svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เทคโนโลยี

เดินหน้า"ภูเก็ต" เมืองอัจฉริยะ "Phuket Smart City" จว.ท่องเที่ยวระดับโลก

04 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภูเก็ต"มีแผนงานการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลเมืองในการบริหารท้องถิ่น (City Data Platform หรือ CDP)  สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันทั้งหมดมารวมไว้ด้วยกัน ติดตามได้ ส่อง"ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ"

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580) ประเด็นที่ 6 พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองตามแผนผังภูมินิเวศให้เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่ สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นที่อยู่อาศัย ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม 

เดินหน้า"ภูเก็ต" เมืองอัจฉริยะ "Phuket Smart City" จว.ท่องเที่ยวระดับโลก

แบ่งการพัฒนาเมืองออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1) เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เน้นการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจของภาคให้มีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเทียบเท่าเมืองขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ มีความน่าอยู่ และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมือง

2) เมืองขนาดกลาง เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วถึงและได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและบริการสำหรับพื้นที่โดยรอบ ก่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

ระบบฐานข้อมูลเมือง

ภูเก็ตมีแผนงานการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลเมืองในการบริหารท้องถิ่น (City Data Platform หรือ CDP)  สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันทั้งหมดมารวมไว้ด้วยกัน

CDP เป็นแพลต์ฟอร์มดิจิทัลในการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ของเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ สามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องบนพื้นฐานของการมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วที่เทศบาลตำบลวิชิต เทศบาลเมืองป่าตอง และองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลจังหวัดภูเก็ตได้นำระบบ CDP มาใช้โดยเน้นใน ๓ ด้านสำคัญ คือ การท่องเที่ยว  Information และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนที่ขอรับงบประมาณดำเนินโครงการเพิ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ มี ๗ โครงการ  ๒๙๘ ล้านบาท 

 ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier)

การติดตามผลสัมฤทธิการดำเนินโครงการอ่าวปอท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ที่เทศบาลตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ที่นี่มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม FLOWLOW บริหารจัดการนักท่องเที่ยวและท่าเทียบเรือที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางทะเลให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในแบบเดียวกันโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวทะเลไทย

แฟ้มภาพ  ท่าเรืออัจฉริยะ ภูเก็ต

สภาพปัญหาอุบัติเหตุทางทะเลที่มักพบคือ ไม่มีข้อมูลนักท่องเที่ยวและไม่ทราบตำแหน่งเพื่อการช่วยเหลือ ดังนั้นระบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) จึงประกอบด้วย ระบบการลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเลและลูกเรือ เส้นทางการเดินเรือก่อนเรือออก ระบบจัดการผู้โดยสารบนท่าเรือ ประตูอัตโนมัติจุดขึ้นท่าเรือ CCTV ตรวจจับใบหน้าและวัดอุณหภูมิ ตู้ kios ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ เครื่องอ่านบัตรประชาชนและพาสปอร์ต ระบบริสต์แบนด์ (Wristbands) ติดตามตัวบุคคลและช่วยเหลือเมื่อประสบภัย One Stop Service บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือในอนาคต  ขณะนี้มีท่าเรือที่นำระบบนี้ไปใช้ 7 แห่ง (จาก 19)          

เดินหน้า"ภูเก็ต" เมืองอัจฉริยะ "Phuket Smart City" จว.ท่องเที่ยวระดับโลก

โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง  

แม้เกาะภูเก็ตมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ด้วยความแออัดของนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางไปเที่ยวชมความงามของสองฟากเกาะ หรือเหนือจรดใต้ ต่างมีปัญหาการเดินทาง ทำรถติดอย่างมโหฬาร จึงมีโครงการตัดถนนทำระบบทางพิเศษเพื่อแก้ปัญหา

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ตำบลป่าตอง บริเวณจุดตัด ถนนพระเมตตา ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ และอุโมงค์ขนาด ๔ ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยเป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษย์กรณี จนถึงเขานาคเกิด แล้วจึงเป็นอุโมงค์คู่ หลังจากนั้น เป็นทางยกระดับ และสิ้นสุดโครงการที่ตำบลกะทู้ ระยะทาง ๓.๙๘ กิโลเมตร มูลค่าลงทุน ๑๔,๖๗๐ ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ ๕,๗๙๒ ล้านบาท ค่าก่อสร้าง ๘,๘๗๘ ล้านบาท) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการ ในเดือนเมษายน ๒๕๖๖

อีกโครงการหนึ่งเป็นทางพิเศษเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ตำบลเทพกระษัตรี บริเวณจุดตัดกับ ทล. ๔๐๒๖ – ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล. ๔๐๒๙ เชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตร ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้งระบบในเดือนธันวาคม ๒๕๗๐

แฟ้มภาพ จากเทศบาลนครภูเก็ต

ศูนย์บริหารจัดการขยะรวม

จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนประชากร ๔๑๘,๑๓๖ คน ซึ่งมีพื้นที่ ๕๔๓ ตารางกิโลเมตร จำนวนบ้านในทะเบียนบ้าน  ๒๘๑,๖๗๖ หลัง พื้นที่ปกครอง ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑๙ แห่ง 

คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต กำหนดให้เทศบาลนครภูเก็ตดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะ สิ่งปฏิกูลและน้ำเสียโดยระบบศูนย์บริหารจัดการขยะรวม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการคัดแยกขยะจากต้นทาง การรวบรวมและขนส่งขยะไปยังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต

ที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเกาะผี อนุญาตให้จังหวัดภูเก็ตโดยเทศบาลนครภูเก็ต เข้าใช้ประโยชน์เพื่อการกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล จำนวน ๒๙๑ ไร่ เป็นเวลา ๓๐ ปี กำลังจะสิ้นสุดในปีนี้ จึงต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อไปอีก.

logoline