svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

“แอมโมเนีย” สารเคมีใกล้ตัวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ และวิธีปฐมพยาบาล

18 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จัก “แอมโมเนีย” สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเมื่อได้รับสารพิษ แพทย์เตือนหากสูดดมก๊าซที่ความเข้มข้นสูงมากอาจถึงขั้นหมดสติ เสี่ยงหัวใจวาย และแนวทางป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับผู้ประกอบการ

ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพล่าสุด คือกรณีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานแข็ง พื้นที่ จ.ชลบุรี ที่พบผู้มีอาการเจ็บป่วยแล้วกว่า 60 ราย ทั้งคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานและชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ที่มีอาการแสบตา แสบจมูก แน่นหน้าอก บางรายถึงขั้นหมดสติ เรื่องนี้ทำให้หลายคนกังวลในเรื่องของ “แอมโมเนีย” สารเคมีใกล้ตัวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

รู้จัก “แอมโมเนีย” สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นฉุน อยู่ในรูปแบบก๊าซและของเหลว โดยพบได้ตามธรรมชาติและกระบวนการสังเคราะห์ ในปัจจุบันแอมโมเนียมักใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำยาทำความสะอาด ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อีกหลายภายในบ้าน

“แอมโมเนีย” สารเคมีใกล้ตัวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

สารแอมโมเนีย เป็นสารที่ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น โรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง การผลิตน้ำยางข้น และเป็นสารทำความเย็นในการผลิตน้ำแข็งและห้องเย็น  นอกจากประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม “แอมโมเนียความเข้มข้นต่ำ” ยังเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นการปฐมพยาบาลคนเป็นลมด้วยการนำยาดมหรือไม้พันสำลีจุ่มแอมโมเนียให้ผู้ที่เป็นลมสูดดม ซึ่งกลิ่นฉุนและฤทธิ์กัดกร่อนอ่อนๆ ของแอมโมเนียความเข้มข้นต่ำจะทำให้เยื่อบุในระบบทางเดินหายระคายเคืองเมื่อสูดเข้าไปในร่างกาย จึงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่อการหายใจและช่วยให้ผู้ที่เป็นลมหายใจได้ดีขึ้น

แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ เมื่อสัมผัสโดนอาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ หากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ระคายเคืองกระจกตา จนสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดชั่วคราวหรือถาวร และเสียชีวิตได้ 

ข้อมูลโดย นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสารแอมโมเนียว่า เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นสารกัดกร่อนผิวหนัง หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้

หากสูดดมเข้าไป ทำให้ แสบจมูก แสบคอ บางรายอาจมีอาการไอ เจ็บหน้าอก ทำให้ปอดบวมน้ำ เสี่ยงหัวใจวาย หากสูดดมก๊าซที่ความเข้มข้นสูงมากจนหมดสติ จะระคายเคืองหลอดลมและถุงลมอย่างต่อเนื่อง มีอาการเหมือนเป็นหืด หรือมีอาการระคายเคืองง่ายขึ้นหลังสูดดมก๊าซหรือฝุ่นอื่นๆ จะส่งผลระยะยาวเป็นเดือนหรือปี ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และหากได้รับก๊าซแอมโมเนีย ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 1,700 ppm เกิน 30 นาที จะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ โดยอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว เกิดความผิดพลาดระหว่างจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย ประเก็นรั่วและขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี

ภาวะเป็นพิษจากแอมโมเนีย

แม้ว่าแอมโมเนียจะมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์ แต่การสัมผัสกับแอมโมเนียปริมาณมากหรือแอมโมเนียความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น 

“การสัมผัส” แอมโมเนียทางผิวหนังและดวงตาจะทำให้บริเวณดังกล่าวแสบร้อน เป็นแผลพุพอง ระคายเคือง น้ำตาไหล ในรายที่รุนแรงอาจเกิดแผลพุพองรุนแรง แผลลึก หรือสูญเสียการมองเห็นเมื่อสัมผัสถูกดวงตา

“การสูดดม” และได้รับแอมโมเนียผ่าน “การรับประทาน “ จะทำให้ปวดแสบปวดร้อนภายในช่องปาก จมูก ลำคอ และลำไส้ ไอ เวียนศีรษะ  คลื่นไส้  อาเจียน ในรายที่รุนแรงจะเกิดอาการบวมและเป็นแผลไหม้รุนแรงบริเวณริมฝีปาก ช่องปาก ลำคอ หายใจติดขัด หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ที่สัมผัสและทำงานเกี่ยวข้องกับแอมโมเนียต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 

 

วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล

สำหรับผู้ประกอบการโรงงานต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ใช้อุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล ดูแลรักษา ซ่อมบำรุงอุปกรณ์อยู่เสมอ ดังนี้

  1. สวมอุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน
  2. ตรวจภาชนะบรรจุและท่อส่งก๊าซสม่ำเสมอ
  3. เก็บแอมโมเนียในที่ปลอดภัยนอกอาคาร
  4. รถบรรทุกสารเคมีต้องมีสัญลักษณ์บอกอันตราย
  5. ฝึกซ้อมรับมือเหตุฉุกเฉินปีละ 1 ครั้ง

ในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สามารถทำได้ดังนี้ 

ก่อนเกิดเหตุ ถ้าอยู่ใกล้โรงงานในระยะ 1 กิโลเมตร ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ ถ้าเห็นควันสีขาวจากโรงงาน รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 

ขณะเกิดเหตุ ไม่วิ่งไปทางใต้หรือเหนือลม แต่ตั้งฉากออกจากทิศทางลม ไม่ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก เพราะอาจได้รับก๊าซมากขึ้น เนื่องจากแอมโมเนียละลายน้ำได้ดี ควรใช้ผ้าแห้งและหนาปิดแทน

การปฐมพยาบาลจากการได้รับก๊าซแอมโมเนีย

การปฐมพยาบาล “การสูดดม” แอมโมเนีย

  1. รีบนำผู้ได้รับสัมผัสออกจากที่เกิดเหตุไปอยู่พื้นที่โล่ง เหนือลม อากาศถ่ายเทสะดวก
  2. ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ
  3. ถ้าหายใจปกติ ให้คลายเสื้อผ้าออกให้หลวม ถ้าเหงื่อออกให้เช็ดตัว ถ้ารู้สึกตัวให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเย็น ถ้าหายใจติดขัดให้ออกซิเจน แต่ถ้าหยุดหายใจต้องช่วยผายปอดจนกว่าจะหายใจสะดวก ห้ามใช้วิธีผายปอดด้วยวิธีเป่าปาก
  4. หากหายใจเอาสารแอมโมเนียเข้าไป ให้ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีที่ครอบให้อากาศแบบวาล์วทางเดียวหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมือบีบ

การปฐมพยาบาล “การสัมผัส” แอมโมเนียทางผิวหนัง

  1. รีบถอดเสื้อผ้า และ เครื่องประดับออก
  2. ล้างด้วยน้ำสะอาดจำนวนมากและต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที โดยให้น้ำไหลผ่าน
  3. กรณีสัมผัสแอมโมเนียและมีแผลไหม้จากความเย็นจัด ให้แช่หรือประคบด้วยน้ำอุ่น พร้อมทั้งใช้ผ้าสะอาดคลุมเอาไว้บริเวณแผลไหม้ แล้วรีบไปพบแพทย์

การปฐมพยาบาล “การรับประทาน” แอมโมเนียทางปาก

  1. ให้ดื่มน้ำมากๆ ห้ามล้วงคอหรือทำให้อาเจียน
  2. ถ้าหมดสติให้นอนหงาย เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง สังเกตการหายใจและจับชีพจรที่คอ หรือขาหนีบ ถ้าหยุดหายใจต้องทำการปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต
  3. รีบนำส่งแพทย์

การปฐมพยาบาลแอมโมเนีย “สัมผัสดวงตา”

  1. ถอดคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) และสามารถทำได้อย่างปลอดภัย
  2. ตะแคงเอียงหน้า แล้วล้างตาด้วยน้ำสะอาดผ่านดวงตาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องล้างน้ำอย่างน้อย 30 นาที จากหัวตามาหางตาจนกว่าจะไม่เคืองตา
  3. ห้ามขยี้ตา
  4. รีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้ หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้น แนะนำให้สังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง โดยหลังเกิดเหตุให้สังเกตตัวเองเป็นเวลา 1 เดือน ว่ามีอาการไอ แสบคอ มีเสมหะหรือไม่ ถ้ามีควรรีบไปพบแพทย์ และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

 

logoline