svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

การศึกษาใหม่ชี้แสงไฟกลางคืนเพิ่มความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” มากกว่า 40%

คืนนี้ปิดให้มิด! ผลการศึกษาใหม่เผยการมีแสงไฟในขณะนอนหลับตอนกลางคืนส่งผลต่อสุขภาพ ชี้อาจเพิ่มความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” 40% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่สัมผัสแสงในระดับต่ำสุด

คุณภาพของการนอนส่งผลโดยตรงกับสุขภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2022 มีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ที่จัดทำโดย ดร.ฟีลลิส ซี ระบุว่า การเปิดไฟนอนไม่ใช่แค่ทำให้อ้วน แต่อาจส่งผลเสียต่อหัวใจและโรคเบาหวาน สำหรับการนอนหลับโดยมีแสงสว่างแม้ในระดับปานกลาง ก็เป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้ รวมถึงเพิ่มภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ในเช้าวันรุ่งขึ้น

ผลการทดลองครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อร่างกายได้รับแสงในขณะนอนหลับในเวลากลางคืน จะทำให้เกิดผลกระทบเหมือนกับการที่ร่างกายได้รับแสงในเวลากลางวัน ซึ่งจากผลการวิจัยก่อนหน้าระบุว่า การรับแสงในช่วงเวลากลางวันทำให้อัตราการเต้นหัวใจของแต่ละคนเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นของระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ซึ่งทำให้มีความตื่นตัวสูงขึ้น โดยระบบประสาทนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า Fight or Flight System (สู้หรือหนี) ที่ช่วยให้แต่ละคนเผชิญหน้าความท้าทายหรือหลีกเลี่ยงอันตราย

“การปล่อยให้มีแสงไฟในห้องขณะนอนหลับอาจเป็นอันตรายต่อระบบการทำงานของหัวใจได้ รวมทั้งส่งผลให้การควบคุมกลูโคสมีความบกพร่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และภาวะการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ (Metabolic Syndrome) ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงแสงสว่างขณะนอนหลับ หรือลดแสงสว่างให้เหลือน้อยที่สุด” ดร.ฟีลลิส ซี ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ กล่าว

การศึกษาใหม่ย้ำแสงไฟกลางคืนอาจเพิ่มความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” มากกว่า 40%

ล่าสุด มีการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Association Stroke เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการเปิดรับแสงไฟที่สว่างมากเกินไปตอนกลางคืน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้ โดยการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยเริ่มต้นดำเนินการศึกษา ประเมินการรับแสง และติดตามผลตลอดระยะเวลา 6 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2015-2021 กับผู้คนจำนวนมากกว่า 28,000 คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองหนิงโป ซึ่งเป็นเมืองใหญ่บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่สัมผัสกับแสงไฟในระดับสูงสุดในเวลากลางคืน มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่สัมผัสแสงในระดับต่ำสุด


การศึกษาใหม่ชี้แสงไฟกลางคืนเพิ่มความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” มากกว่า 40%
เจี้ยน-ปิง หวาง หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า เราแนะนำให้ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง พิจารณาลดการสัมผัสแสงไฟในตอนกลางคืนเพื่อป้องกันตัวเองจากผลกระทบที่เป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

“แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น การสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการเป็นโรคอ้วน และเบาหวานชนิดที่ 2 แต่การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจก็เป็นสิ่งสำคัญ”

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า มาจากการได้รับแสงสว่างอย่างต่อเนื่องในเวลากลางคืน มันสามารถยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ ส่งผลให้แนวโน้มสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น แสงไฟอาจมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ “โรคหลอดเลือดสมอง” จากการนอนหลับไม่เพียงพอ ตลอดจนคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีนั่นเอง

มลพิษทางอากาศส่งผลต่อการนอนและโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน

นอกเหนือจากแสงไฟ การศึกษาครั้งนี้ยังวิเคราะห์ “มลพิษทางอากาศ” ซึ่งพบว่ามีผลกระทบที่แตกต่างจากการสัมผัสแสง ดังนี้

  • คนที่สัมผัสมลพิษทางอากาศจาก “การเผาไหม้น้ำมันเบนซินหรือดีเซลและไม้” ในระดับสูงสุด มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่สัมผัสในระดับต่ำสุด
  • คนที่สัมผัสมลพิษทางอากาศจาก “ฝุ่นละอองหรือควัน” ในระดับสูงสุด มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นถึง 50%
  • คนที่สัมผัสไนโตรเจนออกไซด์จาก “ยานพาหนะและโรงงาน” ในระดับสูงสุด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 31%


“เราจำเป็นต้องพัฒนานโยบาย อีกทั้งกลยุทธ์การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดปัญหาโรคจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะทางแสงและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีมลพิษทั่วโลก” เจี้ยน-ปิง หวาง กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้างต้นอาจไม่สามารถนำไปใช้กับผู้คนในเมืองอื่นได้ เนื่องจากยังขาดเงื่อนไขอีกหลายประการ รวมถึงขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ให้แสงสว่างภายในอาคาร จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัดต่อไป

คำแนะนำในการลดแสงสว่างตอนกลางคืน

นักวิจัยได้แนะนำวิธีง่ายๆ เพื่อตรวจสอบว่าแสงไฟในห้องนอนสว่างเกินไปหรือไม่คือ หากยังสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในห้องนอนได้ดีแสดงว่าแสงไฟสว่างเกินไป พร้อมเผยว่า "ควรปิดไฟ" แต่หากจำเป็นต้องมีแสงไฟเพื่อความปลอดภัยก็ควรใช้ไฟที่มีแสงสลัวบนพื้น และใช้ไฟสีเหลืองหรือแดง/ส้ม เนื่องจากไฟที่มีสีเหล่านี้จะกระตุ้นสมองน้อย โดยควรหลีกเลี่ยงแสงไฟสีขาวหรือสีฟ้า และใช้ผ้าม่านที่ทึบหรือ Eye Mask หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงไฟที่มาจากนอกห้องนอนได้ รวมทั้งควรขยับเตียงนอนเพื่อไม่ให้แสงไฟจากนอกห้องนอนส่องมาบนใบหน้า ... รู้แบบนี้แล้วลองไปปรับใช้กับการนอนของเราดู เพื่อคุณภาพการนอนที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกินขึ้นในระยะยาว

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :