svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

กระเป๋านักเรียนหนัก กับปัญหาสุขภาพที่ตามมา

30 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อกระเป๋า “หนัก” ทำนักเรียนต้อง “แบก” ฟังความรู้จากแพทย์ถึงผลกระทบที่จะตามมา มองหาพฤติกรรมที่เป็นตัวบ่งชี้ รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับความคดเอียงของกระดูกสันหลังในเด็ก

เชื่อหรือไม่ “กระเป๋านักเรียน” ก็มีความเสี่ยงทำให้เด็กๆ เกิดปัญหาสุขภาพได้

เปิดเทอมแล้วภาพที่เราเห็นจนคุ้นตา คือบรรดาเด็กนักเรียนแบกเป้สะพายกระเป๋าใบโต จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าการสะพายเป้หรือกระเป๋าที่หนักนั้นนอกจากจะส่งผลทำให้ปวดเมื่อยหลังแล้ว จะส่งผลเสียอะไรตามมาอีก หรือจะทำให้กระดูกสันหลังคดได้หรือไม่?

กระเป๋านักเรียนหนัก กับปัญหาสุขภาพที่ตามมา

ข้อมูลโดย ศ.เกียรติคุณ นพ. เจริญ โชติกวณิชย์ อธิบายว่า ในวันหนึ่งเด็กจะเรียนประมาณ 6-8 วิชา ฉะนั้น เด็กๆ ก็คงต้องแบกหนังสือ สมุด ชีท และอะไรอีกตั้งมากมาย ดังนั้น ผลกระทบจากการสะพายกระเป๋าหนักเกินเหตุมักทำให้เด็กมีอาการปวดเมื่อยที่หลัง โดยเด็กผู้หญิงอาจจะมีอาการปวดได้มากกว่าเด็กผู้ชาย หากหนักมากเด็กอาจจะเดินไม่ไหว ต้องก้มตัวให้เกิดสมดุล จนเสียบุคลิกภาพ

แต่เนื่องจากเด็กๆ ไม่ได้สะพายกระเป๋านักเรียนไว้ตลอดทั้งวัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือมีผลก็น้อยมากๆ อาจจะทำให้หลังโก่ง หลังค่อมแต่ไม่ก่อให้เกิดการผิดรูปของกระดูกสันหลังถาวร รวมถึงไม่ได้ส่งผลต่อการเกิดภาวะกระดูกสันหลังคดหากเด็กไม่ได้มีอาการดังกล่าวมาก่อน

ในทางกลับกัน หากเด็กมีปัญหาเรื่องของกระดูกสันหลังอยู่ก่อนแล้ว เช่น กระดูกสันหลังคดงอ โดยที่ตัวเด็กเองและคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สังเกตและไม่ทราบมาก่อน  การสะพายกระเป๋าหนักหนักเกินความจำเป็นในทุกวันจะส่งผลให้เด็กหลังโก่งหรืออาจทำให้กระดูกสันหลังที่คดหรือเอียงอยู่แล้วคดหรือเอียงเพิ่มขึ้นได้ จากน้ำหนักกระเป๋าที่เป็นตัวกระตุ้น

อย่างไรก็ตามน้ำหนักตัวของเด็กและน้ำหนักกระเป๋าต้องจัดให้เหมาะสม กับเด็กวัยประถมศึกษานี้ อย่างมากแล้วกระเป๋าสะพายที่เด็กๆ แบกไว้นั้นน้ำหนักไม่ควรเกิน 2 กิโลกรัม หากเด็กมีน้ำหนักตัว 30-40 กิโลกรัม ในขณะที่เด็กบางคนแบกกระเป๋าสะพายไปเรียนถึง 5 กิโลกรัม ซึ่งในระยะยาวต้องส่งผลเสียให้กับเด็กอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องหาแนวทางแก้ไข้ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาควรพิจารณาแก้ไขเรื่องนี้โดยอาจจะให้เก็บหนังสือไว้ที่ในชั้นเรียนได้ก็จะทำให้ลดปัญหาเหล่านี้ได้

กระเป๋านักเรียนหนัก กับปัญหาสุขภาพที่ตามมา

แบกกระเป๋าหนักจนตัวเอียงกระทบบุคลิกภาพ

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า กระเป๋าหนังสือของนักเรียนก็ถือว่ามีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเด็ก บางครั้งเด็กที่ถือกระเป๋าแบบหิ้วหรือแบบสะพายข้าง ถ้าหากกระเป๋าใบนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป เด็กก็จะเอียงตัวไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อรับน้ำหนัก ทำให้เมื่อเอียงตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง บุคลิกภาพก็จะเป็นเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่จะพัฒนาไปในลักษณะข้างใดข้างหนึ่ง

โดยขยายความว่า คนเราโดยปกติถ้าใช้งานร่างกายข้างใดข้างหนึ่งหรือซีกใดซีกหนึ่ง ร่างกายข้างนั้นก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะกับร่างกายของเด็ก “โดยปกติ แนะนำให้เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 10-20 ของ น้ำหนักตัว เนื่องจากหากแบกกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย เด็กจะมีอาการ ปวดบ่า ปวดต้นคอ ตลอดจนทำให้เป็นสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรังได้ และยังเป็นผลให้มีลักษณะทางบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่หรือเชิงกรานดูไม่สมดุลกัน มีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก จึงแนะนำผู้ปกครองควรสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงเบื้องต้น เพื่อปรับแก้ปัญหา” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว                  

อาการที่ผู้ปกครองควรสังเกต

นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) เลิดสิน กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากการที่เห็นลำตัวของเด็กจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือสังเกตพบว่า มีหัวไหล่ทั้งสองข้างหรือมีเชิงกรานไม่เท่ากัน หรือให้เด็กยืนเท้าชิดกัน และให้ก้มตัวมาทางด้านหน้าใช้มือ 2 ข้าง พยายามแตะพื้นจะเห็นความนูนของหลัง ไม่เท่ากัน หากกระเป๋ามีน้ำหนักเกินหรือต้องแบกเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนจาก "กระเป๋าแขวน" หลังเป็น "กระเป๋าลาก" เพื่อป้องกันการปวดหลัง จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็ก หากกระดูกสันหลังผิดรูป ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน ควรพาเด็กไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อทำการตรวจยืนยันและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

วิธีการรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับความคดเอียงของกระดูกสันหลัง

นพ.ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ประจำหน่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง สถาบันออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า โรคกระดูกสันหลังคดเอียง เป็นการคดงอหรือบิดเบี้ยวของกระดูกสันหลังไปด้านข้าง ทำให้เสียสมดุล โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบได้บ่อยถึงร้อยละ 80 แบ่งตามอายุที่เริ่มแสดงลักษณะดังกล่าว คือ 0-3 ปี 4-10 ปี และ 11-18 ปี โดยภาวะนี้พบบ่อยในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงที่ทราบสาเหตุ เกิดจากโรคทางระบบพันธุกรรม หรือกลุ่มโรคความผิดปกติทางระบบเส้นประสาทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โรคท้าวแสนปม ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ โดยกลุ่มนี้จะทำให้มีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงมาก ทั้งนี้ การที่เด็กแบกกระเป๋าหนัก ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระดูก สันหลังคดเอียงโดยตรง แต่ทำให้เกิดปัญหาในส่วนของระบบเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ

สำหรับการรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงที่เกิดขึ้นนี้ สามารถแบ่งแนวทางการรักษาออกได้เป็น 3 ข้อหลักๆ ขึ้นอยู่กับมุมความคดเอียงของกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้น แนวทางการรักษาภาวะนี้ มีตั้งแต่การติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด การสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันการคดเอียง ตลอดจนการผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าว 

ดังนั้น หากผู้ปกครองสังเกตพบความผิดปกติเกี่ยวกับความคดเอียงของกระดูกสันหลัง ควรรีบนำเด็กไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกวิธี

 

logoline