svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

ยังไงแน่? "หมอยง" เห็นต่างกรมวิทย์ฯ ชี้คนเคยปลูกฝีป้องกัน "ฝีดาษลิง" ได้

06 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"หมอยง" ให้ความเห็นแย้งกับกรมวิทย์ฯที่บอกว่าคนปลูกฝีไม่มีภูมิป้องกันเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อ "ฝีดาษลิง" ได้ โดยหมอยงมองว่าคนที่เคยปลูกฝีจะทำให้ร่างกายมีหน่วยความจำที่สามารถกระตุ้นภูมิขึ้นมาได้

จากกรณีที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการศึกษาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษลิงในคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมากกว่า 40 ปี วานนี้ (5 ก.ย.) โดยการศึกษาได้นำซีรั่มจากอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนโรคฝีดาษคนมานานกว่า 40 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 45-54, 55-64 และ 65-74 ปี มาหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ B.1 (พบในยุโรป) และ A.2 (พบในแอฟริกา) ที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทย มาทดสอบโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน เพื่อหาค่าที่ไวรัสฝีดาษลิงเชื้อเป็นถูกทำลายได้ครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า PRNT Titer 50%, PRNT50 โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนฝีดาษคน ซึ่งระดับแอนติบอดี titer มากกว่าหรือเท่ากับ 32 (PRNT50 ≥ 32) ถือว่าคนนั้นมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้ 


ซึ่งผลการทดสอบ พบว่า ในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิงทั้ง 2 สายพันธุ์ มีเพียง 2 ราย ที่พบมีระดับภูมิคุ้มกันมากกว่า 32 (PRNT50 titer>32) ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสฝีดาษลิงได้ ในจำนวนนี้พบ 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 สายพันธุ์ สรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเมื่อ 40 ปีก่อน ไม่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้ 

ยังไงแน่? "หมอยง" เห็นต่างกรมวิทย์ฯ ชี้คนเคยปลูกฝีป้องกัน "ฝีดาษลิง" ได้

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นที่แตกต่างกับผลการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยโพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ฝีดาษลิง ผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาแล้ว ระบุว่า

 

การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ไม่ได้เป็นการใช้เชื้อของไข้ทรพิษโดยตรง แต่ใช้ vaccinia ไวรัส ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่าเป็นฝีดาษของวัว มาใช้ปลูกให้คน แล้วภูมิต้านทาน ข้ามไปป้องกันเชื้อไข้ทรพิษหรือฝีดาษของคน


เชื้อในกลุ่มฝีดาษเป็น DNA virus มีลักษณะพันธุกรรมและโครงสร้างที่คล้ายกันมาก จึงสามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ ฝีดาษไม่ว่าจะเป็นฝีดาษคนหรือฝีดาษลิง มีระยะฟักตัวยาวนาน 7-14 วัน โดยเฉลี่ย 9 วันนับตั้งแต่เริ่มรับเชื้อจนถึงมีอาการ ซึ่งต่างกับ covid 19 ระยะฟักตัวที่สั้นมาก ค่าเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 3 วัน

 

โรคอะไรก็ตามแต่ที่มีระยะฟักตัวยาวนาน ถึงแม้ภูมิคุ้มกันจะตกลงไปแล้ว การตรวจวัด ภูมิต้านทาน ระดับภูมิต้านทานอาจจะตรวจวัดไม่ได้หรือได้ต่ำมาก แต่ในทางป้องกันโรคสามารถยังคงมีหน่วยความจำและเมื่อได้รับเชื้อก็จะกระตุ้นขึ้นมาป้องกันการเกิดอาการได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ยกตัวอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบบี มีระยะฟักตัวยาวนาน 1-6 เดือน ดังนั้นเมื่อฉีดวัคซีนมีภูมิขึ้นแล้วถึงภูมิจะต่ำกว่าระดับความต้านทานในการป้องกันการเกิดโรค เมื่อได้รับเชื้อก็ไม่เกิดการติดเชื้อทั้งนี้เพราะเมื่อรับเชื้อเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นมาและสามารถปกป้องการเกิดอาการหรือการติดเชื้อได้

 

เช่นเดียวกันกับ HPV ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันพบว่าการให้วัคซีนเพียงเข็มเดียว ก็มีประสิทธิภาพที่ดีทีเดียวเพราะเมื่อภูมิขึ้นแล้ว ถึงแม้ระดับภูมิต้านทานจะน้อยกว่า 2 เข็ม ประสิทธิภาพก็ยังเพียงพอในการที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะ HPV มีระยะฟักตัวยาวนาน

 

ดังนั้น คนที่เคยปลูกฝีมาแล้ว โดยใช้ vaccinia ไวรัส ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาตรวจวัดขณะนี้จะตรวจวัดระดับภูมิต้านทานไม่ได้ เพราะนานมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามร่างกายมีหน่วยความจำ และฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวยาวนานถึง 7-14 วันหรือถ้าจะเหลืออยู่ที่ 9 วัน ก็ยังมีเวลาเพียงพอที่ให้หน่วยความจำกระตุ้นสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาปกป้องการติดเชื้อไวรัสได้ หรือถึงแม้จะติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง ดังนั้นระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้จากคนที่ปลูกฝีมานานแล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ทางคลินิก ว่าไม่สามารถป้องกันโรคได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของโรค โดยเฉพาะโรคที่มีระยะฟักตัวยาวนาน  ผู้ที่สัมผัสเชื้อฝีดาษลิง ภายใน 4 วัน การฉีดวัคซีนก็ยังสามารถป้องกันได้ 

 

ผู้ที่เคยปลูกฝีมาแล้ว จึงทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะปกป้องการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ดีพอสมควร หรือถ้าจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนในเจเนอเรชั่นใหม่ ก็ใช้วัคซีนเพียงเข็มเดียวก็เพียงพอไม่จำเป็นต้องฉีดถึง 2 เข็ม เป็นเพียงกระตุ้นหน่วยความจำเดิม ตามหลักวิชาของวัคซีน

logoline