svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

ส่องอันตรายอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน!!

05 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดประโยชน์ที่แท้จริงของ “ฟอร์มาลีน” พร้อมเผยอันตรายของการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ วิธีสังเกตเพื่อความปลอดภัย และบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้สารฟอร์มาลีนในอาหาร

สะเทือนใจคนรักหมูกระทะ เมื่อกรมปศุสัตว์บุกตรวจจับร้านลักลอบผลิตเนื้อสัตว์และเครื่องในแช่น้ำฟอร์มาลีนกว่ารวม 25 ตัน มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท แถมส่งขายร้านหมูกะทะ ร้านอาหารอีสานในพื้นที่ จ.ชลบุรี และใกล้เคียง ในมุมของผู้บริโภคอย่างเราสิ่งที่ทำได้คือการสังเกตอาหารที่ทานและเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อสุขภาพและอนามัยของตัวเอง

ดี-ร้าย...เหรียญสองด้านของ “ฟอร์มาลีน”

ฟอร์มาลีนเป็นสารมีพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ มีส่วนประกอบหลักคือ ฟอร์มาลดีไฮด์ 37% ลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน และมีฤทธิ์ระคายเคือง ในปัจจุบันมีการนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อให้อาหารสดคงความสดได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย คนส่วนใหญ่จะรู้จักฟอร์มาลินในเชิงการแพทย์ที่เราทราบกันดีว่าเอาไว้ใช้ในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้เป็นยาดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรคเพราะทำให้โปรตีนแข็งตัว ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราในการเก็บรักษาธัญพืชหลังการเก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลง แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร โดยถือเป็นการใช้งานผิดประเภท

ฟอร์มาลีนเจือปนในอาหารได้อย่างไร?

มีรายงานจากประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น และอิตาลี ว่าในผักผลไม้บางชนิดและเนื้อสัตว์บางประเภท โดยเฉพาะสัตว์ทะเลและเห็ดหอมมีปริมาณของฟอร์มาลดีไฮด์ในธรรมชาติสูง แต่อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ฟอร์มาลีนที่มีในธรรมชาติหรือที่มาจากปุ๋ยและสารฆ่าแมลงส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้อยมาก คือ ไม่เกิน 1 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ในขณะที่ฟอร์มาลีนที่จงใจฉีดหรือแช่ในผักหรือเนื้อสัตว์นั้น หากใช้ปริมาณมากเกินไปและมีตกค้างย่อมเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแน่นอน

ปัจจุบัน ประเทศไทยตรวจพบบ่อยครั้งว่ามีการใช้ฟอร์มาลีนแช่ผักปลาและเนื้อสัตว์บางอย่างก่อนนำมาขาย เพื่อให้มีความสดและไม่เน่าเสียเร็ว เพราะด้วยความไม่รู้ถึงอันตรายของสารชนิดนี้ นอกจากนี้ ยังนำฟอร์มาลีนมาใช้กับผักหลายชนิดแทนการใช้สารฆ่าแมลง โดยเฉพาะผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา หน่อไม้ ยอดมะพร้าว และอื่นๆ โดยอ้างว่าใช้ฆ่าแมลงบนผักได้ดีและยังทำให้ผักสดอยู่ได้นาน อีกทั้งราคายังถูกกว่าสารฆ่าแมลงชนิดอื่นด้วย นอกจากการปนเปื้อนฟอร์มาลีนจะมาจากการฉีดพ่นผักเพื่อฆ่าแมลงแล้ว บางครั้งฟอร์มาลีนอาจมาจากปุ๋ยก็ได้

ส่องอันตรายอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน!!

ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อกินอาหารที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลีน

อ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อเราทานอาหารที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลีนเข้าไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณ ซึ่งจริงๆ แค่เราได้กลิ่นก็จะมีอาการฉุน แสบคอ เกิดอาการผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจได้แล้ว บางคนทานเข้าไปจนเกิดอาเจียน เสียเลือดมากจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี เพราะทางเดินอาหารเกิดการไหม้จากสารฟอร์มาลีนที่มีความเป็นกรด หรือเมื่อได้รับในปริมาณที่เข้มข้นก็จะทำให้เลือดเป็นกรด เกิดภาวะช็อก ความดันตก และตามมาด้วยการเสียชีวิต แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหากจะเกิดอาการรุนแรงอย่างที่ว่านี้ได้ มักจะมาจากเหตุจงใจหรือการทำร้ายตัวเองมากกว่า

ความร้ายแรงของฟอร์มาลีนกับสุขภาพ

  • ระยะเฉียบพลัน อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นด้วยปัจจัยส่วนบุคคล รวมถึงสารเคมีที่ได้รับด้วย
  • อาการระยะสั้น หากสูดเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักแสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้
  • ผลต่อระบบผิวหนัง คือทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง
  • หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
  • ผลระยะยาว สารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลีน เป็นสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย

ส่องอันตรายอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน!!

เตือนอาหารสดเกินไปเสี่ยงมีสาร “ฟอร์มาลีน”

วิธีสังเกตในการเลือกซื้ออาหารสด หรือตรวจสอบว่ามีสารฟอร์มาลีนหรือไม่ เบื้องต้นให้เราดูว่าร้านอาหารนั้นๆ มีกลิ่นฉุนของสารเคมีแปลกๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะอาหารทะเล และเนื้อสัตว์ อย่างปลาหมึก และแมงกะพรุน รวมถึงอาหารทะเลประเภทอื่นๆ เช่น ปลาหมึกกรอบ สไบนาง และเล็บมือนาง เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้มีการเน่าเสียง่าย เช่น หากซื้อเนื้อกุ้งมีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในตัวเดียวกัน แสดงว่าต้องมีการแช่ฟอร์มาลีนมาอย่างแน่นอน ให้หลีกเลี่ยงในการซื้อมาบริโภค เพราะหากเป็นอาหารสดต้องสดเสมอกัน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเปื่อยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแข็งสด

อีกวิธีคือใช้ชุดตรวจสารฟอร์มาลีนในอาหาร เมื่อทำครบตามขั้นตอนผลที่ได้ คือน้ำจะมีสีชมพูแดง แสดงว่าอาหารนั้นมีสารฟอร์มาลีน ก็จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอาหารสดที่มีสารอันตรายเหล่านีได้อีกทางหนึ่ง และอีกวิธีที่ช่วยลดความเข้มข้นของสารเคมีได้ คือการผสมด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ดกับน้ำ 4 ลิตร แช่เนื้อสัตว์หรือผักทิ้งไว้ 5-10 นาที ก็เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายๆ เพื่อลดสารตกค้างในอาหารก่อนปรุง

ส่องอันตรายอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน!! บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้สารฟอร์มาลีนในอาหาร

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขขอแจ้งว่า ฟอร์มาลีนสามารถเกิดในสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอยู่แล้วในปริมาณหนึ่ง ซึ่งเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุความแตกต่างระหว่างฟอร์มาลินที่เกิดตามธรรมชาติ และที่ตั้งใจเติมลงไปในอาหารเพื่อหวังผลในด้านการเก็บรักษาได้ ดังนั้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าการใช้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลินในอาหารไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย

logoline