svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

Long COVID "เจ็บแต่ไม่จบ" ฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกาย ตรวจสอบที่นี่

09 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาวะ Long COVID อาการเรื้อรังของคนเคยติดเชื้อโควิด ส่งผลข้างเคียงกับระบบร่างกายแบบ "เจ็บ แต่ไม่จบ" ล่าสุดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกข้อแนะนำในการฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกาย 5 สัปดาห์ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ตรวจสอบได้ที่นี่

9 พฤษภาคม 2565 สิ่งหนึ่งที่น่าวิตกกังวลมากไม่แพ้การติดเชื้อโควิด19 คือ ภาวะอาการ “Long COVID” ซึ่ง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เผยแพร่งานวิจัย อาการ Long COVID ไม่ใช่เรื่องควรมองข้าม หลังพบอาการต่อเนื่องยาวนานถึง 2 ปี มีผลกระทบต่อระบบในร่างกายหลายส่วน ส่งผลดำเนินชีวิตลำบาก

 

ขณะที่ นายแพทย์ธงชัย ฉัตรยิ่งมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เผยแพร่ข้องมูล Long COVID ผ่านเว็บไซต์ โรงพยาบาลศิครินทร์ ระบุว่า

 

การติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะว่าหลังจากรักษาหายแล้ว แต่หลายคนยังรู้สึกเหมือนยังไม่หายดี เพราะว่าระหว่างการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไปจับกับเซลล์โปรตีนของบางอวัยวะ ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เป็นผลให้อวัยวะนั้นๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบไปทั่วร่างกาย เช่น อาการปอดบวม หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย

 

ระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในรักษา และการกำจัดเชื้อโควิดในร่างกาย เราเรียกภาวะนี้ว่า “โควิดระยะยาว หรือ Long COVID” 

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า โควิดระยะยาว หรือ Long COVID สามารถพบได้ถึง 30-50% สาเหตุหลักมาจาก เครียดสะสม หรือเป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โรคแฝง หรือบางรายอาจติดเชื้อโควิดซ้ำแต่คนละสายพันธุ์
 

Long COVID "เจ็บแต่ไม่จบ"  ฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกาย ตรวจสอบที่นี่

อาการ Long COVID เป็นอย่างไร ?

Long COVID เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน

 

อาการที่พบมากที่สุด คือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ผมร่วง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ปวดตามข้อ ไอ ท้องร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง  (Post-Traumatic Stress Disorder)

 

ทั้งนี้ สามารถพบอาการของ Long COVID ในผู้ป่วยนอก 35 % และผู้ป่วยใน  87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป
 

Long COVID "เจ็บแต่ไม่จบ"  ฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกาย ตรวจสอบที่นี่

 ฟื้นฟู Long COVID ด้วยการออกกำลังกาย 

ขณะที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลอ้างอิง จาก อ.พญ.ฑิมภ์พร วิทูรพงศ์ ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู ระบุแนวทางการฟื้นฟูร่างกายจาก Long COVID มีเนื้อหาว่า..

 

กลุ่มอาการ หรือความผิดปกติภายหลังจากที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันมีแนวทางในการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายได้ ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในแต่ละระยะ ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 1 เตรียมความพร้อมของร่างกาย ควรใช้การเดิน ฝึกการหายใจเข้า-ออก ให้สุดแบบช้า ๆ ให้อยู่ในระดับไม่เหนื่อยหรือเหนื่อยเล็กน้อย

 

  • สัปดาห์ที่ 2 ออกกำลังในระดับเบา เช่น การเล่นโยคะเบา ๆ การทำงานบ้านเบา ๆ และเพิ่มระยะเวลาเป็นวันละ 10-15 นาที และให้อยู่ในระดับรู้สึกเหนื่อยเพียงเล็กน้อย

 

  • สัปดาห์ที่ 3 ออกกำลังกายในระดับปานกลาง เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

 

  • สัปดาห์ที่ 4 เพิ่มความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่งเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งไปทางด้านข้าง และสามารถสลับวันในการออกกำลังกายได้เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย

 

  • สัปดาห์ที่ 5 ในระยะนี้สามารถกลับไปออกกำลังได้ตามปกติ และสามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังได้เท่าที่สามารถทำได้

 

อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังระบุอีกว่า หากรู้สึกอ่อนเพลีย หรืออ่อนล้าในวันถัดไปแนะนำให้พัก และลดระดับความหนักของการออกกำลังกายลง

 

Long COVID "เจ็บแต่ไม่จบ"  ฟื้นฟูด้วยการออกกำลังกาย ตรวจสอบที่นี่

 

ขอบคุณข้อมูล : เว็บไซต์โรงพยาบาล ศิครินทร์, เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


 

logoline