svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ปลัด สธ. ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนช่วงหน้าฝน 

09 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การฉีดวัคซีนโควิด พร้อมวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ ก่อนเข้าสู่การระบาดช่วงหน้าฝน ยังไม่พบผลข้างเคียง ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่ หรือเลือกรับตามความสมัครใจ ช่วงหลังเปิดเทอม หากเด็กมีอาการป่วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้หยุดเรียนอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดในสถานศึกษา

9 พฤษภาคม 2566 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า แม้องค์การอนามัยโลกจะออกประกาศยกเลิกให้โรคโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทำให้ประชากรทั่วโลกสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่โรคโควิดยังคงมีอยู่เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ คือ เมื่อถึงช่วงหนึ่งที่ภูมิคุ้มกันในคนลดลงจะทำให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น แต่จะไม่มีการระบาดใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับมาตรการรองรับ โดยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี

ปลัด สธ. ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนช่วงหน้าฝน 

พร้อมทั้ง เฝ้าระวังการระบาดในคนและการกลายพันธุ์ของเชื้อ โดยรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันก่อนเข้าหน้าฝนที่จะมีการระบาดของทั้ง 2 โรค ซึ่งหลังดำเนินไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นยังไม่พบผลข้างเคียงของการรับวัคซีนคู่ ดังนั้น ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับบริการได้ตามความสมัครใจ โดยจะรับวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน หรือจะรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันก็ได้

“ช่วงเปิดเทอม เป็นสถานการณ์หนึ่งที่มีความเสี่ยงจะเกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจได้ เนื่องจากมีการรวมตัวของเด็กนักเรียน มาตรการสำคัญจึงเป็นเรื่องของการเฝ้าระวัง โดยหากเด็กมีอาการป่วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์ รวมถึงพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามกำหนด ส่วนโรงเรียนหากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือมีความผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในสถานศึกษา” นายแพทย์โอภาสกล่าว

ปลัด สธ. ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนช่วงหน้าฝน 

วัคซีน COVID-19 คืออะไร ?

วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหากได้รับเชื้อในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีนร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ การฉีดวัคซีนผู้รับวัคซีนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 3 กลุ่มหลัก เพื่อให้หน่วยงานแยกกันบริหารจัดการวัคซีนที่รับมาจากสต็อกกลางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

• กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค สธ. รับผิดชอบ

• กลุ่มเอกชนเพื่อเปิดเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบ

• กลุ่มประชาชนทั่วไป ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ

ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟก่อนวันที่มาฉีด
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ตรวจสอบสถานที่ เวลานัด และอย่าลืมบัตรประจำตัวประชาชน

ปลัด สธ. ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนช่วงหน้าฝน 

สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว

ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (น้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35) ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน 

  • หากรับประทานยาประจำ ไม่ควรหยุดยา ยกเว้นแพทย์ให้หยุดยาชั่วคราว และแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีน
  • ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ต้องกดตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนนานอย่างน้อย 2 นาที ส่วนผู้ที่รับประทานยาวาร์ฟาริน ควรต้องมีระดับ INR <3
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ผู้ที่กำลังจะได้รับการผ่าตัดหรือกำลังได้รับยาเคมีบำบัดควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม ส่วนผู้ป่วยรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด ให้เว้นระยะการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เดือน
  • ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ HIV สามารถฉีดวัคซีนได้
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารสามารถฉีดวัคซีนได้
  • ผู้ที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่ (หรือ แล้วแต่แพทย์เป็นผู้พิจารณา)
  • อายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ยังไม่มีข้อมูลในผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปี
  • กำลังตั้งครรภ์ กรมอนามัยแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีน Sinovac ก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว 
  • เจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น ไข้ ถ่ายเหลว หรือเพิ่งออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือโรคเรื้อรังอาการไม่คงที่ ควรเลื่อนนัด
  • ฉีดวัคซีนห่างจากวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2-4 สัปดาห์ แต่วัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสุนัขกัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลย 

ปลัด สธ. ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนช่วงหน้าฝน 

8 ข้อต้องแจ้ง ก่อนฉีดวัคซีน

สิ่งที่ต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่

  • มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร  อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติภูมิแพ้ หรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสในวันที่นัดฉีดวัคซีน
  • มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
  • อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  • ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
     

ทั้งนี้หากท่านสมาชิกมีอาการดังต่อไปนี้ หลังได้รับวัคซีน รีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน

    •    ไข้สูง

    •    หนาวสั่น

    •    ปวดศีรษะรุนแรง

    •    เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือ หายใจไม่ออก

    •    อาเจียน มากกว่า 5 ครั้ง

    •    ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก

    •    มีจุดจ้ำเลือดออกจํานวนมาก

    •    ใบหน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว

    •    แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้

    •    ต่อมน้ําเหลืองโต

    •    ชัก หรือหมดสติ

ปลัด สธ. ย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนคู่โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ก่อนช่วงหน้าฝน 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.bangkokhospital.com , www.praram9.com ,  www.synphaet.co.th
 

logoline