svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เคล็ดลับสุขภาพ : ดูแลลูกน้อยอย่างไร ให้ปราศจากโรคภัยในช่วงหน้าฝน

26 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

รวมลิสต์โรคหน้าฝนที่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก พร้อม 7 วิธีดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากภัยสุขภาพ หลังประเทศไทยประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้วอย่างเป็นทางการ

ต้อนรับเข้าสู่ "ฤดูฝน" อย่างเป็นทางการแล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 และเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2567

สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เด็กช่วงวัยเรียน ควรระมัดระวังเรื่องสุขภาพเด็กเป็นพิเศษ เพราะมักจะมีโรคต่างๆ ที่ระบาดในเด็ก โดยโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน เช่น

  • โรคไข้หวัดใหญ่ มักพบอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจไวรัส RSV มีอาการ น้ำมูกไหล คัดจมูก รับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1-3 วัน จะมีอาการ ไอ มีไข้ หายใจลำบาก และอาจมีเสียงดังตอนหายใจอีกด้วย
  • โรคมือเท้าปาก มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เกิดจากการสัมผัส สารคัดหลั่ง หรือน้ำลายของผู้ป่วย มีอาการคือ พบตุ่มแดงๆ หรือตุ่มน้ำบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมถึงที่เข่าและก้น มีไข้สูง สังเกตได้จากการที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร เพราะรู้สึกเจ็บแผลในปาก หรือกระพุ้งแก้ม
  • โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการไข้สูง หน้าแดงผิดสังเกต และมักพบอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องที่ชายโครง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว เป็นต้น

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลลูกรักอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตาม 7 วิธีดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคหน้าฝน ดังนี้

เคล็ดลับสุขภาพ : ดูแลลูกน้อยอย่างไร ให้ปราศจากโรคภัยในช่วงหน้าฝน

1.เสริมภูมิต้านทานให้ลูกน้อย

ช่วงที่อากาศเปลี่ยน เด็กๆ จะเจ็บป่วยได้ง่าย จึงควรเสริมภูมิคุ้มกันโดยใส่ใจเรื่องอาหารการกิน กินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นปรุงสุกใหม่ๆ เพิ่มเติมผักที่หลากหลายและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง องุ่น แอปเปิล สตรอเบอร์รี สับปะรด เป็นต้น ดื่มน้ำ ดื่มนม และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย หรือเสริมด้วยวิตามินซีชนิดเม็ด โดยกินในปริมาณที่เหมาะสมตามอายุ คือ อายุ 1-3 ปี กินได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน อายุ 4-8 ปี กินได้ไม่เกิน 650 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 9-13 ปี กินได้ไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัม/วัน

2.รับวัคซีนสำหรับเด็ก

เด็กๆ ควรได้รับวัคซีนหลักให้ครบถ้วน เช่น

  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน-18 ปี สำหรับเด็กในปีแรกฉีด 2 เข็ม และห่างกัน 4 สัปดาห์
  •  วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ควรฉีดตามช่วงอายุคือ 1 ปี และ 2 ปี 6 เดือน
  •  วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดช่วงอายุ 9 ปีขึ้นไป ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0, 6, 12 ในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน
  •  วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 12 -18 เดือน และ 4-6 ปี ตามลำดับ รวมทั้งหมด 2 เข็ม
  •  วัคซีนตับอักเสบเอ ฉีดช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป และเข็มที่ 2 ห่างกัน 6-12 เดือน

3.ป้องกันการรับเชื้อโดยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ

เมื่อต้องออกไปนอกบ้าน อย่าละเลยการสวมหน้ากากอนามัยให้ลูก และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าลูกจะไม่ได้เป็นไข้หวัด แต่หากไปสัมผัสใกล้ชิดคนที่มีเชื้อก็สามารถติดได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาดร่วมด้วยแบบนี้ จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

เคล็ดลับสุขภาพ : ดูแลลูกน้อยอย่างไร ให้ปราศจากโรคภัยในช่วงหน้าฝน

4.ระวังพาหะนำโรคในหน้าฝน

พาหะนำโรคในหน้าฝน ส่วนใหญ่จะเป็นยุงและแมลงต่างๆ วิธีป้องกันคือ ควรทำความสะอาดบริเวณโดยรอบบ้าน ไม่ให้รก หรือมีน้ำขังจนเป็นแหล่งสะสมของพาหะ ไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มียุงและแมลงชุกชุม หรือไปวิ่งเล่นนอกบ้านเวลาเย็นและตอนกลางคืน

5.เตรียมอุปกรณ์กันฝนให้พร้อม

เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้านในฤดูฝน ต้องพกร่ม ชุดกันฝน ผ้าขนหนูผืนเล็ก และถุงพลาสติก เพื่อให้ทันหยิบมาใช้ได้ง่ายๆ กรณีเด็กที่ต้องไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถจัดใส่กระเป๋าลูก โดยเลือกขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไปซึ่งสามารถพกพาและหยิบใช้ได้สะดวก

6.อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายหลังโดนฝน

หลังจากที่ลูกเปรียกฝนมาแล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ไม่ควรปล่อยไว้จนแห้ง แต่ควรรีบอาบน้ำทันที เช็ดตัวให้แห้ง สวมเสื้อผ้าสบายตัว อยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะเพื่อให้ร่างกายมีสมดุล เพราะหากร่างกายพบอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากเกินไป ก็มีโอกาสที่จะป่วยได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้อากาศ

7.สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

อากาศในหน้าฝนมักจะมีความชื้นสูง ผู้ปกครองต้องระวังเรื่องเสื้อผ้าให้ดี เสื้อผ้าต้องตากให้แห้ง เก็บไว้ให้ที่ปลอดโปร่งไม่อับชื้น เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา เชื้อโรค และกลิ่นอับ ลูกจะได้สบายตัว ไม่งอแง ที่สำคัญเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีควรผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าใยไผ่ เป็นต้น

เพียงทำตามเคล็ดลับง่ายๆ เท่านี้ ลูกรักก็ปลอดภัยจากโรคภัยในช่วงหน้าฝนแล้ว

logoline