เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
อีกความคืบหน้าทางวิชาการที่น่าสนใจ โดยทางด้าน ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ คุณหมอธีระ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
ภาวะสมองฝ่อหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบันมีการศึกษาโดยทำ MRI สมอง จากสหราชอาณาจักร (UK Biobank Study) ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ตั้งแต่ 7 มีนาคม 2565 และล่าสุดจากบราซิล เผยแพร่ในวารสาร PNAS เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 การศึกษา พบภาวะเนื้อสมองฝ่อ (Cortical atrophy) และความเสื่อมถอยด้านความจำ (Cognitive decline)
แม้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อก่อนสายพันธุ์ โอมิครอน แต่ก็ประมาทไม่ได้
คงต้องติดตามเรื่องผลกระทบจากสายพันธุ์โอมิครอน ต่อไปว่า จะเป็นอย่างไร ดูเงื่อนเวลาแล้วคาดว่าน่าจะมีงานวิจัยประเมินผลกระทบออกมาให้เห็นช่วงปลายปีนี้เป็นต้น
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ สำคัญมาก
และอีกโพสต์ที่น่าสนใจ โดยโพสต์ก่อนหน้านี้ ทางคุณหมอธีระ ได้เขียนถึง ภาวะลองโควิด ใจความระบุไว้ดังนี้
Long COVID ในสหรัฐอเมริกา...
ข้อมูลจากการสำรวจของ National Center for Health Statistics ล่าสุดเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ US CDC
ประชากรวัยผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และประสบปัญหา Long COVID ขณะนี้ สูงถึง 17.7%
คิดเป็นสัดส่วนถึง 7.6% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดของประเทศ
ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น พบว่าเคยประสบปัญหา Long COVID มีถึง 34.3%
...นี่คือข้อมูลของอเมริกา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่จะเป็นภาระต่อระบบสุขภาพ รวมถึงกระทบต่อคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต และการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่าย
เฉกเช่นเดียวกับที่เราเห็น overload system จาก Long COVID ในประเทศอื่นๆ เช่น ในสหราชอาณาจักร ที่เคยได้นำเสนอข้อมูลมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น หากเจอคำกล่าวอ้างที่บอกให้ไม่ต้องมากังวลเรื่อง Long COVID จิ๊บๆ เดี๋ยวก็หาย ส่วนใหญ่เป็นอาการจากการรู้สึกนึกคิดไปเอง...ถ้าเราได้ติดตามความรู้มากเพียงพอก็คงพอจะทราบได้ว่าควรเชื่อหรือไม่
ไม่เป็น ไม่ประสบ ก็จะไม่รู้สึก
หนทางชีวิต สุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตัวคุณและครอบครัว ขึ้นกับการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัว (Self protective behaviors) ความรู้เท่าทัน (Health literacy) และความใส่ใจสุขภาพ (Health consciousness)
สัจธรรมของโลกคือ วิกฤติจะไม่เกิดขึ้นสาหัส ไม่สูญเสียมากมาย หากวงการเมืองสุจริต วงนโยบายซื่อสัตย์ และวงวิชาการมีจริยธรรม
ใช้ความรู้ในการดูแลตนเองและคนที่ใกล้ชิด ใช้ชีวิตโดยไม่ประมาทนะครับ
ปิดท้ายกันที่ อีกรายงานข้อมูลที่คอข่าวไม่ควรพลาด โดย หมอธีระ
..
15 สิงหาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 491,159 คน ตายเพิ่ม 871 คน รวมแล้วติดไป 595,050,336 คน เสียชีวิตรวม 6,454,248 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ทั้งนี้สัดส่วนของประเทศจากเอเชียมีมากถึงครึ่งหนึ่งของ 20 อันดับแรก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.78 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.77
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อาการของเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron
Shoji K และคณะ จากประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์โรคติดเชื้อ Journal of Infections and Chemotherapy วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยศึกษาเปรียบเทียบอาการป่วยในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สมัยสายพันธุ์เดลต้า (ช่วง 1 สิงหาคมถึง 31 ธันวาคม 2564) จำนวน 458 คน กับสายพันธุ์ Omicron (ช่วง 1 มกราคมถึง 15 พฤษภาคม 2565) จำนวน 389 คน
พบว่าในยุค Omicron นี้ เด็กๆ จะมีอาการหลายอย่างที่แตกต่างจากสมัยเดลต้า
หนึ่ง มีอายุเฉลี่ยที่ป่วยน้อยกว่าสมัยเดลต้า
สอง เด็กอายุ 2-12 ปีนั้นจะพบว่ามีไข้ (ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป) มากกว่าสมัยเดลต้า
สาม เด็กอายุ 2-12 ปีนั้นจะพบว่าอาการชักได้มากกว่าสมัยเดลต้า
สี่ ในเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป จะพบอาการเจ็บคอมากกว่าสมัยเดลต้า
ห้า ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป พบอาการดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ น้อยกว่าสมัยเดลต้า
และสุดท้ายคือ จำนวนผู้ป่วยเด็กที่ต้องให้อ๊อกซิเจนนั้นมีมากกว่าสมัยเดลต้า แต่อัตราการป่วยหนักจนต้องรับการรักษาในไอซียูนั้นไม่ได้แตกต่างจากสมัยเดลต้า
ข้อมูลข้างต้นจากทางประเทศญี่ปุ่น ช่วยสะท้อนให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ได้ตระหนักถึงอาการของเด็กที่ติดเชื้อในสมัย Omicron นี้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันสังเกตอาการที่พบบ่อยในเด็ก เช่น ไข้ เจ็บคอ เพื่อที่จะได้นำเด็กๆ ไปตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ลดโอกาสที่จะเกิดผลแทรกซ้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องชักหรือการป่วยหนักตามมา
การพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีนตามอายุที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องจำเป็น
และที่สำคัญยิ่งคือ การสอนเด็กๆ ให้รู้จักวิธีป้องกันตัวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เช่น การใส่หน้ากาก ล้างมือ และระมัดระวังการพูดคุยระหว่างกินอาหารกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน กินไม่คุย จะคุยควรใส่หน้ากาก
...เต่าใหญ่ไข่กลบ...
ข่าวที่แพร่กันในโซเชียลว่า จะได้ภูมิคุ้มกันดีที่สุดหากฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อนั้น
อาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่า ฉันฉีดวัคซีนมาแล้ว ยอมลดการ์ดดีกว่า เพื่อที่จะติดเชื้อจะได้ภูมิสูงๆ แล้วจะป้องกันได้
ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้นชัดเจนว่าไวรัสกลายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มที่ผ่านมาพบว่ามักมีสมรรถนะที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้น ดังที่เห็นจาก Omicron สายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดขณะนี้อย่างเช่น BA.5 รวมถึงสายพันธุ์อื่น อาทิ BA.4 และ BA.2.12.1
บทความวิชาการทบทวนความรู้จาก Nature Reviews Immunology ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ชี้ให้เห็นว่า ต่อให้ฉีดวัคซีน แล้วมีการติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ระดับภูมิคุ้มกันต่อ BA.5 ก็อยู่ในระดับน้อย
เฉกเช่นเดียวกัน หากไวรัสกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ แม้จะติดเชื้อ ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นมาก็อาจไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้ในอนาคต
ตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น หลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า วัคซีนต่างๆ ที่มีมานั้นมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันชัดเจน โดย mRNA vaccines กระตุ้นภูมิได้ดีกว่าประเภทอื่นๆ ทั้งไวรัลเวคเตอร์และเชื้อตาย อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการศึกษาแล้วพบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบต่างแพลตฟอร์มจะช่วยกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้นหรือเทียบเท่าแพลตฟอร์มเดียวกัน
ที่สำคัญคือ ต้องรู้เท่าทันว่าการฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดโอกาสเสียชีวิต แต่ฉีดแล้ว หากไม่ป้องกันตัว ก็จะป่วยได้ ยังป่วยรุนแรงได้ ยังเสียชีวิตได้
และที่สำคัญที่สุดคือ ความทุกข์จากภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน โดยเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศได้
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอในภาวะการระบาดเช่นนี้จึงมีความจำเป็น
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด...
ข้อมูลอ้างอิง
1. Shoji K et al. Clinical characteristics of COVID-19 in hospitalized children during the Omicron variant predominant period. J Infect Chemother. 10 August 2022.
2. SARS-CoV-2 hybrid immunity: silver bullet or silver lining? Nature Reviews Immunology. 9 August 2022.
3. เครดิตภาพ Proverbthai