svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

6 ข้อสรุปเรื่อง "นมวัว" ทำลายสุขภาพจริงหรือ? เคลียร์ทุกคำถามคาใจในอดีต

28 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผยผลการศึกษาเชิงประจักษ์และหลักฐานทางการแพทย์ เกี่ยวกับ "ผลของการบริโภคนมวัวต่อสุขภาพเด็ก" ยุติข้อถกเถียง "นมวัว ทำลายสุขภาพ" ที่แพร่หลายในสังคมไทย

“มีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอที่สนับสนุนว่า การบริโภคนมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ไม่มีหลักฐานว่าการบริโภคนมวัวทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น” ส่วนหนึ่งของผลการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์ ที่ชี้แจงโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราอาจสับสนกับชุดข้อมูลข่าวสาร ประเด็นเรื่อง "นมวัว ทำลายสุขภาพ" กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย เช่น สารตกค้างในนมวัว นมวัวกับการย่อยของร่างกาย หรือร้ายแรงถึงกระทั่งกินนมวัวทำให้โรคภูมิแพ้ เสี่ยงเป็นมะเร็ง ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงหรือแค่ข่าวลือ วันนี้เรามีคำตอบที่ชัดเจนแล้ว

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ผลของการบริโภคนมวัวต่อสุขภาพเด็ก"

โดยล่าสุดทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ผลของการบริโภคนมวัวต่อสุขภาพเด็ก" โดยมีพื้นฐานอยู่บนผลการศึกษาเชิงประจักษ์และหลักฐานทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

1. เคซีนในนมวัวกับการย่อยของร่างกาย

เคซีนเป็นโปรตีนหลักที่พบในน้ำนมวัว ทำหน้าที่จับกับแคลเซียมและฟอสเฟตแขวนลอยอยู่ในน้ำ ทำให้น้ำนมมีลักษณะสีขาวขุ่น ในเด็กปกติที่ไม่ได้มีปัญหาการย่อยอาหารบกพร่อง ก็จะไม่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องจากการบริโภคนมวัว

2. สารตกค้างในนมวัว

มีการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนทั้งทางด้านโภชนาการและจุลินทรีย์ ตามรายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 พบว่า ร้อยละ 97 มีคุณภาพผ่านมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 350 (พ.ศ. 2556) ในปี พ.ศ. 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์และยูเอชที ไม่พบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาต้านจุลชีพตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ

3. นมวัวกับภาวะกระดูกพรุน

นมวัวเป็นแหล่งสำคัญของโปรตีนคุณภาพ แคลเซียม และฟอสฟอรัสที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง มีการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่ากลุ่มเด็กที่บริโภคนมมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นทั้งร่างกายประมาณร้อยละ 3 เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคนม นอกจากนี้ ยังเพิ่มระดับฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเติบโต เช่น insulin-ike growth factor 1 (IGF-1) และลดการสลายกระดูก รวมถึงการบริโภคนมที่เสริมวิตามินดีจะสามารถเพิ่มระดับวิตามินดีได้เฉลี่ย 5 นาโนกรัม/มล. ซึ่งเทียบได้ประมาณหนึ่งในสี่ของระดับปกติในร่างกาย ทั้งนี้ การที่เด็กได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอตามวัยตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น จะช่วยทำให้มวลกระดูกสูงสุดดีเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และป้องกันภาวะกระดูกบางเมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและสูงอายุ

การบริโภคนมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ไม่มีหลักฐานว่าการบริโภคนมวัวทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

4. นมวัวกับโรคมะเร็ง

นมวัวประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิดที่อาจมีผลในการกระตุ้นหรือยับยั้งการเกิดมะเร็ง เช่น แลคโตเฟอริน วิตามินดี กรดไขมันสายสั้น กรดไขมันอิ่มตัว และ IGF-1 มีการทบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ พบว่ามีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอที่สนับสนุนว่า การบริโภคนมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ไม่มีหลักฐานว่าการบริโภคนมวัวทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

5. นมวัวกับโรคออทิซึม

ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ที่ยืนยันว่านมวัวมีส่วนทำให้เกิดโรคออทิซึม ในทางตรงกันข้าม การงดบริโภคนมวัวในเด็กที่เป็นโรคออทิซึมทำให้เกิดผลเสีย เพราะนมวัวเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดอะมิโน-ทริปโตแฟน ซึ่งจะเปลี่ยนป็นซีโรโทนินในร่างกายและออกฤทธิ์ในการควบคุมอารมณ์ ปรับพฤติกรรม และช่วยในการนอนหลับ

6. นมวัวกับโรคภูมิแพ้

ทารกและเด็กเล็กที่บริโภคนมวัว มีเพียงร้อยละ 1.7 จะเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัว ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองกับโปรตีนในนมวัวและมีอาการแสดงออกได้หลายระบบ อาทิ ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร สำหรับข้อกังวลเรื่องการได้รับนมวัวแล้วทำให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้น องค์กรวิชาชีพทั่วโลกมีคำแนะนำว่า การจำกัดการบริโภคนมวัวในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ไม่ช่วยในการป้องกันโรคแพ้โปรตีนนมวัวในทารก รวมถึงการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมานล่าสุด ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการที่เด็กได้รับนมวัวกับการเกิดโรคหอบหืด การหายใจลำบากมีเสียงหวีด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคแพ้โปรตีนนมวัว

ดังนั้น จากข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้สรุปมาข้างต้น ร่วมกับคุณค่าทางโภชนาการของนมวัว ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

โดยที่นมปริมาตร 100 ซีซี ให้พลังงานทั้งหมด 64-67 กิโลแคลอรี  โปรตีน 3.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.7 กรัม (ส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาลแลคโตส) และไขมัน 3.7 กรัม (กรดไขมันส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) มีแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญ ได้แก่ แคลเซียม เมกนีเซียม ซีลีเนียม วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 และกรดแพนโททีนิกซึ่งถูกดูดซึมได้ดี

จึงควรส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนบริโภคนมวัววันละ 3 แก้ว (แก้วละ 200 ซีซี) ส่วนเด็กวัยเรียนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ รวมถึงสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร แนะนำให้บริโภคนมวัววันละ 2-3 แก้ว

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เผยผลการศึกษาเชิงประจักษ์และหลักฐานทางการแพทย์ เกี่ยวกับ "ผลของการบริโภคนมวัวต่อสุขภาพเด็ก"

logoline