svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'โรคอ้วน' กับ 'ปัญหาการนอน' ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของหนึ่งในปัญหาสุขภาพ

รู้หรือไม่! การนอนที่ไม่มีคุณภาพ กับการเกิดโรคอ้วน สัมพันธ์กันอย่างไร? เปิดปัญหากวนใจกระทบการนอนหลับเรื่องที่คนอ้วนต้องเผชิญ พร้อมทางออกเพื่อการมีสุขภาพที่ดี

ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไปจากในอดีต ทั้งการกิน การนอน การแข่งขันกับเวลา การเสพโซเชียล ทำให้กินไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา จนเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น "โรคอ้วน" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ อีกทั้งความอ้วนยังเป็นต้นตอของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Disease; NCDs) ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก และทุกประเทศต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ การนอนหลับมีความเกี่ยวพันกับความอ้วนอย่างแยกไม่ออกเสมือนเป็นวงจรหมุนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

\'โรคอ้วน\' กับ \'ปัญหาการนอน\' ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของหนึ่งในปัญหาสุขภาพ

เชื่อหรือไม่! โรคอ้วนทำให้ "การนอนไม่ดี"

ผู้ป่วยโรคอ้วนมีการสะสมของไขมันตามส่วนต่างๆ หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) เมื่อดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) เพิ่มขึ้น 6 kg/m2 ความเสี่ยงการหยุดหายใจขณะหลับจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เพราะขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นทำให้ช่องลำคอแคบลง นำไปสู่การนอนหลับไม่ลึก (Sleep Fragmentation), ตื่นกลางคืนบ่อย (Nocturnal Awakenings), และภาวะง่วงในเวลากลางวัน (Daytime Sleepiness) แม้ว่าจะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่ผู้ที่อ้วนมาก (Severe Obesity) จะมีคุณภาพการนอนและระยะเวลาการนอนหลับแย่ลง และมีการกรนมากกว่าคนน้ำหนักปกติ มากถึง 47%

ความอ้วนยังสัมพันธ์กับภาวะอื่นๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน, โรคกระเพาะอาหาร, โรคภูมิแพ้ และอาการปวดข้อ ที่ทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลง อีกทั้งไขมันช่องท้องยังเป็นสาเหตุของการหลั่งสารอักเสบ เช่น IL-1, IL-6 และ TNF-alpha ซึ่งไปรบกวนวงจรของการนอน ทำให้คุณภาพการนอนลดลง

เชื่อหรือไม่! การนอนไม่ดีทำให้เกิด "โรคอ้วน"

มีการศึกษามากมายแสดงให้เห็นว่าผู้ที่นอนไม่พอ ไม่เพียงแต่มีแนวโน้มจะรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังรับประทานปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย คนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันมีแนวโน้มจะกินอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรี เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับ 9 ชั่วโมง โดยจะบริโภคอาหารกลุ่มไขมันเพิ่มขึ้น คนที่นอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพยังมีแนวโน้มจะรับประทานคาร์โบไฮเดรตคุณภาพต่ำ (High Glycemic Index) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงภาวะอ้วนลงพุง และการศึกษาในเด็กที่นอนน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะเลือกรับประทานผักน้อยกว่าและเลือกดื่มน้ำอัดลมมากกว่า

การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นผลจากโครงสร้างสมองส่วนระบบรางวัลทำงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราถูกกระตุ้นง่ายขึ้นจากอาหารที่ดูน่ารับประทาน ซึ่งการบริโภคอาหารที่มากกว่าการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ล้วนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน การศึกษาในเด็กและผู้ใหญ่ที่นอนน้อยกว่า 10 ชั่วโมง และ 5 ชั่วโมงตามลำดับ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนเกือบ 2 เท่า

\'โรคอ้วน\' กับ \'ปัญหาการนอน\' ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของหนึ่งในปัญหาสุขภาพ

ความไม่ปกติของฮอร์โมน

การนอนหลับไม่เพียงพอเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมนซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมดุลพลังงานในสมอง ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้มีผลกับความอยากอาหารและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

"ฮอร์โมนคอร์ติซอล" ฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น คอร์ติซอลจะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับความเครียดและฟื้นฟูร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้กระตุ้นความหิวโหยทำให้รับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น ระดับคอร์ติซอลที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหลักของการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) และการสะสมไขมันช่องท้อง (Visceral Fat)

"ฮอร์โมนเกรลิน"  ฮอร์โมนความหิวเพิ่มขึ้น ผู้ที่นอนไม่พอมีระดับเกรลินเพิ่มขึ้นทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ทำให้รู้สึกอยากกินอาหาร โดยเฉพาะน้ำหวาน ขนมหวาน

"ระบบเอนโดแคนนาบินอยด์" (Endocannabinoid System) เปลี่ยนแปลงไป เป็นระบบที่ทำงานตามระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย (Circadian Rhythm) โดยสาร 2-AG (2-Arachidonoylglycerol) จะสูงสุดในช่วงบ่าย และต่ำที่สุดขณะนอนหลับ ทำให้เราอยากรับประทานอาหารในเวลากลางวันและไม่รู้สึกหิวเวลากลางคืน แต่ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพอระดับสาร 2-AG สูงนานกว่าปกติ ส่งผลเพิ่มความหิว ความอยากอาหาร และไม่สามารถยับยั้งการรับประทานอาหารได้

"ฮอร์โมนเมลาโทนินลดลง" เมลาโทนินถูกหลั่งมากขึ้นเมื่อฟ้าเริ่มมืด ตามวงจรของแสงซึ่งสอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพ แม้กลไกระหว่างเมลาโทนินต่อการเกิดโรคอ้วนจะยังไม่ชัดเจน แต่มีงานวิจัยมากขึ้นที่พบความสัมพันธ์ของการขาดเมลาโทนินกับโรคอ้วน ผู้ที่ทำงานเป็นกะมีแนวโน้มจะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการลดลงของเมลาโทนิน

เห็นหรือยังว่า "โรคอ้วน" ส่งผลกระทบให้นอนหลับไม่มีคุณภาพ และ "การนอนหลับที่ไม่ได้คุณภาพ" ก็ทำให้ความรุนแรงของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องดูแลรักษาควบคู่กันไป ทั้งปรับการนอนและลดน้ำหนักตัวเพื่อหยุดวงจรนี้ให้สำเร็จ โดยการลดน้ำหนักนั้นต้องทำให้ได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้ป่วยเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นรวมถึงผลดีของการลดน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบด้วย

1) การรับประทานอาหารพลังงานต่ำและไขมันต่ำ โดยการรับประทานอาหารพลังงาน 1,000-1,500 แคลอรีต่อวัน หรือลดพลังงาน 500-750 แคลอรีจากที่เคยรับประทาน และให้มีสัดส่วนของไขมันน้อยกว่าร้อยละ 15-20 ของพลังงานที่รับประทาน

2) การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ และการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

3) การใช้ยาลดน้ำหนัก

4) การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ทั้งนี้ อาจต้องปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการ เพื่อวางแผนการลดน้ำหนัก การใช้ยา และการผ่าตัดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย