svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้สุขภาพพัง?

07 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เช็กลิสต์ 5 สัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็น “คนบ้างาน“ พร้อมเตือนคนที่กำลังทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้สุขภาพพัง?

ชีวิตการทำงานนับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดของมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งต่อเนื่องมาจากชีวิตวัยเรียน "การทำงาน" เป็นที่มาของรายได้จากการใช้ทักษะความรู้ที่ร่ำเรียนมา และอาจเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตของใครหลายคน แต่การ “ทำงานหนักเกินไป” โดยไม่จัดสรรเวลาให้เหมาะสม อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้

ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า การทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความเครียด ปัญหาด้านการนอนหลับ โรคหลอดเลือดหัวใจ และอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ อย่างการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ การจัดลำดับความสำคัญของงานและบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราปรับสมดุลระหว่างการทำงานงานและการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้

ทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้สุขภาพพัง?

5 สัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็นคนบ้างาน

1.ทำงานนานกว่าเพื่อนร่วมงาน

เป็นเรื่องน่าชื่นชม ถ้าเป็นคนมาทำงานก็มาก่อนแถมยังกลับทีหลัง แต่มันบ่งบอกได้ชัดเจนเลยว่า เรากำลังมีความอยากทำงานมากจนเกินไป เพราะคิดว่าจะผลิตงานได้เยอะขึ้น เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย North Carolina ในสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า การพักผ่อนและการดูแลตัวเองให้มากขึ้น จะทำให้เราผลิตงานได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง แถมงานที่ออกมายังมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

2.หยุดคิดถึงเรื่องงานไม่ได้

หากบางครั้งเราคิดถึงงานมากกว่าคิดถึงแฟน หรือครอบครัว ลูก พี่-น้อง เพื่อน ระวังนั่งคือสัญญาณเตือนที่บอกว่าเราเข้าข่ายของ “คนบ้างาน” เราจะคิดถึงการทำงานที่ออฟฟิศและอยากจะกลับไปทำงานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนพักผ่อนกับครอบครัว ตอนไปเที่ยวกับเพื่อนๆ หรือไปเดทกับคนรัก งผลเสียที่ตามมาคือจะทำให้ร่างกายเกิดความเครียดเนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของจิตใจได้นั่นเอง

3.สุขภาพร่างกายเริ่มแย่แม้ไม่มีโรคภัย

นี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากลัวเลยทีเดียว เพราะเราจะไม่รู้สึกตัวเลยว่าร่างกายของเริ่มจะรับไม่ไหวกับงานหนักๆ ที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน เนื่องจากคนที่บ้าทำงานนั้นจะมีพฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง อาจไม่รุนแรงมากแต่จะเป็นทีละนิด เช่น ทำงานจนทานอาหารไม่ตรงเวลา บางครั้งก็รีบทานจะเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรือไม่ก็เลือกซื้อจั้งค์ฟู้ดมารับประทานที่ออฟฟิศเลย  ไม่ค่อยไปออกกำลังกายเพราะกลัวว่าจะไม่ได้ทำงานหรือกลัวงานไม่เสร็จ นอนก็ไม่เป็นเวลาทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กันเป็นเวลานานแล้วละก็ ร่างกายก็อาจจะทรุดจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลนอนหยอดน้ำเกลือกันเลยทีเดียว

4.ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเริ่มสั่นคลอน

ไม่ว่าจะกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนสนิท จะเริ่มรู้สึกว่าเราเริ่มไม่มีเวลาให้ ถ้าเมื่อไหร่ที่คนใกล้ตัวเริ่มพูดว่า “ไม่ค่อยได้เจอกันเลยนะ” หรือ “ก็เธอไม่เคยว่างนี่” ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่าปล่อยให้คนใกล้ตัวรู้สึกน้อยใจ ปล่อยวางตัวเองออกจากงานบ้าง เรื่องนี้มีผลวิจัยของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย North Carolina บอกว่า คนที่บ้างานมีโอกาสกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง อีกทั้งถ้ามีลูกก็อาจจะทำให้ลูกเกิดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ด้วย

5.ยึดติดคุณค่าของตัวเองไว้กับงาน

แม้ว่าเราจะเคยได้ยินคำว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” แต่ก็ไม่ควรวางคุณค่าของตัวเองไว้กับงาน คนส่วนใหญ่มักไม่พึงพอใจกับตัวเองเพราะต้องการให้งานออกมาสมบูรณ์แบบเพื่อที่จะได้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เกิดความกดดันมากขึ้น ความจริงแล้วคุณค่าของคนไม่ได้วัดกันแค่ผลของงานเท่านั้น การเป็นคนดีหรือการช่วยเหลือสังคม ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีคุณค่าอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นป ลดปล่อยตัวเองออกจากความสมบูรณ์แบบและการยึดติดคุณค่าของตัวเองออกจากงานกันเถอะ

ทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้สุขภาพพัง?

การทำงานหนักส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?

การทำงานหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกอาจไม่ส่งผลกระทบชัดเจนต่อสุขภาพมากนัก แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีเวลาพักผ่อนน้อยลง ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพอมักทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น ทำงานไม่ทันตามกำหนด คุณภาพของงานลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดในการทำงาน เป็นต้น

ความเครียดเรื้อรัง เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยจากการทำงาน โดยมักเกิดจากปริมาณงานที่มากเกินไปหรือได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ยากเกินความสามารถ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง และอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้าด้วย

 

ในบางกรณี การทำงานหนักอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีแนวโน้มดื่มแอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลายความเครียดในปริมาณมากกว่าคนทั่วไป

ทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้สุขภาพพัง?

8 เทคนิคปรับพฤติกรรมสำหรับคนชอบทำงานหนัก

1 การปรับพฤติกรรมในการทำงาน อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคนที่ทำงานหนักเป็นนิสัย จึงอาจเริ่มปรับที่ละน้อยโดยใช้วิธีการเหล่านี้

2 จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันลงในกระดาษโน้ตหรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และเรียงลำดับการทำงานตามความสำคัญของงาน ซึ่งควรเริ่มทำงานที่เร่งด่วนและมีความสำคัญมากที่สุดก่อน

3 แบ่งเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตให้ชัดเจน เช่น ไม่ตรวจเช็กอีเมลหรือรับโทรศัพท์เรื่องงานหลังเวลาเลิกงานโดยไม่จำเป็น จะช่วยลดความเครียดจากการทำงานนอกเวลาและช่วยให้เราใช้เวลาพักผ่อนได้เต็มที่มากขึ้น

4 กำหนดเวลาพักระหว่างการทำงาน การทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงมักทำให้รู้สึกปวดเมื่อยและเหนื่อยล้า การลุกขึ้นเดินเปลี่ยนอิริยาบถ และออกไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอกแทนการรับประทานอาหารที่โต๊ะทำงาน จะช่วยให้กลับมาทำงานต่อได้กระปรี้กระเปร่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5 ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น ทำงานอดิเรกที่ชอบ ใช้เวลาอยู่กับคนในครอบครัว และนัดพบปะพูดคุยกับเพื่อน เป็นต้น

6 ผ่อนคลายความเครียด ด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ อย่างการฝึกสมาธิ เล่นโยคะ และจดบันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน 

7 ควรงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพราะอาจทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น

8 ปรึกษาปัญหา พูดคุยกับหัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคลให้ชัดเจนเมื่อมีปัญหาในการทำงาน เช่น ได้รับมอบหมายงานจำนวนมากเกินไปหรือเนื้องานยากเกินความสามารถ ทำให้ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานหรือองค์กร เป็นต้น

เห็นหรือไม่ ว่าการทำงานหนักไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่อาจเป็นปัจจัยทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้ การบริหารเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตให้สมดุล และจัดลำดับความสำคัญของงานจะช่วยให้คุณทำงานที่รักได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เสียสุขภาพ ทั้งนี้ หากรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างเหมาะสม

 

 

logoline