svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เตือนภัยวัยรุ่นใช้ทรามาดอล ยาเขียวเหลืองฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ติดเหมือนฝิ่น

03 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์เตือนภัยวัยรุ่นใช้ "ยาเขียวเหลือง" ในทางที่ผิด ย้ำ “ทรามาดอล (Tramadol)” ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำประสาทหลอน ชัก อันตรายถึงตาย ใช้ผิดอาจเสพติด ควรปรึกษาแพทย์

จากกรณีที่มีการเผยแพร่เรื่องราวผ่านโลกโซเชียล เกี่ยวกับวัยรุ่นใช้ยาแก้ปวด “ทรามาดอล (Tramadol)” หรือที่กลุ่มวัยรุ่นเรียกว่า “ยาเขียวเหลือง” เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มีความสุข ไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน โดยไม่รู้ถึงพิษภัยของการใช้ยาผิดประเภท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองและไม่สามารถลุกเดินได้ หลังจากกินยาชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

เตือนภัยวัยรุ่นใช้ทรามาดอล ยาเขียวเหลืองฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ติดเหมือนฝิ่น

รู้จัก ทรามาดอล (Tramadol) “ยาเขียวเหลือง” ที่วัยรุ่นไทยใช้ในทางที่ผิด

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่าทรามาดอล (Tramadol) หรือที่รู้จักกันว่า “ยาเขียวเหลือง” เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน มีทั้งแบบยาเม็ดและยาแคปซูลในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง

ผลข้างเคียงที่พบจากการใช้ยาทรามาดอล เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มือสั่น ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม หากใช้ในปริมาณมากอาจเกิดประสาทหลอน ชัก และนำไปสู่การเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังพบอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุกร่วมกับความดันโลหิตสูง ภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน หากมีการใช้ยาหลายตัวร่วมกันโดยเฉพาะยาอี ยาบ้า จะยิ่งเสริมทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาทรามาดอลเพิ่มขึ้น 

“ทรามาดอล” ยาอันตราย ห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

สำหรับ “ทรามาดอล (Tramadol)” หรือ “ยาเขียวเหลือง” จัดเป็นยาอันตราย การใช้ยาต้องควบคุมโดยแพทย์และห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในทุกกรณี แต่ในปัจจุบันพบการลักลอบจำหน่ายตามช่องทาง Social Media (โซเชียลมีเดีย) หรือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งการใช้แบบยาเดี่ยวและผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้มีความต้องการปริมาณยาที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการติดยาในที่สุด

“ทรามาดอล” เสพติดเหมือนฝิ่น เฮโรอีน

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ยาทรามาดอล ทำให้เกิดการเสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกับฝิ่น เฮโรอีน หากได้รับเป็นเวลานานและหยุดยาทันทีจะเกิดอาการถอนยาได้ ในกรณีที่ไม่สามารถหยุดใช้ยาได้เองควรเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งแพทย์จะบำบัดอาการถอนยาและรักษาภาวะแทรกซ้อนทางกายและทางจิตควบคู่กันไป เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นจะส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเน้นการแก้ไขพฤติกรรมและเจตคติของผู้ป่วยเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้สามารถเลิกใช้ได้อย่างต่อเนื่อง

ขอย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นที่นำ ยาทรามาดอลมาใช้ในทางที่ผิด ให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวให้มาก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีการใช้จ่ายเงินมากขึ้นผิดปกติ พบสิ่งของต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุย บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลทางวิชาการ ยาแคปซูลเขียวเหลืองในทางการแพทย์จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังที่ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นไม่ได้ผล เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนยาป๊อค เป็นยาน้ำเชื่อม แก้แพ้ ลมพิษ เมารถเมาเรือ การใช้ยาเหล่านี้อย่างผิดๆ เช่น ใช้ในขนาดหรือปริมาณที่มากเกินปกติ หรือนำทั้งสองชนิดมารวมกัน (หรือใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดแทนยาป๊อค) การใช้ยาอย่างผิดๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว ชักเกร็ง และอาจอันตรายถึงชีวิตได้จากการกดการหายใจ

สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

logoline