svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

แพทย์เตือนหน้าฝน ระวังเก็บเห็ดพิษมาบริโภค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

25 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์เตือนช่วงหน้าฝน ระวังเก็บเห็ดมีพิษมาบริโภค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หลังมีข่าว จ.เลย ดับแล้ว 2 ราย พร้อมแนะวิธีตรวจสอบเห็ดมีพิษ ซึ่งมีความคล้ายกับเห็ดป่าหลายชนิด จนชาวบ้านสับสนเก็บมาทำอาหาร

25 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงเข้าสู่ฤดูฝน จะมีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ ชาวบ้านที่ออกไปหาเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาบริโภคหรือจำหน่าย จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากมีรายงานว่า มีชาวบ้านใน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย จำนวน 9 คน ไปเก็บเห็ดระโงกที่มีพิษนำไปทำอาหารบริโภค จนเกิดอาการท้องร่วง ต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งต่อมา มี 2 คนที่อาการหนัก ได้เสียชีวิตลง ส่วนอีก 7 คน อาการยังน่าเป็นห่วง ต้องรับการถ่ายเลือด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ที่ชื่นชอบบริโภคเห็ดเป็นอย่างมาก

แพทย์เตือนหน้าฝน ระวังเก็บเห็ดพิษมาบริโภค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

สำหรับเขตสุขภาพที่ 9 สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 13 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด จำนวน 5 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบผู้ป่วย 3 รายที่จังหวัดชัยภูมิ และผู้ป่วยอีก 2 รายที่จังหวัดสุรินทร์ ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย

ทั้งนี้ กลุ่มที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มนักเรียน และเกษตรกร รองลงมาคือกลุ่มทำงานรับจ้าง โดยพบผู้ป่วยในช่วงอายุ 5 - 9 ปี สูงสุด รองลงมาคือ อายุ 10 - 14 ปี , อายุ 65 ปีขึ้นไป และ อายุ 55 - 64 ปี ตามลำดับ

แพทย์เตือนหน้าฝน ระวังเก็บเห็ดพิษมาบริโภค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แพทย์เตือนหน้าฝน ระวังเก็บเห็ดพิษมาบริโภค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

จึงขอเน้นย้ำว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์ที่ปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ไม่ควรล้วงคอ หรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และทำให้ป่วยท้องเสียเพิ่มขึ้นหรือติดเชื้อได้ จะต้องรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี

สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะเป็น "เห็ดระโงกพิษ" หรือบางที่เรียกว่า "เห็ดระโงกหิน", "เห็ดระงาก" หรือ "เห็ดไข่ตายซาก" จะมีความคล้ายคลึงกับ "เห็ดระโงกขาว" ที่กินได้ แต่ส่วนที่แตกต่างกัน คือ รอบขอบหมวกเห็ดระโงกพิษจะไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน

นอกจากนี้ ยังมี "เห็ดถ่านเลือด" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ "เห็ดถ่านเล็ก" ที่กินได้ โดยขนาดดอกจะเล็กกว่าและไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม ส่วน "เห็ดเมือกไครเหลือง" ที่ประชาชนมักสับสนกับ "เห็ดขิง" ต้องสังเกตให้ดี เพราะชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า และยังมี "เห็ดหมวกจีน" ที่มีความคล้ายกับ "เห็ดโคน" ที่กินได้ ชาวบ้านที่ไปหาเก็บมาบริโภคหรือขาย จะต้องตรวจสอบดูให้ดี

แพทย์เตือนหน้าฝน ระวังเก็บเห็ดพิษมาบริโภค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต   

โดยวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จะมีทั้งวิธีนำไปต้มกับข้าวหรือหอมแดง ถ้าเป็นเห็ดพิษจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี ส่วนวิธีจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงิน-เครื่องเงินลงไปในน้ำที่แช่เห็ด แล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำนั้น เป็นวิธีการตรวจสอบที่ผิด ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษ จะมีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้ว ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ จึงต้องตรวจสอบให้ดีและเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น 

logoline