับประทานได้ค่อนข้างมาก เช่น แตงโม และสับปะรดกระป๋อง
  • ผักและผลไม้ที่พอรับประทานได้ แต่ปริมาณไม่มาก ได้แก่ ถั่วพู ถั่วผักยาว มะเขือยาว หน่อไม้ตรง ผักคะน้า ถั่วลันเตา มะระ หัวผักกาดขาว มะม่วง มะละกอ องุ่น แตงโม แอปเปิล ชมพู่

แนวทางปฏิบัติ

เมื่อผู้ป่วยต้องกินอาหารจำกัดโปแตสเซียม ต้องจำกัดอาหารทั้งพวกเนื้อสัตว์ พวกผัก และผลไม้ประเภทที่มีโปแตสเซียมสูงๆ โปแตสเซียมเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะโปแตสเซียมสูง จึงต้องมีการควบคุมการทานโปแตสเซียมให้น้อยลง

อาหารประเภทไขมัน

ไขมันเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและให้พลังงานสูง ไขมันจากอาหารมีทั้งชนิดที่ดี เช่น ไขมันไม่อิ่มตัว (น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว) และไขมันที่ไม่ดี เช่น ไขมันอิ่มตัว (น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว กะทิ ไขมันวัวหมูสามชั้น เนย ชีส) ถ้ารับประทานไขมันชนิดไม่ดีมากเกินจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือด และหัวใจตามมาได้อาหารไขมันสูงที่ควรหลีกเลี่ยง น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน หมูสามชั้น หนังหมู หนังไก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ปลาหมึก ปู กุ้ง หอยนางรม เนย

อาหารฟอสฟอรัส  

ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่มีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก ไตที่ปกติจะขับฟอสฟอรัสออกได้ แต่เมื่อมีไตเสื่อมการขับฟอสฟอรัสจะลดน้อยลง ทำให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมระยะที่ 3 – 5 หรือ ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนย คุกกี้ ขนมปัง ไอศกรีม นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มชง และน้ำอัดลมเป็นต้น

การดื่มน้ำน้ำเปล่า ถือเป็นสิ่งที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด แต่หากเป็นไตวายระยะสุดท้ายที่มีปัสสาวะออกลดลงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดน้ำดื่ม ไม่ให้เกิน 700 – 1,000 ซีซี ต่อวัน เพราะความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตในระยะท้ายนั้นจะลดลง อาจกระตุ้นอาการบวมน้ำและน้ำท่วมปอดได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไตเรื้อรังควรพบแพทย์และกินตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดในปริมาณที่เหมาะสมเพราะร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามอย่าขาดการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่หลากหลายหลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูงไขมันสูง ลดการปรุงให้ได้มากที่สุดเพื่อชะลอโรคไตไม่ให้ลุกลามรุนแรงได้

logoline