svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิด 13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

08 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลดเค็ม ลดความเสี่ยงการเกิด “โรคไต” แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้ เปิดคู่มือคนรักสุขภาพที่ไม่อยากต้องเป็นผู้ป่วยฟอกไตในอนาคต

รู้หรือไม่ สถิติผู้ป่วยคนไทยเกือบ 20% เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภาวะโรคไตแฝงอยู่ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 8 ล้านคนของประชากรไทย มีกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคไตวายในระยะสุดท้ายอยู่ประมาณ 8 หมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ราว 1-2 หมื่นคนต่อปี

พออายุมากขึ้นก็เริ่มเห็นเพื่อน ญาติ คนใกล้ตัวต้อง “ฟอกไต” แม้จะเป็นภัยที่ปัจจัยหลักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่เข้าใจว่า ตัวเอง “ไม่ได้กินเค็ม” แต่สุดท้ายปลายทางกลับต้องฟอกไต ซึ่งดูจะเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล

เรื่องนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดของคนกลุ่มนี้ที่คิดว่า “รสชาติความเค็ม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต” แต่ความจริงแล้วยังมีสาเหตุและความเสี่ยงอีกหลายอย่างที่พร้อมจะนำเราเข้าสู่เส้นทางของโรคร้ายนี้

13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

โรคไตมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกินเค็ม และความดันโลหิตสูง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไตวาย แต่ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ อีก ดังนี้

ปัจจัยด้านพฤติกรรม

เปิด 13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

1 การกินอาหารรสจัด หวานจัด มันจัด แซบจัด ฯลฯ
สมมติว่าไม่ชอบกินอาหารรสเค็มก็อย่าเพิ่งลดการ์ดระวังโรคไตเป็นเด็ดขาด เพราะถ้าบังเอิญดันไปชื่นชอบอาหารที่มีความมันจัด หวานจัด แซบจัด ความเสี่ยงที่ว่าก็แทบไม่ต่างกันเลย 

เปิด 13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

2 ติดจิ้ม ชอบซอส ชอบซด

ใช่แล้ว ในเครื่องปรุงรสที่นอกจากเกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วแล้ว ในน้ำจิ้ม น้ำราด น้ำซุป หรือในซอสทั้งหลายล้วนแต่มีส่วนผสมของเกลืออยู่แม้จะไม่ได้ชูโรงรสเค็มเป็นหลัก แต่นักซด นักจิ้ม ก็บริโภคเกลือและ “โซเดียม” ในของเหล่านี้เข้าไปมากโดยที่แทบจะไม่รู้ตัว

3 ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว

แม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่หากเราสังเกตให้ดีใน1ฉลาก1โภชนาการ จะพบว่าขนมปังนั้นเป็นอาหารที่มี “โซเดียมสูงกว่าข้าว” เพราะในขนมปังมี “ผงฟู” และผงฟูคือเกลือชนิดหนึ่ง ดังนั้น การรับประทานขนมปังมากๆ รับประทานขนมปังแทนข้าว ก็มีโอกาสได้รับเกลือเกินได้

4 ชอบกินอาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูป

เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แฮม ไส้กรอก หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ อาหารเหล่านี้ได้รับการปรุงรสโดยมีความเค็มอยู่แล้วในตัวเอง ยิ่งเมื่อเรารับประทานคู่กับน้ำจิ้ม น้ำซอสเข้าไปอีก ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณความเค็มในร่างกายเพิ่มเป็นเท่าตัว

5 ดื่มน้ำน้อย
นอกจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้ว การดื่มน้ำน้อย ก็เป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตได้เช่นกัน

เปิด 13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

6 ไม่ออกกำลังกาย
มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า ทั้งยังนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้ไตทำงานหนัก จนเกิดปัญหาไตเสื่อมเร็วได้

7 คนทำงานหนัก เครียดมาก 

เมื่อทำงานหนัก ร่างกายไม่ได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ รวมไปถึงความเครียดที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของออกซิเจนที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ “ไต” ที่ต้องทำงานหนัก ไม่ได้รับการฟื้นฟูเพียงพอ ไตจึงเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น

8 รับประทานยากลุ่ม NSAIDs

นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินอาหารที่เราทราบกันดี ยังต้องระวังในเรื่องการทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลงด้วย แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคไตจริงๆ ประมาณ 70% คือกลุ่มโรคประจำตัว อย่างเบาหวานและความดัน หรือแม้โรคไขมันและโรคอ้วน ก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน

ปัจจัยด้านสุขภาพ

9 มีความเสี่ยงแต่กำเนิด

จากการที่ร่างกายคนเราเกิดมาพร้อมกับไตที่ผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ เช่น บางคนเกิดมาแล้วไตฝ่อ บางคนมีไตข้างเดียว หรือมีโครงสร้างเซลล์ในไตที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องของโชคชะตาที่ไม่สามารถป้องกันได้

10 สาเหตุจากหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ

ไม่จำเป็นต้องกินเค็มก็สามารถเกิดขึ้นได้ เส้นเลือดฝอยในไตสามารถอักเสบขึ้นมา ได้จากหลายๆ โรค เช่น SLE ซึ่งอาจนำพาไปสู่การเป็นโรคไตอักเสบ และไตเสื่อมได้ในที่สุด

11 มีการติดเชื้อแบคทีเรีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งไม่สัมพันธ์กันกับเรื่องของอาหารแต่อย่างใด และเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นก็จะทำให้เกิดไตติดเชื้อ เป็นฝี หรือเป็นหนองในไตขึ้นได้

12 มีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ

อาทิ เป็นนิ่ว เป็นโรคต่อมลูกหมาก ซึ่งเมื่อเกิดการปัสสาวะติดขัดนานวันเข้า ก็อาจลุกลามไปสู่ไตและกลายเป็นโรคไตเสื่อมได้

13 มีเนื้องอกในไต

ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเนื้อร้ายอย่างมะเร็ง หรือเนื้องอกธรรมดาทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับอาหารและการรับประทานของที่มีรสเค็ม

เปิด 13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

เมื่อ “โซเดียมสูง” ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไตยังไงบ้าง? 

โดยปกติหน้าที่ของไต คือช่วยปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล  แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินจนไตไม่สามารถขับออกได้ทัน ก็จะเกิดโซเดียมสะสมในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายเก็บรักษาน้ำมากขึ้น น้ำในหลอดเลือดจึงเพิ่มขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อจะพยายามขับโซเดียมและน้ำส่วนเกินออก สิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดความดันสูงขึ้นในหน่วยไต และเมื่อระดับความดันสูงขึ้น ก็จะก่อให้เกิดแรงดันในกลุ่มหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในเนื้อไต เมื่อแรงดันสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ นำไปสู่ภาวะไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น

เปิด 13 สาเหตุ "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"

สัญญาณอันตรายที่บอกว่าถึงเวลาตรวจเช็กสุขภาพไต!!

  • ขาและเท้าทั้งสองข้างบวม
  • ตาบวม โดยเฉพาะในตอนเช้า
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อ่อนแรง
  • ปวดหลัง ปวดบั้นเอวบริเวณชายโครง อาจร้าวไปถึงท้องน้อย
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะเป็นฟองสีขาวๆ หรือปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน

ความอันตรายของโรคไต

อาการของผู้ป่วยโรคไตมี 5 ระยะ แต่คนไข้ส่วนใหญ่ถ้าไม่อยู่ในระยะสุดท้ายหรือระยะที่แย่จริงๆ มักจะไม่มีอาการ ดังนั้น กว่าคนไข้บางคนจะมาหาหมอก็ป่วยในระยะสุดท้ายแล้ว ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวจนไตเสื่อมการทำงาน ทางเลือกที่แพทย์ทำได้ก็จะเหลือแค่ชะลอความเสื่อมของไตไปให้ช้าที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลามไประยะสุดท้ายได้

วิธีรักษาโรคไต

โดยปกติวิธีการรักษาโรคไตจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่คนไข้เป็น ในระยะที่ 1-4 แพทย์จะทำการชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด ด้วยการรักษาตัวโรคตั้งต้นที่ก่อให้เกิดโรคไต เช่น

  • ควบคุมเบาหวานให้ดี 
  • ควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ 
  • งดเว้นการสูบบุหรี่ 
  • ลดน้ำหนักลง 
  • ควบคุมอาหารไม่ให้มีรสจัดเกินไป 
  • รับประทานยาเพิ่มเพื่อคุมโรคไต

แต่ในทางตรงข้าม อาการไตวายระยะสุดท้าย หรือระยะที่ 5 ประสิทธิภาพไตจะทำงานเหลือน้อยลงกว่า 15% สิ่งที่แพทย์ทำได้จะเหลือตัวเลือกแค่ 3 ทาง คือ

  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
  • การฟอกเลือดทางหน้าท้อง หรือการล้างหน้าท้องด้วยน้ำยา
  • การปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด
logoline