ปัจจุบันโครงสร้างประชากรโลกเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และในปี 2583 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ตามมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น คือการเพิ่มขึ้นของโรคภัยต่างๆ และภาระทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับความชรา
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรโลก เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย หรือ โรค NCD ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกองควบคุมโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ในประเทศไทย ที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ อาทิ การรับประทานอาหาร หวานจัด เค็มจัด อาหารปิ้งย่าง การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ไม่ออกกําลังกาย นอนดึก มีความเครียดสูง พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการทำลายเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาว ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เป็นที่มาของ Longevity Medicine หรือศาสตร์การดูแลทางการแพทย์ ที่มุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้อยู่อย่างมีความสุข โดยไม่เจ็บป่วยและสามารถดูแลตัวเองได้ตลอดช่วงอายุขัยเพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพนั่นเอง
โดยล่าสุด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ จัดงาน Exclusive Talks หัวข้อ “Longevity Medicine: Upskilling the Physicians of Tomorrow” และ หัวข้อ “Longevity Medicine: Shaping the Future of Healthy Aging” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และยกระดับการแพทย์ด้าน Longevity Medicine โดยได้รับเกียรติจาก พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน และได้รับเกียรติจากผู้ชำนาญการด้านสุขภาพและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติด้าน Longevity medicine 3 ท่าน ได้แก่ ดร. ไบรอัน เคนเนดี้, ดร. คอลลิน อีวาลด์ และดร. เอเวอร์ลีน บิสชอฟ มาเป็นวิทยากรรับเชิญในงาน
พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน สตรีหมายเลข 1 ของประเทศไทย และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามด้านผิวพรรณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การแพทย์เพื่ออายุยืนยาวแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพไปอีกขั้น ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มุ่งเน้นไปที่การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพที่ดีตลอดชีวิตของเรา ความรู้ทางการแพทย์ในเรื่อง Longevity Medicine นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดอนาคตด้านการดูแลสุขภาพ ทำให้แพทย์สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้เพื่อให้การดูแลสุขภาพที่ครอบคลุม เป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุกและเฉพาะบุคคลมากขึ้น
ดร. ไบรอัน เคนเนดี้ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสาขาการวิจัยเรื่องอายุ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางชีววิทยาของการสูงวัย และมีส่วนร่วมในการวิจัยที่เน้นเรื่องการชะลอปัจจัยที่ทำให้เกิดความชรา รวมถึงงานวิจัยเรื่องการศึกษาพันธุศาสตร์ ชีววิทยาของเซลล์ บทบาทของยีนบางชนิดและสารประกอบต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความชรา ตลอดจนประสิทธิผลของการอดอาหารและการจำกัดแคลอรี่ และศักยภาพของยา เช่น ราปามัยซิน ในการยืดอายุขัย ควบคู่ไปกับความสำคัญของวิธีการออกกำลังกายอย่างยั่งยืน อาหารเพื่อสุขภาพ การจัดการความเครียด และการนอนหลับที่มีคุณภาพเพื่อการมีอายุยืนยาว
ดร. คอลลิน อีวาลด์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสที่โด่งดังจากงานวิจัยเกี่ยวกับกลไกระดับโมเลกุลของการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี งานวิจัยของดร. คอลลิน ได้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ประสาทและความชรา และเขาได้มีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจบทบาทของการส่งสัญญาณอินซูลิน/IGF-1 ต่อโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมดุลของคอลลาเจนในช่วงอายุยืนยาว รวมถึงการกำหนดโปรตีนที่สร้างเมทริกซ์นอกเซลล์ ทีมงานของดร. คอลลิน ใช้ข้อมูลการแสดงออกของยีนเพื่อทำนายยาที่สามารถชะลอความชราได้
ดร. เอเวอร์ลีน บิสชอฟ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเซี่ยงไฮ้ มีความเชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ และเป็นผู้นำในการบูรณาการด้านการใช้ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นในเชิงการแพทย์อายุยืนยาว งานของดร.เอเวอร์ลีน ในด้านวิทยาผู้สูงอายุและการพัฒนาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการวินิจฉัย กำลังปฏิวัติแนวทางการปฏิบัติทางคลินิกในเรื่องผู้สูงวัยและมะเร็งโดยใช้ข้อมูลเฉพาะบุคคล ซึ่งมีส่วนสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันโรคมะเร็งในคนอายุ 100 ปี ที่มีประวัติทางพันธุกรรมได้อย่างไร นอกจากนี้ ดร. เอเวอร์ลีน บิสชอฟ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัดทางชีวภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความชรา เช่น นาฬิกาแสดงการแก่ชรา เพื่อบูรณาการเข้ากับการปฏิบัติทางคลินิก แนวทางนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อการมีอายุยืนยาวและพัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามท่านนี้ไม่เพียงแต่ผลักดันขอบเขตของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในเรื่องสุขภาพและการดูแลป้องกันอีกด้วย ผลงานวิจัยของพวกเขาเป็นสัญญาณแห่งความหวังสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจและเปิดรับศักยภาพสูงสุดของการแพทย์เพื่อการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาศาสตร์ด้านการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยนวัตกรรมและวิธีการที่ทันสมัย ตลอดจนทุ่มเททำการวิจัย เพราะความจำเป็นในการดูแลสุขภาพในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกัน การส่งมอบการดูแลสุขภาพจึงต้องปรับเปลี่ยนตาม เพื่อจุดหมายแห่งการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ และเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ในทุกช่วงวัย