svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

จับพิรุธจุดก่อ “มะเร็ง” หมั่นสังเกตก่อนเกิดโรค เพิ่มโอกาสหายได้ทุกวัย

28 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Top 5 มะเร็งคุกคามคนไทยคือมะเร็งชนิดใด และอาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย แพทย์ชี้ “มะเร็ง” ต้องหมั่นสังเกตก่อนเกิดโรค ช่วยเพิ่มโอกาสหายได้ทุกวัย

“โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย หลายคนอาจคิดว่า “กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง ก็ต้องเข้าสู่ระยะร้ายแรงและรักษายากแล้ว” ซึ่งไม่จริงเสมอไป! เพราะหากเราหมั่นสังเกตและดูแลร่างกายตัวเองเป็นอย่างดี ทันทีที่พบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัยแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก็จะทำให้สามารถพบรอยโรคในระยะแรกๆ ได้ ซึ่งโอกาสในการรักษาหายก็จะสูงตามไปด้วย

ทำไมต้องรอให้สงสัยว่าเราเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่?

เพื่อสนับสนุนการรณรงค์เดือนแห่งการตระหนักถึง “โรคมะเร็ง” และให้คนทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญในการใส่ใจและป้องกันโรคมะเร็งก่อนจะเกิดอาการน่าสงสัย โรงพยาบาล พญาไท 2 เผยในปัจจุบันโรคมะเร็ง นับเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก

โดยจากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน ซึ่งโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ

  1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งเต้านม
  4. มะเร็งปากมดลูก
  5. มะเร็งเม็ดเลือดขาว

Top 5 มะเร็งคุกคามคนไทย

วัยไหนเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง

ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง จะเริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่สำหรับกลุ่มโรคมะเร็งทางพันธุกรรมจะมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในช่วงอายุตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือน้อยกว่านั้น และกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของโรคมะเร็ง เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรม โดยผู้ที่มียีนมะเร็งทางพันธุกรรมนี้จะมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคมะเร็งเช่นเดียวกับคนในครอบครัวมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ตามสถิติทางการแพทย์นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จึงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นพิเศษ!! โรคมะเร็งทางพันธุกรรมเป็นโรคมะเร็งที่สามารถถ่ายทอดได้จากรุ่นสู่รุ่น และสามารถเกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

โรคมะเร็งทางพันธุกรรมนั้น เราไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะได้รับการตรวจเลือดหรือเกิดโรคมะเร็งขึ้นมาเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดีคนไข้สามารถตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงได้จากข้อมูลการพบญาติในสายใกล้ชิด เช่น ยาย แม่ พี่น้องของคุณแม่ และพี่น้องของเราเอง มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง ตั้งแต่ 1 – 2 คนขึ้นไป ให้ตั้งข้อสงสัยว่าตัวเราเองอาจมีสิทธิ์เป็นโรคมะเร็งทางพันธุกรรม หรือป่วยเป็นโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 50 ปีหากสันนิษฐานว่าตัวเองอาจเป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยก่อนที่จะเกิดอาการน่าสงสัย เพื่อเป็นการป้องกันและรู้ทันไว้ก่อนในเบื้องต้น

“มะเร็ง” ต้องหมั่นสังเกต ก่อนเกิดโรค

การใส่ใจสุขภาพและตรวจประเมินเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง เป็นอีกหนึ่งวิธีตรวจที่ช่วยคัดกรองโรคมะเร็ง ด้วยการตรวจเลือด การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งจะใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติภายในร่างกาย แนะนำให้ทำการตรวจควบคู่กับการตรวจคัดกรองในรูปแบบอื่นของมะเร็งชนิดนั้นๆ เพื่อความละเอียดและแม่นยำ เพราะถ้าหากเราพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น โดยแพทย์จะซักประวัติและนำไปคำนวณหาความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งทางพันธุกรรมและหากพบว่าคนไข้มีความเสี่ยงจากประวัติครอบครัว แพทย์จึงทำการตรวจเลือดหายีนมะเร็งทางพันธุกรรมเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าคนไข้มีสิทธิ์เป็นโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจยีน 2 กลุ่ม คือยีน BRCA1 และ ยีน BRCA2 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ หากพบว่ายีนทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความผิดปกติ นั่นหมายความว่ามีโอกาสเกิดโรคมะเร็งและสามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้นั่นเอง

ตรวจมะเร็งก่อนเสี่ยงมีข้อดีมากกว่าที่คิด

คนส่วนมากมักจะไม่อยากมาตรวจเพราะกลัวว่าจะเจอว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง แต่ความเป็นจริงแล้วการตรวจเลือดหายีนโรคมะเร็งทางพันธุกรรมนั้นมีข้อดีมากกว่าที่คิด และในปัจจุบันวิทยากรทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีแนวทาง และยารักษาโรคใหม่เสมอ การที่คนไข้รู้ตัวเร็วจึงมีแต่ข้อดีมากกว่าข้อเสีย จึงอยากให้มองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้คนไข้ต่อสู้กับโรคร้ายได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง แต่ยังช่วยให้เรามีโอกาสรักษาโรคที่พบในระยะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ชีวิตในทุกๆ วันได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวล และมีสุขภาพที่แข็งแรงจากการวางแผนดูแลตัวเองเมื่อได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุกๆ ปี

จับพิรุธจุดก่อ “มะเร็ง” หมั่นสังเกตก่อนเกิดโรค เพิ่มโอกาสหายได้ทุกวัย

จับพิรุธจุดก่อ “มะเร็ง” หมั่นสังเกตก่อนเกิดโรค เพิ่มโอกาสหายได้ทุกวัย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพญาไท อธิบายอาการที่เป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งที่พบบ่อย ดังนี้

1 มะเร็งตับ

มะเร็งตับในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการแสดง ต่อเมื่อโรคลุกลามหรือเป็นหนักขึ้นผู้ป่วยจึงสังเกตได้ ทั้งนี้คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือมีตับแข็งจากทุกสาเหตุ ควรตรวจคัดกรองแม้ยังไม่มีอาการใดๆ แต่อาการที่พอจะสังเกตได้คือ

  • ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือบริเวณลิ้นปี่
  • ท้องบวมโตขึ้น มีน้ำในช่องท้อง
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
  • ตัวเหลืองและตาเหลือง
  • อาเจียนเป็นเลือด

 

2 มะเร็งปอด

หลายคนคงคาดไม่ถึงว่า “มะเร็งปอด” จะเป็นโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงมากจนติดอันดับเช่นกัน ที่สำคัญยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากทีเดียว อาการของโรคจะเริ่มปรากฏเมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว

  • มีอาการหอบ เหนื่อย
  • หายใจผิดปกติ หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
  • ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด
  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกตลอดเวลา
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

3 มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมะเร็งในสตรี อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ จะไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าจะตรวจพบด้วยแมมโมแกรม แต่คุณผู้หญิงอาจสังเกตความผิดปกติต่างๆ ได้ด้วยตัวเองก่อน เช่น

  • คลำพบก้อนบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
  • เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป
  • ระคายเคืองบริเวณผิวหน้าอก มีผื่นคันบริเวณเต้านม
  • ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
  • มีแผลที่บริเวณหัวนม
  • มีอาการเจ็บที่เต้านม แม้ไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือน
  • มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม

 

4 มะเร็งปากมดลูก

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) มะเร็งปากมดลูกเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่พบมาก สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง แม้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดเชื้อได้ มะเร็งปากมดลูกถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิง ฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติดังนี้ ควรรีบพบแพทย์

  • มีเลือดไหลออกจากช่องอย่างผิดปกติ อาจมีเลือดออกหลังระยะที่เพิ่งหมดประจำเดือน หรือมีเลือดออกในผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว
  • มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่าปกติ
  • มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาวที่มีลักษณะเป็นน้ำและข้น มีเลือดปน
  • ปวดท้องน้อย หรือปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ไม่ใช่ปวดประจำเดือน

 

5 มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย

เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบเลือดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเติบโตผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป อาการที่แสดงออกจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคด้วย

  • รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • มีภาวะซีด อ่อนเพลียง่าย
  • มีเลือดออกง่าย เพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • เหงื่ออกมากตอนกลางคืน
  • มีรอยฟกช้ำได้ง่าย
  • ปวดกระดูกและข้อ
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย

 

ใช้ชีวิตอย่างไรให้ไกลจากโรคมะเร็ง

  • ไม่สูบบุหรี่ และไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูดดมควันบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารอย่างพอเหมาะ ให้ได้สารอาหารครบถ้วน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันในมะเร็งที่มีวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี สาเหตุมะเร็งปากมดลูก
  • หมั่นตรวจเช็กสุขภาพ โดยเฉพาะตรวจเช็กความเสี่ยงมะเร็งก่อนสงสัย เพื่อป้องกันไว้ก่อน

 

logoline