svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รวมทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์

01 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

1 ธันวาคม : วันเอดส์โลก ร่วมรณรงค์ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” ทำความเข้าใจในโรคเอดส์และเชื้อ HIV พร้อมเช็กสถานที่ใช้สิทธิตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง

ที่มาของวันเอดส์โลก

วันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ตรงกับวัน 1 ธันวาคมของทุกปี ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยโรคเอดส์ เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะนั้นจะรู้จักเพียงเฉพาะกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ต่อมามีการแพร่ระบาดโรคนี้ไปอย่างรวดเร็วและทั่วโลก จนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนเป็นที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา

รวมทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์

ผู้ป่วยรายแรกของโลก

ผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกของโลก เป็นชายรักร่วมเพศป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อ นิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน ผลการตรวจพบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ พบว่าโรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบอัฟริกาตะวันตกในปี พ.ศ. 2503 และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเซียรวมทั้งประเทศไทย ในเวลาต่อมาต่อมา Levy นายแพทย์ชาวอเมริกัน สามารถแยกเชื้อจากต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วย เป็นการต่อยอดการทดลองของ Luc Montagnier และตั้งชื่อว่า AIDS related virus ซึ่งต่อมามีชื่อสากลว่า Human Immounodeficiency Virus หรือ HIV

 

เอชไอวี (HIV) กับ เอดส์ (AIDS) แตกต่างกันอย่างไร ? 

HIV ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus เชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ โดยเชื้อเอชไอวี จะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกายเวลาที่เราเจ็บป่วย

AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีบั่นทอนให้อ่อนแอลง จนถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆได้อีก จนเริ่มติดเชื้อ หรือเกิดเป็นโรคต่างๆ

สรุปง่ายๆ คือ HIV เป็นไวรัสต้นกำเนินที่มำให้เกิดโรคเอดส์ ซึ่งไวรัสเอสไอวีจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่เป็นระบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเอดส์ ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมานั่นเอง ดังนั้น ใครที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะเป็นโรคเอดส์ เพราะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยร่วมด้วยนั่นเอง

รวมทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์

โรคเอดส์ในประเทศไทย

สำหรับผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยนั้น เป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปี พ.ศ. 2526 ได้รับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Carinii แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในช่วง ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปี พ.ศ. 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบให้มีคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับโรคเอดส์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

ความสำคัญของวันเอดส์โลก

เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 เป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ คือ

  • เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์
  • เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ
  • เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
  • เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ
  • เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

คำขวัญวันเอดส์โลกในปี 2022

Putting Ourselves to the Test: Achieving Equity to End HIV แปลความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า ร่วมใจตรวจโรคเอดส์ รู้เท่าทันเพื่อหยุดเชื้อ HIV 

รวมทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์

โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร ?

1. การร่วมเพศกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือชายกับหญิง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติ ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคร้ายนี้ จากข้อมูลกองระบาดวิทยา ระบุว่าร้อยละ 83 ของผู้ติดเชื้อเอดส์ รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์

2. การรับเชื้อทางเลือด โอกาสติดเชื้อเอดส์ พบได้ 2 กรณี คือ

  • ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยา ร่วมกับผู้ติดเชื้อ เอดส์ มักพบในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด แต่ปัจจุบันเลือดที่ได้รับการบริจาคมา จะถูกนำไปตรวจหาเชื้อเอดส์ก่อน จึงมีความปลอดภัยเกือบ 100%

3. ติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูก เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอดส์และถ่ายทอดให้ทารก ในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และภายหลังคลอด ปัจจุบันมีวิธีป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก โดยการทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์ จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์เหลือเพียงร้อยละ 8

นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางอื่นได้ แต่โอกาสมีน้อยมาก เช่น

  • การใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่ทำความสะอาด
  • การเจาะหูโดยการใช้เข็มเจาะหูร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์
  • การสักผิวหนัง หรือสักคิ้ว

ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการติดต่อโดยการสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองโดยตรง แต่โอกาสติดโรคเอดส์ด้วยวิธีนี้ต้องมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายต้องมีจำนวนมาก

วิธีป้องกันโรคเอดส์

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • รักเดียวใจเดียว มีคู่นอนเพียงคนเดียว
  • ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ จากแพทย์ก่อน
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด

ตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง 

การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-test) โดยในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ 

  • ชุดตรวจจากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที 
  • ชุดตรวจโดยใช้สารน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที

การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองมีข้อดี คือสะดวก มีความเป็นส่วนตัว สามารถตรวจและทราบผลได้ด้วยตนเอง เหมาะกับผู้ที่ต้องการรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่แต่ไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถหาซื้อชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองได้ที่ร้านขายยาทั่วไป แต่ในปัจจุบันอาจยังมีการจำหน่ายไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ 

สิทธิตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง 

สำหรับคนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทุกสิทธิ์การรักษา สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ในทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ซึ่งสามารถตรวจหาการ ติดเชื้อเอชไอวี และรู้ผลภายในวันเดียว 

ตรวจพบเชื้อ HIV ต้องทำอย่างไร 

หากพบว่า ติดเชื้อเอชไอวี ควรเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็ว (Same day ART) เพื่อให้สามารถกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จ ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงต่อการ เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา วัณโรคในปอดหรือต่อมน้ำเหลือง ปอดอักเสบ งูสวัด ตาบอดจากไวรัสขึ้นจอตา และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น  

นอกจากนี้ การคงอยู่ในระบบการรักษา โดยการกินยาอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา และสม่ำเสมอ จะทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดต่ำมากจนตรวจไม่พบเชื้อ จะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่น ส่งผลต่อการลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถใช้ชีวิต ในสังคมได้ตามปกติ 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอดส์

ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์นั้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติทั่วไป ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ควรวิตกกังวลมากไป ซึ่งหากไม่พบโรคแทรกซ้อนจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีกหลายปี โดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารได้อย่างครบถ้วน
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องมีเพศสัมพันธ์ ให้ป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยเสมอ เพราะวิธีนี้จะเป็นการ
  • ป้องกันการรับเชื้อ และการแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ผู้อื่นได้
  • ทำจิตใจให้สงบผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ ไม่เครียด
  • หากเป็นหญิงไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะเชื้อเอดส์สามารถแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

สถานที่ของรัฐและคลินิกที่ให้บริการตรวจหาเชื้อ HIV ฟรี

  1. รพ.ของรัฐที่ร่วมโครงการ  รพ.ประจำจังหวัดทุกแห่ง 
  2. คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย BTS ราชดำริ , MRT สีลม โทร 02-251-6711-5 [email protected]
  3. คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โทร : 02-644-6290 เฟซบุ๊ก : silomcommunityclinic
  4. มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ SWING BTS ศาลาแดง ทางออก 1 โทร : 02-632-9502 BTS สะพานควาย โทร : 02-115-0251 เฟซบุ๊ก : swing.thailand.1
  5. พัทยา โทร 038-412-297 / 038-412-298 เฟซบุ๊ก : PATTAYA.SWING 
  6. ศูนย์การแพทย์บางรัก (คลินิกบางรัก)  BTS เซนต์หลุยส์ โทร : 02-286-2465 เฟซบุ๊ก : BangrakSTIsCenter
  7. สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย คลินิกพิเศษฟ้าสีรุ้ง ท่าเรือบางกะปิ โทร 02-731-6532-3 เฟซบุ๊ก : rsat.info 
  8. ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร  โทร : 02-203-2400 เฟซบุ๊ก : bma.health
  9. คลินิกรักษ์เพื่อน 
  • รพ.กลาง 
  • รพ.ตากสิน 
  • รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ 
  • รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินุธโร อุทิศ 
  • รพ.สิรินธร 
  • รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 
  • รพ.ราชพิพัฒน์ 
  • รพ.เวชการุณรัศม์ 

โทร : 064-231-7584 เฟซบุ๊ก : RakPuenClinic

 

logoline