svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

สุขภาพดีจริงหรือไม่ เมื่อกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน!!

02 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผอมไป กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน!! แพทย์เผยอาจไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ ร่วมไขข้อสงสัยพร้อมค้นหาสาเหตุและวิธีดูแลตนเองไปพร้อมกัน

ในทางการแพทย์จะใช้ BMI (Body Mass Index) หรือค่าดัชนีมวลกาย เป็นตัวกำหนดค่า "อ้วน" "ผอม" โดยคนที่มี BMI ต่ำกว่า 18.5 จัดเป็นคนผอม ซึ่งการจัดอยู่ในเกณฑ์ผอมในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ และหากคนกลุ่มนี้พบกับปัญหากินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน! ก็อาจต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพมากขึ้น มาดูกันว่าสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากอะไรได้บ้าง และควรรับมืออย่างไรดี

กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน เป็นเรื่องที่น่ากังวลหรือไม่?

โดยทั่วไปแล้วการที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มักมาจากการได้รับพลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับต่อวัน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะเหนื่อยล้า ไม่มีแรง และอ่อนเพลียกว่าคนทั่วไป การขาดพลังงานและสารอาหารในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น เช่น

สุขภาพดีจริงหรือไม่ เมื่อกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน!!

  • ปัญหาด้านพัฒนาการ โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น
  • ภาวะทุพโภชนาหรือการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างโรคเลือดจาง ภูมิคุ้มกันต่ำลง และป่วยง่าย
  • โรคกระดูกพรุน เนื่องจากร่างกายขาดวิตามินดี แคลเซียม และสารอาหารอื่นที่จำเป็นต่อการรักษามวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกเพราะหักได้ง่ายและอาจมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เมื่ออายุมากขึ้น
  • ปัญหาสุขภาพทางเพศ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติและมีลูกยาก

สาเหตุที่อาจทำให้กินอาหารในปริมาณมากแต่ไม่อ้วน

1. กินเฉพาะเมื่อร่างกายรู้สึกหิว

หลายคนที่มีน้ำหนักมาก มักจะกินเพราะอาหารอร่อย หรือเรียกว่ากินตามใจปาก แต่ในขณะที่คนบางคนที่ดูเหมือนจะกินเยอะ แต่เขาเลือกกินเฉพาะเมื่อร่างกายรู้สึกหิวเท่านั้น จึงกินเยอะในมื้อนั้น แต่พอผ่านมื้อนั้นไปร่างกายไม่หิวแล้ว เขาก็ไม่กิน หรือกินน้อยมากนั่นเอง

2. มีระบบเผาผลาญที่ดี

ร่างกายของแต่ละคนมีการทำงานที่แตกต่างกันไป รวมถึงความสามารถของระบบเผาผลาญในการรับมือกับพลังงานจากอาหาร บางคนอาจไม่ได้มีปัญหาสุขภาพที่อยู่เบื้องหลังการกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน เพียงแต่ระบบร่างกายทำงานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการย่อยอาหาร การดูดซึมสารอาหาร และการนำพลังงานไปใช้ ซึ่งปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลต่อประสิทธิของระบบเหล่านี้ได้ เช่น ขนาดและโครงสร้างร่างกาย ปริมาณกล้ามเนื้อ ส่วนสูง เพศและอายุ อย่างผู้ชายจะเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่า และคนอายุน้อยระบบเผาผลาญย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่มีอายุ

สุขภาพดีจริงหรือไม่ เมื่อกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน!!

3. อาชีพและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องใช้พลังงานเยอะอยู่เสมอ

แน่นอนว่าแต่ละอาชีพ ย่อมต้องมีการเคลื่อนไหวของร่างกายอยู่เสมอ จะหนักหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับอาชีพนั้นๆ เช่นกรรมกร ที่ต้องแบกหามของหนักอยู่ตลอดเวลา หรืออาชีพนักกีฬาที่ต้องวิ่งเป็นระยะหลายกิโลเมตรในแต่ละวัน เป็นต้น บุคคลที่ทำอาชีพเหล่านี้ย่อมเผาผลาญแคลอรีได้เยอะกว่าบุคคลที่นั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน จึงมีโอกาสที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนได้

4. มีนิสัยการกินเพื่อสุขภาพ

ใช่แล้ว เพราะวิธีที่เรากินยังเป็นตัวกำหนดปริมาณที่เรากินอีกด้วย เช่น หากกินอาหารช้าลง และเคี้ยวมากขึ้น ก็จะทำให้สมองจะมีเวลามากขึ้นในการส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าเราอิ่มแล้วนั่นเอง และยังรวมถึงอาหารที่เน้นกินเพื่อสุขภาพ เช่น กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ อย่างผักชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์ไร้หนัง ไม่กินอาหารที่เต็มไปด้วยแป้ง และน้ำตาล เป็นต้น วิถีการเลือกกินแบบนี้ก็มีส่วนทำให้เราไม่อ้วนได้

5. โชคดีเกิดมาพร้อมกับยีนส์คนผอม

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน PLOS Genetics ชี้ชัดว่า ชนิดของยีนส์มีผลต่อการรักษาหุ่น โดยผลการวิจัยจาก DNA ตัวอย่างกว่า 10,000 ราย รวมถึงสำรวจไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนอย่างใกล้ชิด ผลปรากฏว่าคนที่เป็นโรคอ้วนมักจะมียีนส์ที่เชื่อมโยงกับการทำให้อ้วน ขณะที่คนผอมจะมียีนส์ชนิดนี้น้อย แล้วยังมียีนส์ที่ส่งเสริมให้ผอมอีกด้วย

6. มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้

ลำไส้และระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนที่ใช้ลำเลียงอาหาร ย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร ไปจนถึงการขับถ่าย และอีกหลายหน้าที่ หากระบบทางเดินอาหารและลำไส้เกิดความผิดปกติก็อาจส่งผลต่อจัดการกับอาหารและสารอาหารที่จะนำไปเป็นพลังงานของร่างกาย จึงไม่แปลกถ้าใครเป็นเกี่ยวกับลำไส้แล้วจะพบปัญหากินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนหรือปัญหาการเพิ่มน้ำหนัก โดยปัญหาลำไส้ที่อาจส่งผลต่อน้ำหนักตัว เช่น โรคพยาธิในลำไส้ โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคลำไส้อักเสบ ภาวะไม่ทนทานต่อแล็กโทส (Lactose Intolerance) โรคแพ้กลูเตน และโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) เป็นต้น หากพบปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนัก น้ำหนักลดผิดปกติ ท้องเสียบ่อย ท้องผูกบ่อย อาหารไม่ย่อย อุจจาระมีกลิ่น มีสี หรือมีลักษณะที่เปลี่ยนไป ควรปรึกษาแพทย์

7. ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมฮอร์โมนไทร็อกซิน (Thyroxine) ที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ ซึ่งโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานหนักและหลั่งฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ จนทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนักตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจประสบกับปัญหากินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน น้ำหนักขึ้นยาก หรือน้ำหนักตัวลดโดยไม่มีสาเหตุ

8. เป็นโรคเรื้อรัง

โรคเรื้อรังหลายโรคสามารถส่งผลให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมจนอาจเป็นเหตุให้น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน หรือประสบปัญหาการเพิ่มน้ำหนักได้ เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อเอชไอวี โรควัณโรค และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น โดยโรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการอื่นนอกจากปัญหาเรื่องน้ำหนักได้เหมือนกัน หากพบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ ควรเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม

นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว อาจมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดปัญหากินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนได้ หากประสบกับปัญหาดังกล่าวจนส่งผลต่อชีวิตประจำวันหรือรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการแก้ไขได้

สุขภาพดีจริงหรือไม่ เมื่อกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน!!

แพทย์ชี้กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ไม่ใช่เรื่องดี แต่อาจเสี่ยงเป็นโรคได้

แพทย์หญิงนพวรรณ กิติวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายเรื่องการกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน หรือกินเยอะแต่ผอมว่าอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพได้ดังต่อไปนี้

1.  มีพยาธิแย่งอาหารในร่างกาย

สำหรับใครที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน อาจเคยโดนทักว่า “กินเท่าไรก็ไม่อ้วน พยาธิเยอะแน่ ๆ” เนื่องจากพยาธิจะคอยแย่งอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย แต่ในกรณีนี้ ร่างกายจะต้องมีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องเสียเรื้อรังจนน้ำหนักลด เป็นต้น หลายคนที่มีภาวะผอมเกินกว่าเกณฑ์ไปซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเอง แต่ก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น นั่นก็เพราะร่างกายไม่ได้มีพยาธิ หรือมีน้อยมากนั่นเอง

2. ภูมิต้านทานต่ำ

ร่างกายเรานั้น จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยต้านทาน กำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย หากเรามีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ จนกระทบกับน้ำหนักตัว เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกายเลย ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัส โลหิตจาง ขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น ฉะนั้นหากคุณเป็นคนที่ผอมต่ำกว่าเกณฑ์ ลองเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ก็อาจจะช่วยให้กลับมามีน้ำมีนวล ไม่ผอมจนเกินไปได้

3. เบาหวาน

แม้ว่าเราจะไม่ได้อ้วน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้มาจากปัญหาด้านอินซูลินในร่างกายที่มีน้อยกว่ามาตรฐาน เป็นผลให้น้ำตาลในร่างกายมีปริมาณมาก จนก่อเกิดโรคเบาหวานในที่สุด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีร่างกายเริ่มซูบผอม และไม่มีแรง เมื่อมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

4. ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์นั้นมีทั้งชนิดอ้วน และชนิดผอม ไทรอยด์ชนิดผอมนั้นเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง จึงมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ และมักมีอาการเหล่านี้ ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น เหนื่อยง่าย ประจำเดือนน้อยลง เป็นต้น หากคุณกำลังมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้าพบแพทย์

5. วัณโรค

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่อันตราย แต่สามารถรักษาให้หายได้ เกิดจากได้รับเชื้อจากละอองเสมหะของคนที่เป็นโรค อาการของโรควัณโรคมีมากมาย เช่น ไข้เรื้อรัง, ผอมลง, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, ไอ, เสมหะ, หอบเหนื่อย, เจ็บหน้าอก เป็นต้น หากใครที่มีอาการผอมซูบมาก ผมร่วง สิวขึ้น อาจสงสัยได้ว่าเป็นวัณโรคปอด ควรเข้าพบแพทย์

6. มะเร็ง

มะเร็งเป็นอีกโรคที่ทำให้ผู้ป่วยผอมลงได้อย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้จะกินอาหารมากแล้วก็ตามที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ เป็นต้น สาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ความเครียด หรือผลข้างเคียงจากการรักษา

7. โรคเอดส์

โรคเอดส์ คือกลุ่มอาการของความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ หรือเอชไอวี ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง สำหรับคนที่ป่วยโรคเอดส์ระยะที่สาม (ระยะสุดท้าย) จะมีน้ำหนักลดลง ผอมลง แบบแห้งทั้งตัว เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกได้เลยทีเดียว

คำแนะนำการแก้ปัญหากินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนด้วยการเพิ่มน้ำหนักตัวอย่างถูกต้อง

สำหรับคนที่กำลังมองหาวิธีเพิ่มและรักษาน้ำหนักตัว แนะนำให้ตั้งเป้าหมายของน้ำหนักตัวที่ต้องการ โดยขั้นแรกควรหาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับ อายุ ส่วนสูง และเพศของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่สามารถคำนวณน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และพลังงานที่ควรได้รับต่อวันของแต่ละคนได้ การทราบข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้วางแผนการเพิ่มน้ำหนักได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทราบน้ำหนักเป้าหมายและพลังงานต่อวันก็ควรพยายามกินอาหารให้มากขึ้นหรือกินอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าพลังงานที่ควรได้รับต่อวันเพื่อเพิ่มน้ำหนัก และหมั่นจดบันทึกพัฒนาการของน้ำหนักตัว

คำแนะนำถัดมาคือ กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยวางแผนเรื่องประเภทของอาหารที่กินให้ดี เลือกอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ อย่างในกลุ่มของเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ลอกหนัง ไขมันดีจากพืชตระกูลถั่วและไขมันดีจากปลา รวมทั้งผักผลไม้ แม้ว่าผักผลไม้จะให้พลังงานน้อย แต่สารอาหารในผักผลไม้จำเป็นต่อการทำงานของระบบร่างกาย ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มน้ำหนักได้อย่างสุขภาพดี และควรเพิ่มมื้ออาหาร หรืออาหารว่าง อาจเพิ่มอาหารในช่วงสาย ช่วงบ่าย และก่อนนอนเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย การเพิ่มอาหารในมื้อว่างอาจช่วยให้ไม่ต้องกินอาหารในมื้อหลักมากเกิน แต่ก็ควรจัดสรรพลังงานในแต่ละมื้อไม่ให้ต่ำเกินไปด้วย

สุดท้ายคือแนะนำให้สร้างมวลกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มขึ้นส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยมวลกล้ามเนื้อสามารถสร้างได้ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อผ่านการออกกำลังกายที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อ อย่างบอดี้เวท (Bodyweight Training) และการยกน้ำหนัก โดยการกินอาหารประเภทโปรตีนเพิ่มขึ้นจะช่วยเร่งการสร้างมวลกล้ามเนื้อจึงอาจช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังสามารถกระตุ้นความอยากอาหารจึงอาจช่วยให้กินอาหารได้มากขึ้นด้วย 

 

logoline