svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'ปวดหัวเรื้อรัง' ฝังโรคร้ายอะไรได้บ้าง?

02 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไขข้อข้องใจ “ปวดหัวเรื้อรัง” อันตรายแค่ไหน! สันนิษฐานว่าเป็นอะไรได้บ้าง! แล้วอาการปวดแบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์

เป็นข่าวสุขภาพที่น่าสนใจ เมื่อนายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์  เปิดเผยเรื่องราวของชายวัย 60 ปี  ที่มีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องมากว่า 1 ปี  คิดว่าตนเองปวดหัวจากภาวะเครียด หรือการทำงานที่เหนื่อยล้า จึงกินยาแก้ปวดพาราเพื่อบรรเทา พอนานวันอาการปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องกินยาพาราบ่อยขึ้น ต่อมาเริ่มมีตาพร่ามัว และสังเกตตนเองว่าเวลาปวดหัวมักมีอาการหูอื้อตามมาด้วย จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หมอแนะนำให้ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เพราะสงสัยอาจมีความผิดปกติทางสมอง ผลตรวจพบเป็นเนื้องอกในสมอง ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร จึงส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ระบบประสาท ที่ รพ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อวางแผนผ่าตัดทันที

ล่าสุด แพทย์ใช้เวลาผ่าตัดกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อเอาเนื้องอกในสมองออก ผลการผ่าตัดสำเร็จด้วยดี หลังผ่าตัด ไม่มีแขนขาอ่อนแรง ไม่ปวดศีรษะ ตามองเห็นชัดดี อาการหูอื้อลดลง จนหายเกือบเป็นปกติ ทั้งนี้หากพบอาการปวดหัวเรื้อรัง  มีอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน พูดลำบาก พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ไม่ควรชะล่าใจ รีบปรึกษาแพทย์ทันที

'ปวดหัวเรื้อรัง' ฝังโรคร้ายอะไรได้บ้าง? “ปวดหัวเรื้อรัง” สัญญาณอันตรายโรคร้ายฝังลึก

โรคปวดศีรษะ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและพบมากที่สุด โดยเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ ตำแหน่งที่ปวดศีรษะที่พบบ่อยคือ ตำแหน่งบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง บางครั้งร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะและต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ร่วมด้วย เป็นภาวะที่สัมพันธ์กับท่าทางการทำงานหรือความเครียด

อาการแบบไหนเรียกว่า “ปวดหัวเรื้อรัง”

อาการปวดหัวเรื้อรังเป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน โดยมักมีอาการปวดที่ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นการปวดหัวที่เกิดจากความเครียด ไมเกรน การกินยาแก้ปวดเกินขนาด การใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากโรคต่างๆ ภายในร่างกาย ทำให้เกิดเป็นอาการปวดหัวเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วน “ไมเกรน” จัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการหดและขยายตัวของเส้นเลือด จะมีอาการปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ อาจจะปวดสลับกันได้ ระหว่างข้างซ้ายหรือข้างขวาในแต่ละรอบ และเวลาปวดบางครั้งอาจจะมีปวดร้าวเข้ามาที่กระบอกตาร่วมด้วย คนไข้ก็จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และขณะที่มีอาการปวด ถ้าอยู่ในที่แสงสว่างจ้ามากเกินไป เสียงดังหรือว่ากลิ่นฉุนมากเกินไปอาการจะแย่ลง

ปวดหัวเรื้อรัง บอกถึง “ความผิดปกติ” อะไรได้บ้าง

อาการปวดหัวเรื้อรัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1 ปวดหัวเรื้อรังแบบเป็นอันตราย โดยอาการปวดหัวดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง ฯลฯ ซึ่งต้องได้รับการตรวจรักษาโดยด่วน

2 ปวดเรื้อรังแบบไม่เป็นอันตราย แต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน คืออาการปวดหัวที่เกิดขึ้นจากความเครียด การทำงาน อาการตึงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

'ปวดหัวเรื้อรัง' ฝังโรคร้ายอะไรได้บ้าง? “ปวดหัวเรื้อรัง” อันตรายหรือไม่ ?

อาการปวดหัวที่เกิดจาก การปวดหัวไมเกรน ปวดหัวจากความเครียด การใช้ความคิด เกิดความตึงของกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นอาการปวดหัวที่ไม่ได้เป็นอันตราย

แต่ถ้ามีอาการปวดหัวแบบรุนแรงมากหรือรุนแรงที่สุดในชีวิตที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมักมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน การได้ยินลดลง หรือชักเกร็ง กระตุก เดินเซ หรือคอแข็ง หรือมีอาการปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน นั่นอาจเป็นอาการของโรคอื่นที่แอบแฝง เช่น เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น

'ปวดหัวเรื้อรัง' ฝังโรคร้ายอะไรได้บ้าง? ผลกระทบของการซื้อยามากินเอง

หลายคนมักคิดว่าแค่อาการปวดหัวซื้อยามากินก็หาย หรือเป็นแค่อาการปวดตึงกล้ามเนื้อ แค่ไปนวดเดี๋ยวอาการก็ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วการที่เรารักษาเองอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ใช้ยาเกินขนาดจนส่งผลต่อตับและไต หรือกระทั่งการนวดคลายกล้ามเนื้อที่รุนแรง จนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเลือดบาดเจ็บกลายเป็นปัญหาปวดหัวเรื้อรัง

ปวดหัวแบบนี้ควรรีบพบแพทย์

  • ปวดหัวรุนแรงขึ้นแบบทันทีทันใด
  • ปวดหัวพร้อมกับมีไข้และคอแข็งร่วมด้วย
  • ปวดหัวร่วมกับอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ปากเบี้ยว เป็นต้น
  • อาการปวดหัวในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV
  • ปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ทั้งนี้ อาการปวดหัวเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ที่สำคัญควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่แฝงอยู่ในร่างกายอันตรายถึงชีวิต
ป้องกันการปวดหัวได้ดีที่สุด คือการ “ดูแลตัวเอง”

หมั่นสังเกตตัวเองว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เพราะสิ่งกระตุ้นของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป เมื่อรู้แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น และหากพบว่าอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติไปจากการปวดหัวทั่วไป ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา อย่าปล่อยนานจนทุกอย่างสายเกินจะแก้ไข

 

logoline