svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

อะไรคือ “Carefluencer” คนดูแลผู้สูงวัยที่มีโซเชียลมีเดียคอยซัพพอร์ต

09 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยิ่งเวลาผ่านไป สังคมสูงวัยยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังมากขึ้น ล่าสุดมีกระแสของการเป็น “Carefluencer” หรือการที่ผู้ดูแลผู้สูงวัยหันมาใช้โซเชียลมีเดียเช่น TikTok ให้การแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง และชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย

ภาพยนตร์จาก GDH ยังคงความสม่ำเสมอในการเรียกน้ำตาจากคนดู โดยเฉพาะกับ ‘หลานม่า’ หนังเรื่องล่าสุดที่เล่าถึง เอ็ม  (บิวกิ้น—พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) หลานชายที่มาอยู่ดูแล อาม่า (แต๋ว—อุษา เสมคำ) ขณะป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเพื่อหวังจะได้สมบัติ ตัวเรื่องได้พาเราไปเห็นการเฝ้ารอของคนแก่ในชีวิตบั้นปลาย และภาพความสุขของผู้สูงวัยเมื่อได้ใช้เวลาร่วมกับลูกหลาน

หลานม่าถ่ายทอดให้เราเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่กำลังเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งต้องการความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด การที่มีลูกหลานอย่างเอ็มมาคอยช่วยดูแลจึงเป็นเรื่องที่ดี ทว่าไม่ใช่ลูกหลานทุกคนจะสามารถมาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ ดังนั้น ในวันที่สังคมของเรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว เราอาจอยากได้ใครสักคนที่สามารถเข้าใจและอยู่ดูแลผู้สูงวัยได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันจึงเริ่มมีกระแสของ ‘carefluencer’ คนที่จะมาทำหน้าที่เป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมพวกเราเข้าสู่โลกของการดูแลผู้สูงวัยได้


หลานม่า (2024). ภาพจาก GDH

Carefluencer กับการดูแลผู้สูงวัยผ่านโลกออนไลน์

‘carefluencer’ คือกระแสการดูแลผู้สูงวัยซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในต่างประเทศ ณ เวลานี้ โดย carefluencer คือการที่การที่ผู้ดูแลผู้สูงวัย (caregiver) ใช้สื่อออนไลน์เช่น TikTok ให้เข้ามามีบทบาทในการสร้างพื้นที่ให้กับคนทั่วไปหรือผู้ติดตามได้เห็นถึงการดูแลผู้สูงวัยและการใช้ชีวิตของพวกเขา

ในหลายครั้ง การดูแลผู้สูงวัยมักจะถูกทำให้เป็นแค่เรื่องภายในบ้านหรือโรงพยาบาล ดังนั้นเมื่อเรามองไม่เห็นหรือไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมทางใดทางหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้เราเข้าไม่ถึงและไม่เข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงวัยมากพอ การมี carefluencer จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้คนทั่วไปที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา

คำว่า carefluencer ถูกคิดและเริ่มใช้โดยนักวิจัยของศาสตราจารย์ฟรานเซสกา ฟาลซาราโน แพทย์ด้านผู้สูงวัย แห่งมหาวิทยาลัย Southern California Leonard Davis School of Gerontology โดยใช้กล่าวถึงบุคคลที่ดูแลผู้สูงอายุด้วยการใช้พื้นที่บนสื่อโซเชียลในการบอกเล่าเรื่องราวของผู้สูงอายุที่พวกเขาดูแล

ภาพจาก grandmotherstories (Tik Tok)

ด้านศาสตราจารย์ฟรานเซสกาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The New York Times ถึงเรื่อง carefluencer กับความสำคัญของโซเชียลมีเดียเอาไว้ว่า “สื่อโซเชียลมีเดียเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้คนทั่วไปในสังคมได้ช่วยเหลือกัน เรียนรู้สิ่งต่างๆ  ตลอดจนเกิดความรู้สึกถึงการได้มีที่ทางเป็นของตัวเอง”
 

ในปัจจุบันโลกของคนรุ่นใหม่กับผู้สูงวัยแทบจะไม่ข้องเกี่ยวกัน นำไปสู่ปัญหาการไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน การมี carefluencer ไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้เห็นถึงการดูแลผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังพาเราเข้าไปรู้จักโลกของผู้สูงวัยมากขึ้น และที่สำคัญกิจกรรมนี้ยังมีส่วนช่วยดึงผู้สูงวัยเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีการมี carefluencer ก็เป็นการตอกย้ำเราให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ทว่า carefluencer ก็เป็นเพียงกระแสเล็กๆ บนโลกออนไลน์ ที่ส่วนใหญ่มักเป็นลูกหลานหรือคนใกล้ตัวเข้ามาทำในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้สูงวัยอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการดูแลและเอาใจใส่เท่าที่ควร ดังนั้นหากมีคนที่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างเต็มที่จึงอาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า

 

Caregiver อาชีพสำคัญของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัย

caregiver หรือ ผู้ดูแล คือผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลผู้สูงวัยเพื่อแบ่งเบาภาระหรือช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หน้าที่ของผู้ดูแลจะแตกต่างจากพยาบาลอยู่พอสมควร โดยผู้ดูแลจะเน้นดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิดและคอยช่วยเหลือผู้สูงวัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การช่วยทำอาหาร การไปเดินเล่นเป็นเพื่อน ตลอดจนการอาบน้ำให้ สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ผู้ดูแลจะมีความใกล้ชิดและสนิทสนมกับผู้สูงวัยมากกว่า

ในปัจจุบันมีทั้งผู้ดูแลที่ได้รับค่าตอบแทน (paid caregiver) และ ผู้ดูแลที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน (unpaid caregiver) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างมักจะเป็นคนในครอบครัวหรือญาติ โดยอาชีพผู้ดูแลมีความสำคัญอย่างมากในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากผู้ดูแลไม่ใช่เพียงกิจกรรมเสริมที่สามารถทำเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่งได้ แต่ต้องทำเต็มเวลา ทว่าการเป็นผู้ดูแลนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาและความเอาใจใส่เป็นอย่างมากกับการดูแลผู้สูงวัย บางคนอาจต้องออกจากงานประจำ สูญเสียรายได้เดิม ตลอดจนเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต

อะไรคือ “Carefluencer” คนดูแลผู้สูงวัยที่มีโซเชียลมีเดียคอยซัพพอร์ต

กระแส carefluencer จึงมีประโยชน์ต่อผู้ดูแลเป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยนี่คือโอกาสที่พวกเขาจะสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวให้ได้แชร์สิ่งที่ต้องทำและต้องเจอในแต่ละวัน โดยที่ยังสามารถทำควบคู่ไปกับการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องทำงานเต็มเวลาได้ carefluencer ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้ดูแลจากทั่วทุกมุมโลกได้มาแบ่งปันประสบการณ์และเทคนิคต่างๆ ตลอดจนเป็นพื้นที่สำหรับให้กำลังใจกันและกัน เพราะพวกเขาต่างก็เข้าใจกันเป็นอย่างดีถึงความยากลำบากและปัญหาที่ได้รับจากการดูแลผู้สูงวัย

อย่างไรก็ดีผู้ดูแลควรได้รับค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับการดูแลและหน้าที่ที่พวกเขาต้องทำในแต่ละวัน การที่สังคมในปัจจุบันยังมีผู้ดูแลที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอยู่นั้น สะท้อนให้เห็นว่าหน้าที่ของผู้ดูแลยังจำเป็นจะต้องได้รับการเหลียวแลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

สังคมไทยรวมถึงทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งทำให้อาชีพผู้ดูแลเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นที่มีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ การมี carefluencer จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้คนทั่วไปได้เห็นเรื่องราวของการดูแลผู้สูงวัย และรับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้ดูแล

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline