ไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันต่างดำเนินไปด้วยความเร่งรีบ การเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพทุกมื้ออาจไม่ใช่เรื่องง่าย บวกกับความต้องการสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันด้วยการได้กินของอร่อยที่ชอบเพื่อฮีลใจ โดยเฉพาะของหวานหรือขนม
ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องการมีสุขภาพดีและอยากกินให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดในทุกมื้อนั้นอาจเป็นไปได้ยาก การพยายามกินแต่อาหารที่ดีต่อร่างกาย และตัดใจงดของว่างหรือขนมที่ชอบ จึงอาจไม่ใช่แนวทางการสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนสำหรับคนทั่วไป
เพราะเข้าใจถึงข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันและต้องการเห็นผู้คนได้กินอาหารที่ทั้งอร่อย มีประโยชน์ต่อร่างกาย และดีต่อใจ เนสท์เล่ จึงได้จุดประกายคอนเซ็ปต์การกินอยู่อย่างสมดุล หรือ Balanced Diet เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่ดีอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “คำเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่” (Every Little Bite Matters) ที่ต้องการสนับสนุนให้คนไทยได้เลือกรับประทานอาหารอย่างสมดุล ทั้งอาหารที่ดีต่อร่างกายและจิตใจในปริมาณที่เหมาะสม ด้วยความเชื่อที่ว่า “อาหารทุกคำสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ตามมาเสมอ” ผ่านการสื่อสารที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการรับประทานอาหารอย่างสมดุล สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) จึงได้จัดเวิร์คชอป “กินที่ชอบ บาลานซ์ที่ใช่ ไปกับเนสท์เล่” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและให้เคล็ดลับอันเป็นประโยชน์ เพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้ได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน
รศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ และอาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงสาเหตุหลักของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย ว่ามาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นผลมาจากวิถีชีวิต และทางสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ ก็มีเป้าหมายสูงสุดในการทำให้คนไทยมีภาวะโภชนาการที่ดีและมีความรอบรู้ด้านโภชนาการ (Nutrition literacy) การสร้างความเข้าใจในแนวทางการกินอยู่อย่างสมดุล หรือ Balanced Diet จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดีได้อย่างยั่งยืน
“หลักการกินอยู่อย่างสมดุลนี้มีความสำคัญมาก ถ้าถามว่าในความเป็นจริง ชีวิตคนเราจะกินให้ดีต่อสุขภาพทุกวัน ทุกมื้อไหม ก็อาจจะไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากทุกคนรู้จักสร้างสมดุลให้กับตนเอง ก็สามารถกินของที่ชอบได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม และกินให้หลากหลายสลับกันไป มีผักและผลไม้ที่เพียงพอ เพื่อให้ดีต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งถ้าเราดูแลเรื่องอาหารการกินแบบไม่เครียดจนเกินไป จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย เราก็จะทำได้นานโดยไม่ฝืน และสร้างสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืน” รศ. ดร.เรวดี อธิบาย
“ต้องยอมรับว่าอาหารมีบทบาทในชีวิตคนเรามากกว่าที่คิด อาหารไม่เพียงแต่ตอบสนองด้านโภชนาการให้กับร่างกาย แต่ยังมีบทบาทด้านอารมณ์และการเข้าสังคมอีกด้วย เนสท์เล่จึงอยากสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมไลฟ์สไตล์การกินอยู่อย่างสมดุลให้กับทุกๆ คน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพดีแบบองค์รวม ด้วยการกินพอและกินดี ซึ่งหมายถึงกินในสัดส่วนพอเหมาะ มีความหลากหลาย และเพียงพอสำหรับการดูแลร่างกายให้สุขภาพดี และเติมเต็มความรู้สึกทางจิตใจให้มีความสุขด้วย” นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เล่าถึงแนวคิดของการกินอยู่อย่างสมดุล หรือ Balanced Diet ในแบบฉบับของเนสท์เล่
เทคนิคที่ 1 “บวก” Food Pairing จับคู่อาหาร
หนึ่งในคอนเซ็ปต์ด้านโภชนาการที่ช่วยให้เรามีมุมมองอาหารในแง่ดีต้องไม่เกิดจากการบังคับ ตัดอะไรออก หรือห้ามกินอะไร เพราะจะทำให้รู้สึกตึงเครียดมากเกินไป แต่แนะนำให้เป็นการ “บวก” หรือเสริมสารอาหารดีๆ เข้าไปแทน
นางสาวจันทิมา เกยานนท์ นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า หลักของการ “บวก” คือการกินให้ดีด้วยการเพิ่มประโยชน์ให้มื้อนั้นๆ ให้มีสารอาหารครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การบวกจับคู่อาหารให้ครบหมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลากหลาย เช่น การเพิ่มผัก หรือธัญพืช หากในมื้อนั้นมีเนื้อสัตว์ หรือข้าวแป้งในสัดส่วนเกิน 50% นอกจากนั้น ยังมีการบวกจับคู่เพื่อเสริมประโยชน์ เพราะอาหารบางอย่างเมื่อกินด้วยกันจะสามารถช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารได้มากกว่าเดิม
ตัวอย่าง
เทคนิคที่ 2 “แบ่ง” Portion Control ปริมาณที่พอดี
เป็นการคุมปริมาณการกินให้เหมาะสมกับความต้องการพลังงานของร่างกาย การแบ่งมีหลักการง่ายๆ คือ “การแบ่งกินทีละน้อย” สำหรับอาหารว่างที่ให้พลังงานสูง เช่น แบ่งช็อกโกแลตแท่งกับเพื่อน หรือแบ่งไอศกรีมครั้งละ 1 ลูก ซึ่งสามารถดูคำแนะนำการแบ่งกินตามฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amounts) ที่หน้าบรรจุภัณฑ์ หรือสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อเป็นตัวช่วยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม
อ.กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (ไทยและอเมริกา) ที่ปรึกษาศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ได้เสริมเรื่องการแบ่งและควบคุมปริมาณการกินว่า “การกินแบบมีสติ หรือ Mindful Eating คือสิ่งที่สำคัญ เราอาจจะลองใช้ scale ความหิวและอิ่มมาประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรกินเท่าไร อีกอย่างคือถ้ามื้อไหนที่เรากินอาหารที่มีโปรตีนหรือไฟเบอร์น้อยเกินไป ก็จะทำให้หิวเร็วขึ้นในมื้อถัดไป
และที่สำคัญ คือไม่ควรปล่อยให้ตัวเองหิวจัด เพราะจะทำให้เรากินอย่างขาดสติและเสียสมดุลได้ นอกจากนั้น การค่อย ๆ เคี้ยว ไม่กินเร็วเกินไป จะช่วยให้กระเพาะใช้เวลาส่งสัญญาณให้สมองรู้ว่าอิ่ม
เทคนิคที่ 3 “แพลน” Meal Planning วางแผนมื้ออาหาร
แม้จะมีทฤษฎีการจัดมื้ออาหารให้สมดุล ให้หลากหลายครบหมู่ หรือแนวคิดการจัดจานแบบ 2:1:1 ที่กำหนดให้แบ่งอาหารเป็นผัก 2 ส่วน ข้าวหรือแป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์อีก 1 ส่วน แต่ในชีวิตจริงแล้วเราอาจไม่สามารถทำได้ในทุกๆ มื้อ
“เราสามารถนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ได้ด้วยการวางแผนมื้ออาหารในแต่ละวันให้สมดุลกัน เช่น ถ้ามื้อแรกจัดบุฟเฟ่ต์หนักแล้ว มื้อต่อไปควรลดปริมาณการกินลง เพิ่มการผักมากขึ้น หรือถ้ามื้อนี้เตรียมฮีลใจด้วยของหวาน เครื่องดื่มในมื้อนั้นควรเลือกเป็นน้ำเปล่า หรือเลือกเป็นเครื่องดื่มสูตรน้ำตาลน้อยแทน” นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ แนะนำ
ดังนั้น ตามหลักการ “บวก แบ่ง แพลน” ของการกินอยู่อย่างสมดุล จึงเป็นการเน้นความพอดีของทั้งประเภทอาหารและปริมาณในการกินให้เหมาะกับความต้องการของร่างกาย พร้อมไปกับการนึกถึงความสุขในการกินด้วย โดยสามารถทำตามได้ไม่ยาก เพื่อสร้างการกินอยู่อย่างสมดุลที่ยั่งยืน