svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ผลวิจัยชี้คนกรุงมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฟังก่อนสาย!!

16 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชื่อหรือไม่! คนกรุงมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ร้อยละ 79 แต่กลับมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อสุขภาพที่ดี เพียงร้อยละ 18 เท่านั้น

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศึกษาวิจัย : เรื่องรูปแบบและความสัมพันธ์ของการมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งนาน) ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,137 คน พบว่าคนกรุงเทพมหานครมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 83 แต่ยังพบมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ร้อยละ 79

ในทางกลับกัน การมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อสุขภาพที่ดี คือกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งต่ำของคนกรุงเทพมหานคร มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น 

ผลวิจัยชี้คนกรุงมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฟังก่อนสาย!!

ทั้งนี้ สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเร่งรีบในวิถีชีวิต การนั่งทำงานประจำ และการใช้อุปกรณ์จอ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ แทบเล็บ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงเป็นประจำส่งจะผลเสียต่อสุขภาพประชาชน อาทิ การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำสำหรับการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอคือ การขยับร่างกายระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือนั่งให้น้อยที่สุดในแต่ละวันเท่าที่สามารถทำได้

ด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยได้มีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประชาชนทุกกลุ่มวัยในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561 – 2573 ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเขตเมือง กรมอนามัยแนะนำให้จัดกิจกรรมเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งทั้งในเวลาทำงานและเวลาว่าง หยุดหรือลดการใช้จอเป็นระยะ ๆ เช่น การใช้โปรแกรมเตือนเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขยับร่างกายและมีกิจกรรมทางกายด้วยการออกแบบเมืองให้ประชาชนเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านค้า หรือสวนสาธารณะ ได้สะดวกมากขึ้นด้วยการเดิน เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน กรมอนามัยยังคงยึดหลักการจากองค์การอนามัยโลก คือ ทุกการขยับนับหมด (every move counts) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี

ผลวิจัยชี้คนกรุงมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฟังก่อนสาย!!

โรคที่มากับพฤติกรรมเนือยนิ่ง

1. โรคอ้วน

2. คอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง

3. โรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจขาดเลือด

4. โรคหลอดเลือดสมอง

5. โรคเบาหวานชนิดที่ 2

6. โรคกระดูกพรุน หรือปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่า

7. โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล

หากมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

กิจกรรมช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกาย โดยการเริ่มทีละน้อยซึ่งจะดีกว่าการไม่เริ่มขยับร่างกายเลย โดยเริ่มจากการลุกขึ้นยืนสลับกับนั่งในระหว่างวัน หรือเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงพักระหว่างทำงาน หรือเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มเติมขึ้นในระหว่างวัน เช่น

1. ออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะเพื่อยืดกล้ามเนื้อ

2. ลุกขึ้นยืนหรือเดินคุยโทรศัพท์

3. เลือกเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์

4. หากไม่สะดวกออกกำลังกาย ให้ทำความสะอาดบ้านหรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ขยับร่างกายในแต่ละวัน

5. เดินเล่นนอกบริเวณบ้าน หรือพาสุนัขไปเดินเล่น

6. หากนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน หยุดพักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาที เพื่อป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

วิธีง่ายๆ เหล่านี้จะช่วยให้สามารถลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้โดยไม่ต้องจำเป็นต้องหักโหมออกแรงจนเกินกำลัง ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ออกกำลังกายที่ระดับความหนักปานกลางเฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาที หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาทีควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

 

logoline