svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

“ฝันร้าย” ลางบอกเหตุ หรือสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ

ไขข้อข้องใจคนช่างฝัน “ฝันร้ายจะกลายเป็นดี” หรือ “ฝันร้ายจะกลายเป็นภัยต่อสุขภาพ” กันแน่? Nation STORY มีคำตอบ

ทำนายฝันวันหวยออก เป็นเรื่องราวที่คนไทยให้ความสำคัญดันสถิติข้อมูลการค้นหา หรือ Search Engines ในโลกออนไลน์ติดอันดับบ่อยๆ โดยเฉพาะในวันหวยออก ซึ่งหากมองในแง่ของวิทยาศาสตร์หรือในทางการแพทย์ “ความฝัน” และ “ฝันร้าย” เกิดขึ้นได้อย่างไร และ  “ฝันร้ายจะกลายเป็นดี” หรือ “ฝันร้ายจะกลายเป็นภัยต่อสุขภาพ” กันแน่?

ฝันร้ายขณะกำลังนอนหลับ (Nightmare) ในทางการแพทย์ระบุว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นช่วงการนอนหลับในระยะ Rapid eye movement หรือ REM ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องซับซ้อนและยาว จึงส่งผลทำให้เกิดความกลัว วิตกกังวล หรือโศกเศร้า ผู้ฝันอาจสะดุ้งตื่นขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่รับรู้และจำได้เมื่อตื่นขึ้น ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การหลับต่อได้ยากขึ้น

“ฝัน” คำจำกัดความทางด้านพยาธิสภาพ

โดยทั่วไปแล้วเราใช้เวลามากกว่าสองชั่วโมงในแต่ละคืนที่ “ฝัน” ซึ่ง “ฝันร้าย” คือฝันที่เกิดขึ้นในระยะการนอนหลับ REM (rapid eye movement) เป็นช่วงวงจรที่กล้ามเนื้อต่างๆ หยุดทำงานหมดยกเว้น หัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตาและกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นช่วงที่ฝันเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหลังของระยะการนอนเป็นเหตุให้ฝันบ่อยๆ ในช่วงเช้ามืด

ผลของการฝันร้าย จะทำให้ร่างกายประสบกับภาวะความกลัวอย่างรุนแรง ไม่สุขสบาย หรือมีภาวะวิตกกังวล โดยที่ฝันร้ายจะมีความถี่เพิ่มขึ้นเมื่อบุคคลเริ่มมีความผิดปกติกับการดำเนินชีวิตในสังคม การประกอบอาชีพ ซึ่งสมาคมจิตแพทย์อเมริกา ได้ให้คำจำกัดความและกำหนดการวินิจฉัยว่าเป็น “การฝันร้ายผิดปกติ (Nightmare Disorder)” หรือ “ฝันร้ายซ้ำๆ” ซึ่งฝันร้ายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก 10 ขวบขึ้นไป โดยมักเกิดกับเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทางกาย ใจ หรือสังคม กับเด็กมากนัก แต่ถ้าหากว่าฝันร้ายนั้นเกิดขึ้นบ่อยๆ ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นขึ้นมา อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับภาวะปัญหาสุขภาพจิต อาทิ ภาวะวิตกกังวล เครียด หรือได้รับบาดเจ็บทางจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตและจิตเวชในอนาคตได้

“ฝันร้าย” ลางบอกเหตุ หรือสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ

ฝันร้ายผิดปกติ (Nightmare Disorder)

ข้อมูลที่เผยแพร่ในวารสาร J of clinical sleep เมื่อปี 2018 มีรายงานการศึกษากว่า 100 รายงานที่พบอุบัติการณ์ฝันร้ายผิดปกติ (Nightmare Disorder) มีข้อมูลสรุปได้ว่า

  • ฝันร้ายพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • ฝันร้ายพบความถี่สูงในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ร้อยละเฉลี่ย 1.5-1
  • ขณะที่ช่วงอายุ ลักษณะทางวัฒนธรรมไม่พบความแตกต่างกันในเนื้อหาของลักษณะความฝัน
  • ฝันร้ายมักเกิดขึ้นในวัยเด็กราวร้อยละ 50 และมีมากกว่าร้อยละ 20 ที่มีความถี่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
  • ร้อยละ 85 พบฝันร้ายเป็นครั้งคราว และมีฝันร้ายผิดปกติเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่อย่างน้อยปีละครั้ง และมีประมาณร้อยละ 2-6 ฝันร้ายผิดปกติเกิดขึ้นทุกสัปดาห์
  • ฝันร้ายที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องเมื่อร่างกายเผชิญกับภาวะเครียด โดยที่มีจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อบุคคลดังกล่าวเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจกลัวรุนแรง
  • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ปัญหาบุคลิกภาพผิดปกติ ผู้ที่ได้รับยาบางประเภทที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร norepinephrin, serotonin, dopamine เป็นต้น ซึ่งสารเคมีดังกล่าวมานี้ล้วนเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชทั้งสิ้น

 

สาเหตุของฝันร้าย และฝันร้ายผิดปกติ

เคยไหมที่ฝันว่าตกจากที่สูง ฝันเห็นงู ฝันเห็นคนตาย โอกาสฝันร้ายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากฝันร้ายบ่อยๆ หรือฝันร้ายทุกคืนจนสะดุ้งตื่น ทำให้ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็อาจเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ โดยส่วนใหญ่สาเหตุของฝันร้ายและฝันร้ายผิดปกติ มาจาก

  • การเผชิญกับความวิตกกังวลหรือความเครียด พบได้กว่าร้อยละ 60 ที่จะนำไปสู่การฝันร้าย
  • ปัญหาความเจ็บป่วย การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
  • ปฏิกิริยาข้างเคียงหรือผลข้างเคียงของยา เช่นยานอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การถอนแอลกอฮอล์อย่างกะทันหัน การสูบบุหรี่และถอนบุหรี่กะทันหัน ฯลฯ
  • ความผิดปกติของการหายใจระหว่างการนอนหลับ (หยุดหายใจขณะหลับ) ความผิดปกติของการนอนหลับ (เฉียบพลัน, โรคกลัวการนอนหลับ)
  • การกินก่อนเข้านอน โดยเฉพาะอาหารหลากหลายประเภท ย่อยยาก เนื้อสัตว์ ฯลฯ

“ฝันร้าย” ลางบอกเหตุ หรือสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ

เมื่อฝันร้าย (ไม่) กลายเป็นดี

 ฝันร้ายอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • โรควิตกกังวล ผู้ที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลมักจะเกิดอาการฝันซ้ำๆ ความฝันมีลักษณะยาว และละเอียด เนื้อเรื่องอาจจะเป็นเหตุการณ์เดิม ๆ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ในปัจจุบันก็ได้
  • โรคซึมเศร้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะฝันถึงสถานที่มืดๆ น่ากลัว หรือฝันถึงคนตาย อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ และอาจฝันเห็นหลายๆ เรื่องในคืนเดียวกัน
  • ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) มักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยประสบพบเจอมา มักจะเป็นภาพฉายซ้ำ ๆ และมีจุดจบแบบเดิม บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
  • โรคไบโพลาร์ มักจะเป็นความฝันที่สดใส ละเอียด น่าจดจำ สามารถปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องยาว อาจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือละครที่ดู

ดังนั้น หากจะตอบคำถาม “ฝันร้ายจะกลายเป็นดี” หรือ “ฝันร้ายจะกลายเป็นภัยต่อสุขภาพ” กันแน่? คำตอบคือ ฝันร้ายเกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ฝันร้ายไม่ใช่เรื่องดีหากเกิดขึ้นบ่อย เกิดขึ้นซ้ำๆ จนกระทบกับการนอนหลับ โดยสาเหตุหลักนอกจากจะมาจากความผิดปกติของการหายใจระหว่างการนอนหลับ ยังมาจากความเครียด ความวิตกกังวล และความผิดปกติทางสภาพจิตที่แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์

8 เคล็ดลับสำหรับการนอนหลับฝันดีจาก National Sleep Foundation

1. กำหนดเวลานอน เข้านอนในเวลาที่กำหนดในแต่ละคืนและลุกขึ้นในเวลาเดียวกันทุกเช้า การรบกวนกำหนดการนี้อาจนำไปสู่การนอนไม่หลับ การนอนในวันหยุดสุดสัปดาห์จะทำให้การตื่นเช้าในเช้าวันจันทร์นั้นยากขึ้นเนื่องจากร่างกายจะรีเซ็ตรอบการนอนหลับเพื่อให้ตื่นขึ้นโดยอัตโนมัติ

2. การออกกำลังกาย ตั้งใจออกกำลังกายวันละ 20 ถึง 30 นาที การออกกำลังกายทุกวันมักจะช่วยให้ผู้คนนอนหลับ แม้ว่าจากการศึกษาวิจัยบางรายงานบันทึกว่า การออกกำลังกายก่อนนอนอาจมีผลเสีย เพื่อประโยชน์สูงสุดให้ออกกำลังกายประมาณห้าถึงหกชั่วโมงก่อนเข้านอน และรองลงมาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ซึ่งจะถือเป็นช่วงเวลาที่รบกวนการนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพตามลำดับ

3. หลีกเลี่ยงคาเฟอีนนิโคตินและแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนซึ่งเป็นตัวกระตุ้น แหล่งที่มาของคาเฟอีน ได้แก่ กาแฟ, ช็อกโกแลต, ยาลดความอ้วน, น้ำอัดลม, ชาสมุนไพร, และยาแก้ปวด เป็นต้น

4. ผ่อนคลายก่อนนอน การอาบน้ำอุ่นการอ่านหนังสือหรือกิจวัตรการผ่อนคลายอื่นๆ จะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

5. รับแสงแดด แสงแดดช่วยให้นาฬิกาภายในร่างกายรีเซ็ตตัวเองทุกวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับแนะนำให้รับแสงแดดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงสำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ

6. อย่านอนบนเตียงในขณะที่ยังไม่หลับหรือตื่นอยู่ หากนอนไม่หลับอย่านอนบนเตียง ทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือหรือฟังเพลงจนกว่าจะรู้สึกเหนื่อย ความวิตกกังวลที่ไม่สามารถหลับได้จริง ๆ สามารถนำไปสู่การนอนไม่หลับได้

7. ควบคุมอุณหภูมิห้อง รักษาอุณหภูมิที่สะดวกสบายในห้องนอน ความร้อนหรือความเย็นจัดอาจทำให้การนอนหลับหรือขัดขวางไม่ให้หลับ

8. พบแพทย์ หากปัญหาการนอนหลับรบกวนการดำเนินชีวิตปกติประจำวัน และมีผลต่อการประกอบอาชีพ เพราะปัญหาการนอนหลับส่วนใหญ่สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ