svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เคล็ดลับสุขภาพ : 6 อาหารกรดยูริกสูง กินมาก-กินบ่อย โรคเกาต์ถามหา

08 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความเข้าใจ “ภาวะกรดยูริกสูง” “โรคเกาต์” และ “พิวรีน” ที่จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด พร้อมเช็กลิสต์ 6 อาหารกินเยอะ กินบ่อย เสี่ยงข้ออักเสบเพราะเกาต์กำเริบ!

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) คือภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ โดย “เพศชาย” มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่ “เพศหญิง” มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผลจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี ทําให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรต (Urate Crystal) ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย

ประมาณร้อยละ 10-15 ของคนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงจะเกิดข้ออักเสบ หรือที่เรารู้จักกันว่า “โรคเกาต์” ที่แบ่งเป็นระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ระยะสงบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (Chronic Tophaceous Gout) ซึ่งได้แก่ เกลือยูเรตที่สะสมบริเวณต่างๆ หากสะสมที่ผิวหนังจะเกิดเป็นตุ่มก้อน สะสมในข้อทำให้ข้อถูกทำลายผิดรูปได้

นอกจากนี้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่

  • เกลือยูเรตสะสมในไตเกิด “ไตวายเรื้อรัง”
  • ภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

โดยมักพบร่วมกับภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในโลหิตสูง

เคล็ดลับสุขภาพ : 6 อาหารกรดยูริกสูง กินมาก-กินบ่อย โรคเกาต์ถามหา

 

โรคเกาต์ คือโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่พบได้บ่อยเกิดขึ้นได้ในทุกเพศและทุกวัย ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการปวดที่เกิดขึ้นเร็ว บวมแดง และแสบร้อนข้อต่อในร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้า โรคเกาต์สามารถกำเริบขึ้นได้ทุกเวลาซึ่งทำให้ตื่นกลางดึกด้วยความปวดร้อนบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าเหมือนถูกไฟลวก ซึ่งความรุนแรงของอาการโรคเกาต์อาจมีสลับหนักเบาในบางครั้ง

การวินิจฉัยโรคเกาต์จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย ร่วมกับระดับกรดยูริกในเลือดสูง การตรวจพบลักษณะของผลึกยูเรตสะสมจากอัลตราซาวน์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการตรวจพบผลึกเกลือยูเรตจากน้ำไขข้อ

ดังนั้น “โรคเกาต์” จึงเป็นโรคใกล้ตัวที่หลายคนอาจเสี่ยงได้โดยไม่รู้ตัว สำหรับสาเหตุใหญ่คือเรื่องของ “พันธุกรรม”  และ “อาหารการกิน” ที่มีส่วนเป็นอย่างมาก

มาดูกันว่า 6 อาหารกินเยอะ กินบ่อย อาจเสี่ยงโรคเกาต์ได้ มีอะไรบ้าง

1 น้ำหวานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรือทุกเครื่องดื่มที่ใส่น้ำเชื่อม เพราะในน้ำเชื่อมอาจจะมี น้ำตาลฟรุ๊กโตสผสมอยู่ ทำให้ระดับกรดยูริกในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น

2 เนื้อสัตว์ มักจะมีพิวรีน ซึ่งจะแตกตัวกลายเป็นกรดยูริกในร่างกาย อาจจะจำกัด ปริมาณให้ไม่เกิน 113-170 กรัม/วัน

เคล็ดลับสุขภาพ : 6 อาหารกรดยูริกสูง กินมาก-กินบ่อย โรคเกาต์ถามหา

3 เครื่องในสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต สมอง ฯลฯ ของสัตว์ทุกชนิด จะเป็นส่วนที่มีพิวรีนสูงกว่าเนื้อเสียอีก ควรหลีกเลี่ยง หรือนาน ๆ ทานครั้งหนึ่ง

4 ขนมขบเคี้ยว เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งไขมันชนิดนี จะทำให้กระบวนการกำจัด กรดยูริกในร่างกายทำงานได้ช้าลง

เคล็ดลับสุขภาพ : 6 อาหารกรดยูริกสูง กินมาก-กินบ่อย โรคเกาต์ถามหา

5 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะเบียร์ทุกชนิด เนื่องจากเบียร์มีส่วนผสมของยีสต์ที่มีพิวรีนสูง

6 ผักชะอม, กระถิน เป็นผักที่มีกรดยูริกสูงมาก ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายเราไม่ควรมีค่ากรดยูริกในเลือดเกิน 6-8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

การจัดประเภทอาหารที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกันคนเป็นโรคเกาต์ ได้แก่

เคล็ดลับสุขภาพ : 6 อาหารกรดยูริกสูง กินมาก-กินบ่อย โรคเกาต์ถามหา

อาหารที่ควรงด เนื่องจากมีพิวรีนสูงมากกว่า  150 มก. อาทิ

  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ตับอ่อน, ไส้, ม้าม, หัวใจ, สมอง, กึ๋น, เซ่งจี๊
  • สัตว์ปีก เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน
  • ปลาดุก, กุ้ง,กุ้งซีแฮ้ หอย, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาขนาดเล็ก, ปลาซาร์ดีน, ไข่ปลา
  • ชะอม, กระถิน, เห็ด
  • ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
  • น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์
  • น้ำสะกัดเนื้อ, ซุปก้อน, น้ำต้มกระดูกปลาดุก, น้ำซุปต่างๆ น้ำสกัดเนื้อ

อาหารที่ควรลด มีพิวรีนปานกลาง 50-150 มก. อาทิ

  • เนื้อสัตว์ เช่น หมู, วัว
  • ปลาทุกชนิด เช่น ปลากระพงแดง (ยกเว้น ปลาดุก ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาซาร์ดีน) และอาหารทะเล เช่น ปลาหมึก, ปู
  • ถั่วลิสง, ถั่วลันเตา
  • ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, หน่อไม้ฝรั่ง, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม, สะตอ, ใบขี้เหล็ก
  • ข้าวโอ๊ต
  • เบียร์ เหล้าชนิดต่างๆ เหล้าองุ่น ไวน์ (ทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)

อาหารที่รับประทานได้ตามปกติ มีพิวรีนน้อย 0-50 มก. อาทิ

  • ข้าวชนิดต่างๆ 
  • ถั่วงอก, คะน้า
  • ผลไม้ชนิดต่างๆ
  • ไข่
  • นมสด, เนย และเนยเทียม
  • ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
  • ไขมันจากพืช และสัตว์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคเกาต์กําเริบขึ้นภายหลังจากการรับประทานอาหาร ควรงดอาหารชนิดนั้นๆ ไป และควรปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยพิจารณาโรคร่วมอื่นๆ ด้วย

 

7 เคล็ดลับดูแลตัวเองจากโรคเกาต์โดยไม่ใช้ยา

  1. ลดน้ำหนัก หากมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรลดแบบช้าๆ จนได้ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม
  2. การรักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ การหยุดสูบบุหรี่
  3. ปรับเปลี่ยนยาที่มีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น ยาขับปัสสาวะบางชนิด
  4. แนะนําให้ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน ในผู้ที่ไม่มีข้อห้าม เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจบางประเภท
  5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งพิวรีนจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในร่างกาย
  6. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ หรือการออกกําลังกายอย่างหักโหม เนื่องจากจะทําให้ข้ออักเสบกําเริบ
  7. ขณะที่มีข้ออักเสบ ควรพักการใช้งานตำแหน่งดังกล่าว การประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการปวดบวมได้

 

logoline