svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ยืนยันชัดเจน “นอนดึก ตื่นเที่ยง” สะสมระยะยาวทำให้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

01 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หยุดไลฟ์สไตล์ทำลายสุขภาพ รวมงานวิจัยชี้พฤติกรรม “นอนดึก ตื่นเที่ยง” เสี่ยงนาฬิกาชีวิตรวน เพิ่มโอกาสเกิดโรคเรื้อรัง สมาธิพัง ซ้ำยังทำให้อ้วนลงพุง

พฤติกรรมการนอนสะท้อนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการนอนดึกไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่อันตรายต่อสุขภาพ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าการนอนดึกอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ อย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งล่าสุดจากกรณีที่มีคลิปบนโลกออนไลน์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนอนดึก ตื่นเที่ยง ในระยะยาวเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง!!

นอนดึก ตื่นเที่ยง ทำนาฬิกาชีวิตรวนอย่างไร

การเข้านอนดึกและตื่นนอนสายๆ แม้จะรู้สึกว่าได้นอนเต็มอิ่ม แต่ก็ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่ดี เพราะการนอนดึกทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน ทำให้มีอาการคล้ายกับ Jet Lag ในทุกวัน คือมีอาการอ่อนเพลียในตอนกลางวัน และขาดสมาธิในการทำงาน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ซึ่งรวมถึงสมอง หัวใจ และหลอดเลือด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่เข้านอนในเวลาปกติด้วย

นอนดึก ตื่นเที่ยง ส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม

โดยเมื่อมีรูปแบบการนอนที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติในด้านการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย ระบบการเผาผลาญ การควบคุมปริมาณกลูโคส ความดันโลหิต ผิดปกติไป และคนที่นอนดึกเป็นประจำมักจะมีรูปแบบการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากจะละเลยการรับประทานอาหารในมื้อเช้า เพราะตื่นไม่ทันแล้ว ก็ยังกินอาหารไม่เป็นเวลา และมักมีการกินอาหารตอนดึกๆ แทน จึงมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และเบาหวานชนิดที่ 2 นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองที่ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าคนนอนเร็ว

นอนดึก ตื่นเที่ยง การทำงานของสมองทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิ

โดยจากงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Birmingham ของอังกฤษ พบว่ารูปแบบกิจกรรมหรือการทำงานของสมองในคนที่นอนดึกจะต่างจากคนที่นอนเร็วตื่นเช้า ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานได้ หลังจากทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่มที่มีสุขภาพดี กลุ่มหนึ่งนอนเร็วตื่นเช้า และกลุ่มหนึ่งนอนดึกตื่นสาย โดยให้กลุ่มอาสาสมัครเข้าเครื่อง MRI เพื่อสังเกตการทำงานของสมอง รวมถึงดูการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินและคอร์ติซอล ซึ่งมีผลต่อวงจรการนอนหลับและตื่นของมนุษย์ด้วย ปรากฏว่ารูปแบบการทำงานของสมองของกลุ่มคนที่นอนดึกจะส่งผลให้ในช่วงกลางวันไม่ค่อยมีสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งใดนานๆ และยังมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง รวมถึงมีระดับพลังงานที่ต่ำด้วย

นอนดึก ตื่นเที่ยง อันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

งานวิจัยจากฝั่งเกาหลี ชี้นอนดึก ตื่นสาย อันตราย!

ประเด็นการนอนดึกตื่นสาย แต่จำนวนชั่วโมงที่นอนเพียงพอนั้น ก่อให้เกิดผลเสียอะไรกับสุขภาพหรือไม่ มีงานวิจัยจากฝั่งเกาหลี ที่ทำในกลุ่มตัวอย่าง 1,620 คน โดยใช้แบบสอบถามเพื่อแบ่งประเภทว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นคนนอนหัวค่ำตื่นเช้า หรือเป็นคนนอนดึกตื่นสาย แล้วหาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการนอน กับโรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง กล้ามเนื้อถดถอยตามอายุ และโรคอื่นๆ โดยในการวิเคราะห์ทางสถิติ ได้มีการควบคุมปัจจัยอื่นๆคือ เพศ ดัชนีมวลกาย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา อาชีพ ระยะเวลาการนอน การใช้ยาลดความดัน ยาเบาหวาน ยาลดไขมัน ร่วมด้วย

ผลการวิจัยพบว่า คนที่นอนดึกตื่นสายนั้นสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน อ้วนลงพุง และกล้ามเนื้อถดถอยมากกว่าคนนอนหัวค่ำตื่นเช้า ซึ่งทางทีมวิจัยได้อธิบายว่า อาจเป็นผลจากการนอนไม่พอสะสม (คนนอนดึกตื่นสาย จะมีโอกาสนอนไม่พอมากกว่า โดยเฉพาะในวันทำงาน หรือในบางคนจำนวนชั่วโมงที่นอนพอ แต่คุณภาพการนอนไม่ค่อยดี) ไลฟ์สไตล์ของคนนอนดึกตื่นสายที่มักออกกำลังน้อยกว่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่มากกว่า และเหตุผลประการสุดท้ายคือ คนนอนดึกตื่นสายมีแนวโน้มจะกินอาหารหลังสองทุ่ม เป็นพลังงานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากอาหารมื้อปกติ

 

ความเสี่ยงสุขภาพของคนชอบนอนดึก ตื่นเที่ยง

รวม 8 ความเสี่ยงสุขภาพของคนชอบนอนดึก ตื่นเที่ยง

1. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงอ้วน

อย่างที่บอกว่าคนนอนดึกมักจะเสี่ยงต่อการกินอาหารมื้อหลัง 2 ทุ่ม และส่วนมากก็มักจะเลือกกินอาหารสำเร็จรูป แคลอรีสูง หรือบางคนจัดมื้อหนักซะเลย ซึ่งก็จะทำให้ร่างกายรับพลังงานส่วนเกินตรงจุดนี้เพิ่มเข้าไป เสี่ยงต่อภาวะไขมันสะสมจนอ้วนขึ้นได้ อีกทั้งคนนอนดึกตื่นสาย ก็มักจะพลาดอาหารเช้า ซึ่งเป็นอาหารมื้อสำคัญ และอาจทำให้วันนั้นเผลอจัดหนักกับมื้อกลางวันและมื้อเย็นจนได้รับพลังงานจากอาหารมากเกินความจำเป็นด้วย

2. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงเบาหวาน

ไม่ใช่แค่คนนอนดึกจะเสี่ยงกินอาหารมื้อดึกซึ่งเป็นอาหารน้ำตาลสูง แคลอรีสูงมากขึ้นเท่านั้น แต่การที่เราพลาดอาหารเช้า ก็อาจส่งผลให้เรารู้สึกอยากกินของหวาน ๆ เหมือนร่างกายต้องการน้ำตาลให้เลือดมากขึ้นด้วย ดังนั้นคนนอนดึกตื่นสายเลยมักจะอ้วนขึ้นและมีความเสี่ยงโรคเบาหวานมากขึ้นนั่นเอง

3. นอนดึก ตื่นเที่ยง ระบบย่อยอาหารผิดปกติ

ระบบย่อยและการดูดซึมอาหารของคนนอนดึกมักจะมีปัญหา เนื่องจากการนอนดึกจะทำให้การทำงานในระบบต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะการทำงานของถุงน้ำดี ที่ต้องส่งน้ำย่อยไปสู่ลำไส้เล็ก เพื่อช่วยย่อยอาหารและเปิดโอกาสให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งหากการทำงานของถุงน้ำดีบกพร่อง การจัดส่งน้ำดีเพื่อช่วยย่อยอาหารตรงนี้ก็จะขาดสมดุลไปด้วย และเมื่อเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องสักระยะ การทำงานของระบบย่อยอาหารก็จะมีปัญหาเรื้อรังตามมา

4. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงปวดหัว

การตื่นมาในเวลาที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวตื้อ ๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะจริง ๆ แล้วอุณหภูมิร่างกายของเราและการไหลเวียนของเลือดจะมีการปรับเปลี่ยนตามตามอุณหภูมิของแสงภายนอก นั่นหมายความว่า หากปกติตื่นเช้ามาเจอแสงแดดอ่อน ๆ ร่างกายก็จะคุ้นชินกับการปรับตัวร่วมกับแสงอ่อน ๆ นั้น ทว่าพอตื่นสายแล้วลืมตามาเจอแสงแดดที่รุนแรงขึ้น การปรับตัวของหลอดเลือดก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย จนอาจทำให้หลอดเลือดขยายตัวเพื่อเร่งการสูบฉีดเลือดและเพิ่มอุณหภูมิร่างกายให้เท่า ๆ กันกับสภาพอากาศภายนอก และกระบวนการนี้อาจทำให้เรารู้สึกมึนหัวขึ้นมาได้ง่าย ๆ

5. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงเฉื่อยชา

สังเกตไหมคะว่าการนอนตื่นสายมักจะทำให้เรารู้สึกขี้เกียจมากขึ้น บางคนตื่นแล้วแต่ขี้เกียจลุกออกจากเตียง นอนกลิ้งมันอยู่อย่างนั้น หรือนอนจมบนเตียงทั้งวันก็มี ซึ่งสภาวะแบบนี้ก็ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อถดถอย ยิ่งถ้าเป็นคนไม่ค่อยออกกำลังกายด้วยแล้วก็ยิ่งเสี่ยงกันไปใหญ่ ซึ่งแนวโน้มของคนนอนดึกตื่นสายก็มักจะขี้เกียจเคลื่อนไหวร่างกายด้วยนี่สิ

นอนดึก กระทบกับการทำงานของสมอง

6. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง

อวัยวะในร่างกายของเรามีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนเช่นกัน โดยเฉพาะตับกับไต สองอวัยวะสำคัญนี้ต้องการเวลาพักผ่อนตามเวลานอนหลับปกติของมนุษย์เราค่ะ ทว่าหากถึงเวลาต้องพักแล้วตับกับไตยังไม่ได้พัก ก็จะเกิดความรู้สึกอ่อนล้า หรือที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเรียกว่า ภาวะยินของตับพร่อง และไตพร่อง ระบบการคัดกรองของเสียในร่างกายขาดสมดุล ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้เราป่วยง่าย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำงานของไต ผมร่วง กระดูกและฟันอ่อนแอลงได้

7. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงเบลอ สมาธิสั้น

โดยเฉพาะคนที่มักจะนอนดึกตื่นสายในวันหยุดเป็นประจำ พอเช้าวันจันทร์จะตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกอึน ๆ เนื่องจากนอนไม่พอทันที เพราะในช่วงที่เรานอนดึกและตื่นสายในวันหยุด นาฬิการ่างกายจะถูกปรับเปลี่ยนไปทีละนิด จากที่เคยนอนตื่นเวลานี้ ร่างกายก็จะสั่งให้สมองพร้อมตื่นตัวในเวลาที่เลทลง ส่งผลให้เช้าวันที่ต้องตื่นตั้งแต่หัวรุ่ง สมองก็ยังไม่พร้อมจะทำงาน เกิดอาการงัวเงีย ไม่พร้อมเรียนรู้ ไม่มีสมาธิ รวมไปถึงทักษะในการตัดสินใจก็จะลดประสิทธิภาพลงด้วย

8. นอนดึก ตื่นเที่ยง เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอริโซนา พบว่า การนอนและตื่นผิดเวลานาฬิกาของร่างกาย จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ทั้งนี้นักวิจัยอธิบายว่า การนอนดึกตื่นสายของบางคนไม่ใช่การนอนหลับที่มีคุณภาพดี เพราะธรรมชาติของร่างกายเรา เคยตื่นเวลาไหนบ่อย ๆ ก็มักจะสะดุ้งตื่นในเวลาเดิม ซึ่งหากในวันที่คุณคิดจะตื่นสาย ๆ แต่ดันสะดุ้งตื่นตอนเช้าตามเวลาที่เคยตื่น ร่างกายก็จะกลับไปหลับไม่สนิทหรอกนะ ส่งผลให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด และกระทบมาถึงความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้

นอกจากนี้การนอนดึกตื่นสายอาจส่งผลร้ายกับความสวยความงามได้ด้วยนะคะ เพราะหากระบบภายในร่างกายไม่ปกติหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะการย่อยหรือการขับถ่าย ผิวพรรณของเราก็จะหมองคล้ำ ดูไม่สดใสเปล่งปลั่ง บอกให้รู้ชัดเลยว่าไม่ใช่สายเฮลธ์ตี้แน่ๆ

 

วิธีแก้ปัญหาการนอนดึก ที่ช่วยให้หลับสบายขึ้น

รู้ข้อเสียของการนอนดึก ตื่นเที่ยง กันไปแล้ว ลองมาดูวิธีแก้ปัญหาที่ช่วยให้เราหลับสบายเพื่อสุขภาพที่ดีและห่างไกลจากโรคเรื้อรัง ดังนี้

  • เข้านอนให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ
  • ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสมแก่การนอน โดยห้องนอนควรมืดสนิทและไม่มีเสียงรบกวนแทรกเข้ามาได้ 
  • ไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ บนเตียงนอน เช่น ดูทีวี หรือเล่นเกมมือถือ 
  • อาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่นก่อนเข้านอน และไม่ออกกำลังกายก่อนเข้านอน
  • ถ้านอนไม่หลับเกิน 15-20  นาที ให้ลุกออกจากเตียงมาหากิจกรรมอย่างอื่นทำ ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง นั่งสมาธิ หรืออ่านหนังสือวิชาการ ซึ่งน่าจะช่วยให้รู้สึกง่วงได้ไม่น้อย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดความตึงเครียดทางอารมณ์และร่างกาย
  • ไม่ควรนอนเวลากลางวัน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรนอนไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ
  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักหรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เพราะจะทำให้ปวดท้อง เนื่องจากมีอาการกรดไหลย้อน

เพียงเท่านี้คุณภาพการนอนเราก็จะดีขึ้น ส่งผลให้สุขภาพของเราดีขึ้นตามไปด้วย

logoline