svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

ภัยสุขภาพที่มากับ 'หมูเถื่อน' และวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย

"หมูเถื่อน" คืออะไร? สารเร่งเนื้อแดง การปนเปื้อนเชื้อดื้อยาอันตรายแค่ไหนต่อสุขภาพ และในฐานะผู้บริโภคมีวิธีการเลือกซื้อเนื้อหมูอย่างไรให้ปลอดภัย?

ข่าวการปราบปราม "หมูเถื่อน" สะเทือนถึงมติโยกย้ายตำแหน่งสำคัญเป็นที่จับตามองของประชาชน ซึ่งนอกจากผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย กับปัญหาราคาหมูแล้ว ประชาชนต่างกังวลในผลกระทบโดยตรงที่ผู้บริโภคอาจเป็นปลายทางผลร้ายของเรื่องนี้

"หมูเถื่อน" คืออะไร?

หมูเถื่อน คือหมูที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศต้นทางด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่ผ่านการตรวจโรค ไม่ผ่านการตรวจสารตกค้าง ไม่ผ่านวิธีการทางศุลกากร

ความน่ากลัวคือเนื้อหมูบางล็อตอาจมาจากประเทศต้นทางที่ใช้ "สารเร่งเนื้อแดง" "ยาปฏิชีวนะ" หรือเป็นหมูชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่นิยมรับประทาน (หมูขยะ) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เชื้อโรคต่างๆ กระทั่งมีการใช้ "ยาห้ามใช้" ซึ่งนับเป็นอันตรายที่แฝงมาจากหมูเถื่อนที่ผู้บริโภคมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ภัยสุขภาพที่มากับ \'หมูเถื่อน\' และวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย

"หมูเถื่อน" นักวิชาการเคยเตือนอาจปนเปื้อนทั้งเชื้อดื้อยาและสารตกค้างที่ "มากกว่าสารเร่งเนื้อแดง"

ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ยืดเยื้อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ว่ากำลังส่งผลให้มีปริมาณหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่รวมถึงเเบคทีเรียก่อโรค สารตกค้างหรือสารปนเปื้อนต่างๆ เข้ามากระจายสู่ผู้บริโภคชาวไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคไทย

โดยนอกเหนือจาก "อันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง" ที่หลายประเทศต้นทางหมูเถื่อนอาจยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้ ปัญหาการใช้ "ยาปฏิชีวนะ" อย่างไม่สมเหตุสมผล นับเป็นอีกปัจจัยอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศต้นทาง เช่น บางประเทศในแถบอเมริกาใต้ ยังคงมีการนำ "โคลิสติน" ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสุดท้ายสำหรับมนุษย์ มาใช้ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมและป้องกันโรค และอาจทำให้เชื้อดื้อยาโคลิสตินปะปนมาในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงผู้บริโภคได้

รู้หรือไม่? ...อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทย ได้ยกเลิกการใช้ "สารเร่งเนื้อแดง" มานานกว่า 20 ปี โดยเป็นไปตามประกาศในกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 "ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด" ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยของหมูไทย

ภัยสุขภาพที่มากับ \'หมูเถื่อน\' และวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย

สารเร่งเนื้อแดงอันตรายอย่างไร?

สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารที่มักถูกลักลอบนำใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้หมูกินอาหารน้อยลงแต่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โตเร็วขึ้น มีกล้ามเนื้อเป็นมัด ไขมันน้อย มีเนื้อแดงมาก เนื่องจากเป็นสารมีฤทธิ์กระตุ้นทั้งสมองและระบบไหลเวียนโลหิต กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นบีบตัวมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก สัตว์ จะกระวนกระวาย ตื่นตกใจง่าย และช็อกได้

เมื่อสารเหล่านี้ตกค้างในเนื้อสัตว์และมนุษย์บริโภคเข้าไปจะได้รับสารอันตรายไปด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวาน และเด็ก เนื่องจากเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวมากกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น กระวนกระวาย ใจสั่น นอนไม่หลับ วิงเวียนและปวดศีรษะ

อีกทั้งยังมีการศึกษามากมายชี้ชัดว่าการใช้สารเร่งเนื้อแดงจะทำให้เกิดอันตรายและผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะจากการกิน "เครื่องในสัตว์อย่างตับหมู" ที่มีการสะสมของสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก ผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจหากกินเข้าไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในระบบทางเดินหายใจ

สำหรับสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ส่งผลข้างเคียงทำให้มีอาการปวดศีรษะ  คลื่นไส้อาเจียน  หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายมีอาการเป็นลม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหญิงมีครรภ์ และยังเสี่ยงต่อการเป็น "มะเร็ง"

หมูเถื่อนที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะจะถ่ายทอดยีนดื้อยาสู่มนุษย์

ปัญหาการใช้ "ยาโคลิสติน" เป็นส่วนผสมของอาหาร หรือใช้เป็นยาโดยไม่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์นั้น มีอันตรายที่อาจเกิดขึ้น 2 ประการคือ ประการแรก สารที่ตกค้างในฮอร์โมนนั้น โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะหากผสมในอาหารกินหรือฉีดเข้าร่างกายสัตว์แล้ว ต้องมีเวลาพักให้ร่างกายกำจัดออกไปอย่างน้อย 2-3 วันจึงจะนำมาชำแหละเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภค แต่ถ้าผู้ขายไม่เว้นระยะ สารตกค้างที่อยู่ในเนื้อสัตว์อาจมาสะสมเป็นพิษในตัวผู้บริโภค ถ้าสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการไตวายได้

ประการที่สอง โคลิสตินเป็นยาปฏิชีวนะที่มักใช้กรณีที่เกิดเชื้อดื้อยา และไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นได้ผล โดยปกติแล้วยาโคลิสตินสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียทั้งหมดในร่างกาย เช่น ที่ปาก ลำไส้ ผิวหนัง แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีแบคทีเรียจะพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาโคลิสติน และจะถ่ายทอด "ยีนดื้อยา" ไปให้แบคทีเรียตัวอื่นในร่างกายมนุษย์

นอกจากหมูเถื่อนจะถูกลักลอบนำเข้ามาในลักษณะแช่แข็งแล้ว ยังเข้ามาในรูปแบบของ "หมูมีชีวิต" ซึ่งเป็นพาหะของโรคที่สำคัญมาก หากประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF จะส่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งผู้เลี้ยงหมู โรงงานอาหารสัตว์ ผู้บริโภค และยังกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร ท่องเที่ยว เพราะการระบาดของโรค ASF มีโอกาสทำให้หมูตาย 95-100% แม้โรคนี้ไม่ติดคนและเนื้อสุกรยังมีความปลอดภัย แต่เมื่อคนกินเข้าไปจะเป็นพาหะติดตามเนื้อตัว หรือทางอุจจาระ

ภัยสุขภาพที่มากับ \'หมูเถื่อน\' และวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย

วิธีการเลือกซื้อเนื้อหมูอย่างไรให้ปลอดภัย?

  • เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีชมพูอ่อนๆ ไขมันสีขาว
  • เนื้อหมูไม่ควรมีสีแดงสด เพราะมีสารเร่งเนื้อเเดง
  •  เนื้อไม่ควรมีสีเขียวคล้ำ เเสดงว่าหมูเสีย
  • เลือกซื้อเนื้อหมูที่กดแล้วไม่บุ๋ม ถ้าเอานิ้วไปกดเเล้วบุ๋มเเสดงว่าหมูนั้นเป็นหมูเก่า หรือแช่แข็งมานั่นเอง
  • ผิวของเนื้อหมู ควรจะมันวาว ไม่เกิดพังผืดขึ้น หนังหมูสะอาดเกลี้ยงเกลา หากเป็นมันหมู ก็ต้องขาวใส
  • สังเกตว่ามีพยาธิอยู่ในเนื้อหมูหรือไม่ พยาธิในเนื้อหมู จะคล้ายกับเม็ดสาคู เเทรกอยู่ตามเนื้อหมู ถ้ามีพยาธิไม่ควรซื้อมารับประทาน
  • เมื่อซื้อมาประกอบอาหารเเล้ว ควรปรุงให้สุก ให้เนื้อเป็นสีขาว ไม่หลงเหลือความเเดงของเนื้อหมูสดอยู่ 
  • สำหรับการเลือกซื้อซี่โครงหมู เนื้อจะต้องไม่ติดกันเกินไป
  • ดมกลิ่นเเล้ว กลิ่นต้องไม่แรง หรือเหม็นหืน
  • เมื่อซื้อเนื้อหมูมาเเล้ว ควรเก็บลงกล่องพลาสติก เเละเเช่ช่องแข็ง เพื่อคงความสดใหม่ เเต่หากเก็บไว้นานเกิน จะทำให้รสชาติหมูเปลี่ยนไป

สำหรับวิธีเก็บรักษาเนื้อหมู ควรนำเนื้อหมูมาล้างด้วยน้ำสะอาด หั่นเป็นชิ้น  ดยแบ่งสัดส่วนตามปริมาณที่จะใช้ในการประกอบอาหารแต่ละครั้ง เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง และแยกเนื้อหมูแต่ละส่วนก่อนเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิท แช่ในช่องแช่แข็ง ช่วยชะลอการเติบโตของเชื้อปนเปื้อนต่างๆ และคงคุณค่าทางโภชนาการได้ด้วย

ทุกครั้งที่นำเนื้อหมูออกจากช่องแช่แข็ง ควรปล่อยให้น้ำแข็งละลายเองก่อน จะนำเนื้อหมูมาทำอาหาร ไม่ควรแช่เนื้อหมูในน้ำ เพราะนอกจากทำให้เสียคุณค่าทางอาหารยังทำให้เนื้อหมูกระด้าง รสชาติไม่อร่อย ที่สำคัญไม่ควรเก็บเนื้อหมูไว้ในช่องแช่แข็งนานเกิน 1 เดือน