มติ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." ชี้มูลความผิด "ดำรงค์ พิเดช" กรณีอนุมัติค่าใช้จ่ายโครงการฝึกอบรบจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" จำนวน 2,500 คน เมื่อวันที่ 7-16 มิ.ย.2555 ที่วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และมีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารและจัดการสัตว์ป่า ที่สวนสัตว์ดุสิต โดยเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ "นปช." ซึ่งพบว่า มีการนำเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เข้าร่วมในการชุมนุมของ นปช. ด้วย
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. "นิวัติไชย เกษมมงคล" เผยว่า การอบรมที่วัดธรรมกาย แต่มาดูงานสวนสัตว์ดุสิต เป็นการอนุมัติโครงการอย่างเร่งรีบ และมีการเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่หน้าอาคารรัฐสภา
ตามสำนวนการไต่สวนของ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอ และให้เพิ่มเติมการไต่สวน สอบปากคำอดีต ส.ว. 3 คน ดังนี้
1.วันชัย สอนศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
2.ตวง อันทะไชย อดีตประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
3.นริศ ขำนุรักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
และสอบปากคำ อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ มโนพัศ หัวเมืองแก้ว
"คณะกรรมการ ป.ป.ช." ได้ขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าเคยได้รับเรื่องร้องเรียน และมีการตรวจสอบหรือไม่ และผลการตรวจสอบเป็นประการใด
รวมถึงไต่สวนข้อเท็จจริง โดยสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมอุทยานฯ และขอเอกสารประวัติการรับราชการ หรือ ก.พ.7 ของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน จากกรมอุทยานฯ
คดีนี้ ดำรงค์ ถูกกล่าวหาพร้อมกับพวก 2 ราย คือ อดีตรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เริงชัย ประยูรเวช / และ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมอุทยานฯ ธนโรจน์ โพธิสาโร
"คณะกรรมการ ป.ป.ช." ชุดใหญ่ มีมติเสียงข้างมาก 6 เสียง เห็นว่าการกระทำของ ดำรงค์ พิเดช เริงชัย ประยูรเวช และธนโรจน์ โพธิสาโร มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 90
และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98
ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างน้อย 3 เสียง ในส่วนของ สุภา ปิยะจิตติ เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า การกระทำของ "ดำรงค์ พิเดช" มีมูลความผิดทางอาญานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น
และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 90
และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง
การกระทำของ เริงชัย และธนโรจน์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น
และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 90
และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทลงโทษที่หนักกว่า
ก่อนที่ประธาน ป.ป.ช. จะสรุปผลการลงคะแนนเสียงให้ถือความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 6 เสียง ชี้มูลความผิดดังกล่าวในเวลาต่อมา
คดีนี้ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." มีมติ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อทำสำนวนยื่นฟ้อง ต่อศาล
สำหรับ ดำรงค์ พิเดช เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 ว่า ไม่กังวล สามารถตอบคำถามที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว โดยในเวลานั้นเป็นปีพุทธยันตี ตนในฐานะอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ใน จึงจัดโครงการอบรมเรื่องพระพุทธศาสนาโดยใช้สถานที่คือ วัดพระธรรมกาย โดยให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ ยกเว้นจากภาคใต้ เพราะมีเจ้าหน้าที่หลายนายนับถือศาสนาอิสลาม เข้ามาอบรม เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และมีการดูงานที่สวนสัตว์ดุสิต เพราะตอนนั้นยังมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ยังแยกไม่ออกระหว่างสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าสงวน และสัตว์ที่สามารถครอบครองดูแลได้
การเริ่มอบรมวันที่ 7 มิ.ย.2555 ช่วงเช้า แต่มีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมาก่อน แล้วอาจจะเห็นเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง มาชุมนุมกัน และมีการผูกเปล กางเต็นท์นอนกันบริเวณสวนสัตว์ มีนักข่าวไปเห็น ก็เอาไปเขียนข่าวว่า กรมอุทยานฯ ระดมกำลังเจ้าหน้าที่มาสมทบม็อบ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด และตอนนั้น ก็ไม่อยู่ประเทศไทย วันที่ 5 มิ.ย.2555 ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา โดยมอบหมายให้ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เริงชัย ประยูรเวช ในขณะนั้นรักษาการแทน