svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เคล็ดลับสุขภาพ : น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ต้องป่วยเบาหวานก็เป็นได้

ใครเคยฝันร้าย ร้องไห้ขณะหลับ เหงื่อออกมาก รู้สึกเหนื่อย หงุดหงิดหรือสับสนหลังจากตื่นนอน อาจเป็นอาการของ “น้ำตาลในเลือดต่ำ” ความผิดปกติที่คนสุขภาพดีก็เป็นได้ และอันตรายในผู้ป่วยโรคเบาหวาน พร้อมวิธีการดูแลตัวเองเมื่อเริ่มรู้สึกน้ำตาลตก!!

“น้ำตาลในเลือดต่ำ” คำที่หลายคนคิดว่าไม่ต้องกังวลเพราะไม่ได้เป็น “โรคเบาหวาน” แต่ความจริง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ” เป็นได้ไม่เลือกเพศ! ไม่เลือกวัย! และไม่เลือกโรค!

เคล็ดลับสุขภาพ : น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ต้องป่วยเบาหวานก็เป็นได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำคืออะไร?

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หรือภาวะกลูโคสในเลือดต่ำ (Low Blood Glucose) เกิดขึ้นเมื่อระดับกลูโคสในเลือดลดลงต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในคนปกติ หรือต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตรในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน โดยสาเหตุภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นสูงกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินมากกว่าในคนปกติ

อาการของน้ำตาลในเลือดต่ำ บางครั้งอาจเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ เช่น  ฝันร้าย ร้องไห้ขณะหลับ เหงื่อออกมาก รวมถึงรู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด หรือสับสนหลังจากตื่นนอน

เคล็ดลับสุขภาพ : น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ต้องป่วยเบาหวานก็เป็นได้

เช็กอาการของ “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ”

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ตั้งแต่ไม่รู้สึกถึงอาการใดๆ  ไปจนถึงขั้นรุนแรง จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงเป็นอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1

 

อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (ควรสังเกต)

  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
  • รู้สึกกระวนกระวาย
  • เหงื่อออก
  • ตาพร่า
  • สับสน
  • หิวบ่อย
  • อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง
  • เวียนศีรษะ
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • อ่อนเพลีย ง่วงนอน
  • มึนงง หรือสับสน
  • หน้าซีด
  • หงุดหงิด

อาการรุนแรง (อันตายมาก)

  • ชัก
  • หมดสติ
  • อาการโคม่า

เพราะอะไรเราถึงน้ำตาลตก!!

สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในคนปกติ

เคล็ดลับสุขภาพ : น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ต้องป่วยเบาหวานก็เป็นได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแบ่งออกเป็นได้ 2 ประเภท นั่นคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหาร

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร มักเกิดขึ้น 2-4 ชั่วโมงหลังรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเชิงเดี่ยว (Simple carbohydrate) ซึ่งสามารถแตกตัวและดูดซึมเป็นน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว มันฝรั่ง เค้ก และขนมเบเกอรี่

การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบบายพาสที่ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้เร็ว จนทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากเกินไปและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในเวลาต่อมา

การบริโภคคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ เมื่อร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรต ระบบย่อยอาหารจะย่อยน้ำตาลและแป้งให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้นกลูโคสจะเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากบริโภคคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอระดับน้ำตาลในเลือดอาจลดลงต่ำเกินไป

การอดอาหาร โดยปกติร่างกายของคนเรามีน้ำตาลสะสมไว้อยู่แล้ว การอดอาหารจึงไม่ได้สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลงโดยตรง แต่การอดอาหารร่วมกับสถานการณ์บางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหารได้

การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง แอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อท้องว่าง ทั้งนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้ไม่รู้สึกถึงอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงได้

อาการเจ็บป่วยรุนแรง การเจ็บป่วยรุนแรง เช่น โรคตับระยะสุดท้าย ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายจะทำให้ร่างกายใช้กลูโคสที่สะสมไว้หมดเร็วเกินกว่าที่ร่างกายจะผลิตใหม่ได้ทัน

โรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง จะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากเนื้องอก Non-islet cell (NICTH) น้ำตาลในเลือดต่ำจากเนื้องอก ซึ่งเนื้องอกจะผลิตฮอร์โมน IGF-2 ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป

เนื้องอกของตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน เนื้องอกของตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน เป็นเนื้องอกในตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงเช้าตรู่

การใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาเบตาบล็อกเกอร์ ยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

น้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

เหตุการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

  • การฉีดอินซูลินมากเกินไป การใช้อินซูลินผิดประเภท การฉีดอินซูลินเข้ากล้ามเนื้อแทนไขมัน
  • การรับประทานยาสำหรับเบาหวานมากเกินไป
  • ออกกำลังกายมากเกินไป
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง
  • รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาหรืองดรับประทานอาหารบางมื้อ
  • รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่

 

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด สามารถช่วยวางแผนการรับประทานอาหารและออกกำลังกายให้เหมาะสม  ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจสอบตัวเองด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยเท่าที่แพทย์แนะนำ กรณีผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยไม่รู้ตัว มีความจำเป็นต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานในที่สูงหรือก่อนขับรถ 

รับประทานอาหารและของว่างตามปกติ แผนการรับประทานอาหารเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รับประทานอาหารและของว่างเป็นประจำด้วยปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมเพื่อช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป

หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง

ออกกำลังกายอย่างปลอดภัย การออกกำลังกายสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งขณะออกกำลังกายและหลังออกกำลังกายไปแล้วหลายชั่วโมง ดังนั้นเพื่อช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลังกาย

ปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวัน รวมถึงวางแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม  

เคล็ดลับสุขภาพ : น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่ต้องป่วยเบาหวานก็เป็นได้

วิธีรักษาและดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากรู้สึกว่ามีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทันที เมื่อพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัมทันที เช่น

  • กลูโคส 4 เม็ดหรือ กลูโคสเจล 1 หลอด
  • น้ำอัดลม 1/2 กระป๋อง (4 - 6 ออนซ์) ต้องไม่ใช่น้ำอัดลมแบบแคลอรี่ต่ำหรือลดน้ำตาลลง
  • น้ำตาล หรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
  • ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะ
  • ทอฟฟี่ 3 เม็ด
  • น้ำส้มคั้น 180 มิลลิลิตร
  • น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา
  • ขนมปัง 1 แผ่น
  • ไอศกรีม 2 สกูป
  • กล้วย 1 ผล

** เลือกทานอย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยปกติอาการมักดีขึ้นภายใน 20 นาที หลังได้รับอาหารในปริมาณดังกล่าว แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง หากระดับกลูโคสยังอยู่ในระดับต่ำให้เพิ่มคาร์โบไฮเดรตอีก 15 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหลังจาก 15 นาที ทำซ้ำขั้นตอนเหล่านี้จนกว่าระดับกลูโคสจะกลับมาเป็นปกติ

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารล่าช้ากว่าปกติมากกว่า 1 ชั่วโมง ควรหาของว่างรองท้องด้วยแครกเกอร์หรือผลไม้  เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่พบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงควรสวมสร้อยข้อมือหรือจี้เพื่อบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและต้องได้รับการดูแลทันที รวมถึงยังเป็นการส่งสัญญาณบอกอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นสำหรับแพทย์ที่ทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว  การได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วทันท่วงทีสามารถช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรงที่อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้